share line share line

วัดภูเขาทอง

ที่ตั้ง : 153 หมู่ที่ 2  ตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000

ประวัติความเป็นมา

          วัดภูเขาทอง พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับ พระราชหัตถเลขา ระบุว่า “ศักราช 749 เถาะ นพศก (พ.ศ.1930) สถาปนาวัดภูเขาทอง” ซึ่งตรงกับรัชกาลสมเด็จ พระราเมศวร

          ในปีพ.ศ.2091 พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ยกทัพมาตีกรุงศรี อยุธยา ทำให้พระมหานาควัดภูเขาทองสึกออกมารับอาสาตั้งค่าย กันทัพเรือโดยรวบรวมญาติโยมทาสชายหญิงของมหานาคช่วยกัน ขุดคูนอกค่ายกันทัพเรือของพม่า เรียกคลองนี้ว่า “คลองมหานาค”

          ครั้นในปีพ.ศ. 2112 พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพ เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาจึงโปรดสร้างพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งที่ตำบล ทุ่งภูเขาทอง ขนานนามพระเจดีย์นั้นว่า “เจดีย์ภูเขาทอง”

          ในปีพ.ศ. 2288 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดฯให้ บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์และพระอารามทั้งหมดทรงโปรดฯ ให้เปลี่ยนทรงเจดีย์จากเดิมเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ดังที่ ปรากฏในปัจจุบัน

          เมื่อปลายปีพ.ศ.2499 ทางราชการได้บูรณะองค์พระเจดีย์ ให้อยู่ในสภาพเดิม โดยต่อเติมปล้องไฉน ปลียอดและลูกแก้ว โดยเฉพาะลูกแก้ว ทำด้วยทองคำหนัก 2,500 กรัม สันนิษฐานว่า หมายถึงการบูรณะขึ้นในคราวฉลอง 25 พุทธศตวรรษ วัดภูเขาทองได้รับการบูรณะมาอย่างต่อเนื่อง

          ในปีพ.ศ. 2544 กรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมกับกรมศิลปากรจัดสร้าง พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประดิษฐาน บริเวณลานหน้าเจดีย์วัดภูเขาทอง เพื่อให้ประชาชนได้รำลึกถึง พระราชกรณียกิจที่ทรงกอบกู้เอกราชให้บ้านเมือง

สถานที่สำคัญและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด

          วัดภูเขาทอง มีศาสนวัตถุและศาสนสถานสำคัญที่ประชาชน ให้ความเคารพศรัทธา เดินทางมาสักการะบูชาและเยี่ยมชม คือ

          เจดีย์ภูเขาทอง เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองสูงประมาณ 90 เมตร ประกอบด้วย ลานประทักษิณ 4 ชั้น เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานทักษิณแต่ละชั้นยกเว้นชั้นที่ 1 มีผนังย่อเหลี่ยมมีหัวเม็ดประดับ ตั้งบนฐานบัวคว่ำ สลับหน้ากระดานเป็นชั้นๆ ตรงกลางทั้ง 4 ทิศ มีบันไดขึ้นไปจนถึงลานประทักษิณชั้นที่ 4 มีบันไดทิศตะวันตก เฉียงใต้ทางเดียวเท่านั้นที่เริ่มจากพื้นดินขึ้นไปสู่องค์เจดีย์ตรงกลาง ฐานประทักษิณชั้นที่ 4 เป็นอุโมงค์รูปโค้งเข้าไปข้างในองค์เจดีย์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป 1 องค์ฐานขององค์เจดีย์เป็นฐาน 9 เหลี่ยม พ้นหน้ากระดานขึ้นไปมีฐานสิงห์รอบรับเป็นชั้นๆ 3 ชั้น ตรงกลางทั้ง 4 ทิศมีซุ้มจระนำเรือนแก้ว หน้าบันประดับครุฑและ ลายพันธ์พฤกษา ภายในซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืน องค์ระฆัง ของเจดีย์เป็นเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ไปจนถึงบัลลังก์ มีปล้องไฉน ปลียอดและลูกแก้ว

          พระอุโบสถ เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 11 เมตร ยาว 40 เมตร หลังคาลดชั้น ภายในพระอุโบสถแบ่งเป็น 3 ตอน โดยมีประตูทางเข้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ด้านละ 1 บาน เมื่อผ่านกำแพงแก้วชั้นนอกด้านทิศตะวันออก เฉียงเหนือเข้าไปมีผนังกั้นที่เสาซุ้มประตูตอนบนเป็นลายเฟื่องไทย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ปางสมาธิหินทรายหุ้มปูน ศิลปะ อยุธยา บนฐานชุกชีเดียวกันยังประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ ที่มีผู้ศรัทธามาถวายตั้งอยู่รอบพระประธาน ตอนที่ 2 ของพระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูป 3 องค์ศิลปะสุโขทัย รวมทั้งประดิษฐาน รอยพระพุทธบาทจำลอง ตอนในของพระอุโบสถประดิษฐาน พระประธาน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “หลวงพ่อเชียงแสน”