share line share line

ประวัติวัดแสนสุข แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
                วัดแสนสุขนั้น เดิมเป็นวัดโบราณสันนิษฐานว่า สร้างในสมัยกรุงธนบุรี ประมาณพุทธศักราช ๒๓๑๕ ไม่ทราบนามเดิมและประวัติผู้สร้างแต่อย่างใด เข้าใจว่าชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดประจำทุ่งแสนแสบ แล้วขนานนามว่า “วัดแสนแสบ” ตามท้องที่ที่ตั้งของวัด
                เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมท้องที่ อำเภอคลองสามวา อำเภอแสนแสบ อำเภอเจียรดับ และอำเภอหนองจอก รวม ๔ อำเภอ ตั้งเป็นเมืองขนานนามว่า “เมืองมีนบุรี” ซึ่งหมายถึงเมืองปลา เพื่อคู่กับ “เมืองธัญญบุรี” แปลว่าเมืองข้าว และทรงโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าสง่างาม  สุประดิษฐ์ เป็นข้าหลวงรักษาราชการเมือง ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) วัดแสนแสบซึ่งเป็นวัดประจำท้องทุ่งแสนแสบอยู่แล้ว อีกทั้งวัดตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองมีนบุรีไม่ไกลนัก จึงมีฐานะเป็นวัดประจำจังหวัดมีนบุรี
                เมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ จากการสันนิษฐานตามหลักฐานทางวัตถุภายในวัด น่าจะมีการสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่จากหลังเดิม ซึ่งสังเกตจากอักษรที่สังฆาฏิพระประธานในอุโบสถว่า สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยพระครูมีนนครธรรมภาณ (ปั่น) เป็นเจ้าอาวาสและเป็นเจ้าคณะจังหวัดมีนบุรี ซึ่งก่อนหน้านี้คงจะมีอุโบสถอยู่แล้ว โดยสันนิษฐานจากหลวงพ่อดำพระประธานองค์เก่าแก่คู่กับวัดแสนแสบ เพราะเป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบสุโขทัย ปางสมาธิ ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐

                ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๗๒ พระใบฎีกาหงส์ เจ้าอาวาสวัดแสนแสบ เจ้าคณะแขวงหนองจอก รักษาการเจ้าคณะจังหวัด  มีนบุรี ได้รับการแต่งตั้งเป็น “พระครูมีนนครธรรมภาร สังฆวาหะ” เจ้าคณะจังหวัดมีนบุรี นับว่าเป็นเจ้าอาวาสวัดแสนแสบอีกรูปหนึ่งที่ได้รับแต่งตั้งเป็น “เจ้าคณะจังหวัดมีนบุรี”
                ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๔ ทางราชการได้ยุบจังหวัดมีนบุรี เป็นอำเภอมีนบุรี มีการปกครองขึ้นกับจังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) และในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ พระครูมีนนครธรรมภาณ (หงส์) ได้รับพระกรุณาโปรดให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะแขวงหนองจอก (อำเภอหนองจอก) จังหวัดฉะเชิงเทรา และได้ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งที่วัดหนองจอก
                ครั้นต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๙๐ เป็นยุคที่พระครูมีนธรรมภาณ (ฉุย) เป็นเจ้าอาวาส ได้เปลี่ยนนามวัดใหม่เป็น “วัดแสนสุข” และได้เริ่มก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่จากหลังเดิมขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ (เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร

                พ.ศ. ๒๕๑๔ นายสำราญ พ่วงชูศักดิ์ ได้ถวายที่ดินใน หมู่ที่ ๑๙ แขวงทรายกองดิน (มีนบุรี) เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ให้แก่วัดแสนสุข จำนวน ๒ แปลง รวมเป็นเนื้อที่ ๒๑ ไร่ ๑ งาน ๙๘ ตารางวา (โฉนดที่ ๒๒๕๕, ๒๒๕๗) เพื่อเป็นที่ธรณีสงฆ์
                พ.ศ. ๒๕๑๖ วัดแสนสุข ได้รับเลือกเป็นวัดพัฒนา ตามโครงการพัฒนาวัดทั่วราชอาณาจักร ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ

วัดแสนสุขในปัจจุบัน

                วัดแสนสุข เป็นวัดคู่เมืองมีนบุรีมาตั้งแต่ในอดีต เป็นที่ตั้งโรงเรียนประจำเมืองมีนบุรี และยังเป็นสำนักเรียนบาลีแห่งแรกในเขตมีนบุรี
                ปัจจุบัน วัดแสนสุข ตั้งอยู่เลขที่ ๒๑๔ หมู่ที่ ๒ ถนนสุวินทวงศ์ แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรีกรุงเทพมหานคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินที่ตั้งวัด ประมาณ ๑๖ ไร่ ๑ งาน ๑๔ ตารางวา มีอุโบสถ (หลังใหม่) กว้าง ๑๓ เมตร ยาว ๒๖.๕๐ เมตร พระประธานประจำอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก กว้าง ๕๓ นิ้ว สูง ๘๓ นิ้ว สร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๐ ภายในอุโบสถมีภาพเขียนสีน้ำมันพุทธประวัติสวยงามเป็นตอนตามลำดับ
พื้นที่และอาณาเขตของวัดโดยรอบ
                ทิศตะวันออก ยาวประมาณ ๗๔.๕ วา ติดกับที่ดินของเอกชน และทางหลวงสายสุวินทวงศ์-ฉะเชิงเทรา (๓๐๔)
                ทิศใต้ ยาวประมาณ ๑๒๒.๕ วา ติดกับลำคลองแสนแสบตลอดแนว
                ทิศตะวันตก ยาวประมาณ ๗๘.๕ วา ติดกับที่ดินของเอกชน
                ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (วัดตามแนวฉาก) ยาวประมาณ ๘๘.๕ วา ติดกับถนนราชทัณฑ์อุทิศเชื่อมถนนสีหบุรานุกิจ-ร่มเกล้า และถนนสุวินทวงศ์ (ซอย ๑๖)
                ทิศเหนือ ยาวประมาณ ๖๕ วา ติดกับที่ดินของเอกชน และทางหลวงสายสุวินทวงศ์-รามอินทรา (๓๐๔)

แหล่งข้อมูล : https://www.sspali.net/