share line share line

วัดพุทไธศวรรย์

ที่ตั้ง : 15 หมู่ที่ 8 ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000

ประวัติความเป็นมา

          วัดพุทไธศวรรย์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกไว้ว่า ทรงพระกรุณาตรัสว่า ที่ตำหนักเวียงเหล็กนั้น ให้สถาปนาพระวิหารและพระบรมธาตุเป็นพระอารามแล้วให้นามชื่อว่า “วัดพุทไธศวรรย์” บริเวณที่ประทับเดิมของสมเด็จ พระรามาบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ก่อนที่จะย้ายข้ามฟากแม่น้ำไปสร้างพระราชวังที่บริเวณหนองโสน

          ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทัพพระเจ้าอังวะ ใช้วัดพุทไธศวรรย์เป็นที่ตั้งทัพ ในคราวล้อมกรุงศรีอยุธยาในรัชกาล สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (สมเด็จพระเจ้าเสือ) สมเด็จกรมหลวง โยธาเทพ และสมเด็จกรมหลวงโยธาทิพ ได้ทูลลาสมเด็จพระเจ้าเสือ ออกจากพระราชวังไปตั้งนิวาสสถานอยู่ใกล้วัดพุทไธศวรรย์ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ ได้ทิวงคตลง ณ ตำหนักริมวัดพุทไธศวรรย์ พระองค์ได้ทรงโปรด ให้ทำการสร้างพระเมรุณ วัดพุทไธศวรรย์

          ใน พ.ศ. 2293 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงมี พระบรมราชโองการให้นำคณะทูตชาวสิงหลไปนมัสการและ ประกอบศาสนกิจที่วัดพุทไธศวรรย์

        ในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯโปรดให้อัญเชิญ เทวรูปพระเจ้าอู่ทองลงมากรุงเทพฯ ในปีพ.ศ. 2327 จากนั้น ทรงโปรดให้หล่อใหม่เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องหุ้มเงิน และโปรดให้ ประดิษฐานไว้ ณ หอพระเทพบิดรภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนเทวรูปพระเจ้าอู่ทองที่ประดิษฐาน ณ วัดพุทไธศวรรย์ในปัจจุบัน เป็นองค์ที่หล่อขึ้นใหม่แทนของเดิม โดยหล่อเป็นพระพุทธรูป ทรงเครื่องน้อย ประทับยืนอยู่ภายใน ซุ้มจระนำบริเวณผนังด้าน ทิศเหนือของมุขด้านทิศตะวันออกของพระปรางค์ประธาน

          ปัจจุบันวัดพุทไธศวรรย์ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระอาราม หลวงชั้นตรีชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2549 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

สถานที่สำคัญและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด

          วัดพุทไธศวรรค์ มีศาสนวัตถุและโบราณสถานสำคัญที่ ประชาชนให้ความเคารพศรัทธา เดินทางมาสักการะบูชาและ เยี่ยมชม คือ

          พระปรางค์ประธาน สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) มีมณฑปตั้งอยู่บนฐานไพทีด้านเหนือและ ด้านใต้ด้านละ 1 หลัง ล้อมรอบด้วยระเบียงคด องค์พระปรางค์ ก่ออิฐถือปูน เรือนธาตุด้านเหนือและใต้ก่อเป็นซุ้มจระนำประดิษฐาน พระพุทธรูปประทับยืน ส่วนเรือนธาตุด้านตะวันออกทำเป็นซุ้มทิศ มีบันไดขึ้นลงจากพื้นด้านล่าง ด้านในซุ้มมีพระปรางค์ทรงเครื่อง ขนาดเล็ก สันนิษฐานว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุด้านนอก ของซุ้มทางด้านเหนือประดิษฐานพระรูปรูปพระเจ้าอู่ทอง มีพระ ระเบียงคดล้อมรอบพระปรางค์ประธาน พระระเบียงคดมีประตู เข้าออกทางด้านตะวันออก 2 ประตูและทางด้านตะวันตก 2 ประตู รอบๆ พระระเบียงคดประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยโดยรอบ ทุกปีในช่วงวันเพ็ญกลางเดือน 6จังหวัดพระนครศรีอยุธยากำหนด จัดงานประเพณีห่มผ้าพระปรางค์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

          ตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ตัวตำหนักเป็นตึกสองชั้น ชั้นล่างทำหน้าต่างเป็นโค้งยอดแหลม ชั้นบนเป็นหน้าต่างเหลี่ยม ภายในพระตำหนักชั้นบนภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับเรื่องไตรภูมิและภาพสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ไปนมัสการพระพุทธบาท ที่ลังกาทวีป ภาพเขียนส่วนใหญ่อยู่ในสภาพลบเลือน