share line share line

วัดพนัญเชิงวรวิหาร

ที่ตั้ง : 2 หมู่ที่ 12 ตำบลกะมัง อำเภอพระนครศรีอยุธยา พระนครศรีอยุธยา 13000

ประวัติความเป็นมา

          วัดพนัญเชิงวรวิหาร สร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา 26 ปีดังข้อความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ความว่า “จุลศักราช 686 ชวดศก (พ.ศ.1867) แรกสถาปนาพระพุทธเจ้า เจ้าพแนงเชิง” คำว่า พระเจ้าพแนงเชิง หรือ พนัญเชิง แปลว่า นั่งขัดสมาธิดังนั้น พระเจ้าพแนงเชิง จึงหมายถึงพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ คนไทยทั่วไปเรียก “หลวงพ่อโต” หรือหลวงพ่อพนัญเชิง

          ในปีพ.ศ.2349 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์หลวงพ่อโตใหม่หมดทั้งองค์และพระราชทาน นามใหม่ว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก” และโปรดเกล้าฯ ให้ออก พระราชกฤษฎีกาให้เรียกนามวัดว่า วัดพนัญเชิง เช่นในอดีต

สถานที่สำคัญและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด

          วัดพนัญเชิง มีศาสนวัตถุและศาสนสถานสำคัญที่ประชาชน ให้ความเคารพศรัทธา เดินทางมาสักการะบูชาและเยี่ยมชม คือ

          พระพุทธไตรรัตนนายก ศิลปะอยุธยาตอนต้น แบบอู่ทอง รุ่น 2 อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ประดิษฐานภายในพระวิหารหลวง

          พระอุโบสถ ตั้งอยู่ด้านหน้าวิหารหลวงทางด้านทิศใต้ ภายในพระอุโบสถบนฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ศิลปะอยุธยา เบื้องขวาพระประธาน เป็นพระพุทธรูป ทองคำปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย และเบื้องซ้าย พระประธานเป็นพระพุทธรูปนาก ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย

          ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำป่าสัก เป็นอาคาร 2 ชั้นทรงตึกแบบจีน เพื่อถวายเป็นที่สถิตของพระนาง สร้อยดอกหมาก ชาวจีนเรียกศาลนี้ว่า “ศาลเจ้าแม่อาเนี้ย”