share line share line

ประวัติความเป็นมา

วัดพระแก้ว เป็นวัดที่เก่าแก่และมีความสำคัญวัดหนึ่ง  สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน เดิมมีชื่อว่า  “ญรุกขวนาราม” ซึ่งแปลว่า “วัดป่าญะ” หรือ “วัดป่าเยี๊ยะ” สร้างมาก่อน พ.ศ. ๑๙๗๗ ขึ้นไป บริเวณวัดนี้จะมีไม้ไผ่ชนิดหนึ่งชื่อไม้ญะ คล้ายไม้ไผ่สีสุก แต่ไม่มีหนาม คงจะมีมากในบริเวณนี้ ชาวบ้านสมัยก่อนนิยมนำไปใช้ทำคันธนูและหน้าไม้ จึงได้ตั้งชื่อตามลักษณะภูมิประเทศว่า “วัดป่าญะ” หรือ “วัดป่าเยี๊ยะ”

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๑๙๗๗  พระเจดีย์วัดป่ายะถูกอสนีบาต (ฟ้าผ่า) พังทลายลง เจ้าอาวาสและพุทธศาสนิกชนชาวเชียงรายได้พบพระพุทธรูปองค์หนึ่ง  ครั้งแรกเข้าใจว่า เป็นพระพุทธรูปปูนธรรมดา จึงได้อัญเชิญไปประดิษฐานในพระวิหาร ต่อมาปูนที่พอกองค์พระไว้กะเทาะออก ทำให้เห็นเป็นแก้วสีเขียวงดงามยิ่ง  จึงได้กะเทาะออกหมดทั้งองค์ ปรากฏเป็นพระพุทธรูปแก้วเขียวเป็นแท่งทึบ ต่อมาได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปไว้ที่จังหวัดลำปาง เชียงใหม่ กรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทร์) จนกระทั่งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช รัชกาลที่ ๑) ได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงธนบุรีและกรุงเทพมหานครตามลำดับ

 

ตำนานพระแก้วมรกต
ตามตำนานโบราณ  (พระภิกษุพรหมราชปัญญา) แต่งเป็นภาษาบาลีไว้  เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๒ ชื่อหนังสือรัตนพิมพวงศ์ พระแก้วมรกตองค์นี้ พระนาคเสนเถระ เป็นผู้สร้างด้วยแก้วอมรโกฎที่เทวดานำมาจากพระอินทร์มาถวาย ที่เมืองปาฎลีบุตร ปัจจุบันคือเมืองปัตนะ รัฐพิหาร อินเดีย) ต่อมาได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานยังที่ต่างๆ ดังนี้
๑. เกาะลังกา
๒. กัมพูชา
๓. อินทปัฐ (นครวัด)
๔. กรุงศรีอยุธยา
๕. ละโว้ (ลพบุรี)
๖. วชิรปราการ (กำแพงเพชร)
๗. เชียงราย (พ.ศ. ๑๙๓๔–๑๙๗๙ ประดิษฐาน  ๔๕  ปี)
๘. ลำปาง (พ.ศ. ๑๙๗๙–๒๐๑๑ ประดิษฐาน  ๓๒  ปี)
๙. เชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๐๑๑–๒๐๙๖ ประดิษฐาน  ๘๕  ปี)
๑๐. เวียงจันทร์ (พ.ศ. ๒๐๙๖–๒๓๒๑ ประดิษฐาน ๒๒๕ ปี)
๑๑. กรุงเทพมหานคร (พ..ศ. ๒๓๒๑–ปัจจุบัน)
ปัจจุบันประดิษฐานไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง โดยถวายพระนามว่า
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร