share line share line

มัสยิดบางหลวง

ที่ตั้ง : 151 ถนน อรุณอมรินทร์ แขวง วัดกัลยา เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600

ประวัติความเป็นมา

          หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ทําให้ชาว มุสลิมเชื้อสายมลายูที่เรียกว่า แขกตานี อพยพลงมาอาศัย อยู่บริเวณแพสองฝั่งคลองบางกอกใหญ่ ต่อมาประชากร มีจํานวนเพิ่มมากขึ้น จึงได้ย้ายขึ้นบนบกสร้างที่อยู่อาศัย ฝั่งตรงข้ามวัดหงส์รัตนารามยาวตลอดไปถึงคลองวัดดอกไม้ หรือคลองบุปผาราม และขยายเป็นชุมชนมัสยิดบางหลวงใน เวลาต่อมา ชุมชนนี้สร้างมัสยิดขึ้น สันนิษฐานว่าสร้างในสมัย รัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2325) โดยพ่อค้ามุสลิมชื่อโต๊ะหยี และ ให้ชื่อว่า “มัสยิดบางหลวง” เนื่องจากตัวอาคารมัสยิดทา ด้วยสีขาว ชาวบ้านจึงเรียกว่า “กุฎีขาว” (คําว่า กุฎี นํามา ใช้เรียกศาสนสถานของมุสลิมมาแต่สมัยอยุธยา แต่เมื่อได้มี การประกาศใช้พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พุทธศักราช 2490 ได้เปลี่ยนคําเรียกเป็นมัสยิด)

          มัสยิดแห่งนี้ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีความ โดดเด่นด้วยเป็นมัสยิดก่ออิฐถือปูนทรงไทย เนื่องจากมัสยิด ในระยะแรกส่วนใหญ่จะใช้รูปแบบของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ในการสร้าง เพราะรูปแบบมัสยิดในดินแดนอาหรับไม่ สอดคล้องกับเงื่อนไขในท้องถิ่น ประกอบกับข้อจํากัดด้านวัสดุ โครงสร้างและกรรมวิธีการก่อสร้าง อย่างไรก็ตามมัสยิดแห่งนี้ ผู้สร้างได้บรรจุหลักการสําคัญของศาสนาอิสลามไว้คือ มิมบัร มิห์รอบ โครงสร้างภายในเป็นพื้นราบ สะอาด ปราศจากรูป เคารพมีเสาค้ำยันพาไล จํานวน 30 ต้น เท่ากับบทบัญญัติใน คัมภีร์อัลกุรอานที่มี 30 บท และห้องละหมาดมี 12 หน้าต่าง 1 ประตู รวม 13 ช่อง เท่ากับจํานวนรุกุ่น หรือกฎละหมาด 13 ข้อ 30

          ต่อมามิมบัรเก่าในมัสยิดชํารุดเจ้าสัวพุกพ่อค้าจีนมุสลิม (ต้นตระกูล พุกภิญโญ) ได้ก่อสร้างมิมบัรและมิห์รอบขึ้นใหม่เป็น ซุ้มทรงวิมาน ก่ออิฐถือปูนปิดทองผสมผสานด้วยลวดลายปูนปั้นของศิลปะ 3 ชาติ ประกอบด้วยฐานเสาเป็นปูนปั้นลวดลายไทย เกี่ยวกระหวัดด้วยกิ่งใบฝรั่งเทศและดอกเมาตาลของจีน ตลอดตัวเสาประดับกระจกสีลายไทยเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายรักร้อย และลายแก้วชิงดวงส่วนด้านบนเป็นซุ้มวิมาน 3 ยอด สอดแทรกด้วยลวดลายก้านใบฝรั่งเทศและดอกเมาตาลของ จีน เต็มทั้ง3 ยอด ตลอดทั้งซุ้มประดับด้วยกระจกสี พร้อมกับได้แกะสลักแผ่นไม้เป็นอักษรอาหรับนูนลอย เป็นชื่อ อัลลอฮ์ นบีมุฮัมมัด ศาสดาของศาสนา บทอัลกุรอานที่สําคัญ ติดตั้งไว้ภายในซุ้ม ที่ผนังมัสยิดมีชามติดอยู่ และมีคําว่าอัลลอฮ์ มุฮัมมัด นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่อายุ 300 ปี โคมไฟพระราชทาน ซึ่งเป็นเครื่องสังเค็ดในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. 129 (พุทธศักราช 2453)

          มัสยิดบางหลวง สะท้อนความเป็นมาของมัสยิด ภูมิปัญญาและความสามารถของช่างในชุมชนแห่งนี้เป็นอย่างดี มัสยิดแห่งนี้ได้รับพระราชทาน “รางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจําปี 2554 ประเภทปูชนียสถานและวัดวา อาราม” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ลักษณะสถาปัตยกรรม

          มัสยิดมีผังเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทรงไทยก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง มีหลังคาพาไลยื่นออกมาข้างหน้า ด้านอื่นเป็นหลังคา ปีกนก มีเสารองรับหลังคา บันไดทางขึ้นอยู่ทางทิศเหนือและใต้ของพาไลด้านหน้า หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้องว่าวสีเขียว หน้าบันหน้า - หลังประดับด้วยปูนปั้นลายศิลปะ 3 ชาติ คือ กรอบหน้าบัน เป็นเครื่องลํายอง ประดับห้ามลายไว้บนยอด เป็นศิลปะไทยหน้าบัน เป็นปูนปั้นลายก้านแย่งใบฝรั่งเทศ เป็นศิลปะตะวันตก และดอกไม้เป็นดอกเมาตาล ศิลปะจีน ลาย ศิลปะ 3 ชาตินี้ ได้นํามาประดับที่กรอบประตูและหน้าต่างทุกบานของมัสยิด ในส่วนตัวอาคารที่เป็นปูน ทาสีขาวทั้งหมด ส่วนที่เป็นไม้ทาสีเขียว