share line share line

หอพระอิศวร/หอพระนารายณ์

ที่ตั้ง : 1186 ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช นครศรีธรรมราช 80000

ประวัติความเป็นมา สถานที่สำคัญและสิ่งศักดิ์สิทธิ์

          หอพระอิศวร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา แต่ของ เดิมชำรุดไปหมดแล้ว อาคารที่ปรากฏทุกวันนี้เป็นอาคารที่กรม ศิลปากรบูรณะขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2509 ทางด้านเหนือของ หอพระอิศวรเป็นวัดเสมาเมือง ทางด้านใต้เป็นเสาชิงช้า ซึ่งสร้าง ขึ้นใหม่แทนของเก่าที่ใช้ในพิธียัมปวายและตรีปวายของพราหมณ์ เมืองนครศรีธรรมราชโดยจำลองแบบมาจากเสาชิงช้าในกรุงเทพฯ แต่มีขนาดเล็กกว่าและเพิ่งเลิกไปเมื่อ พ.ศ. 2468 เดิมหอพระอิศวร เป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระอิศวรหลายองค์ เป็นปางหรือภาค ต่างๆ กัน ซึ่งเป็นเทพสูงสุดตามความเชื่อของพราหณ์ลัทธิไศวนิกาย แต่เดิมใกล้ๆกับเสาชิงช้า มีโบสถ์พราหมณ์อยู่หลังหนึ่งแต่ปัจจุบัน ผุพังลงจนไม่เหลือซากแล้ว ภายในบริเวณโบสถ์เป็นแหล่งที่พบ ชิ้นส่วนเทวรูปที่หล่อด้วยสำริดอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่18 - 25 หลายองค์ด้วยกัน อาทิพระพิฆเนศวร พระศิวะนาฏราช พระอุมา และรูปหงส์ นับว่าเก่าแก่มีค่ายิ่งนักซึ่งต่อมาได้ย้ายมาไว้ใน หอพระอิศวรชั่วคราว และจากนั้นทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เกรงว่าจะสูญหายไป จึงได้ย้ายมาเก็บรักษาไว้ในห้องจัดแสดงของ ทางพิพิธภัณฑ์โดยหล่อรูปจำลองไว้แทนที่ในหอพระอิศวร

          หอพระนารายณ์ ตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับหอพระอิศวร คนละฟากของถนนราชดำเนินในอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเทวสถานของพรามณ์ลัทธิไวษณพนิกายซึ่งนับถือพระนารายณ์ เป็นเทพสูงสุด สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและ ประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ เป็นโบราณสถานในศาสนา พราหมณ์อีกแห่งหนึ่งสิ่งสำคัญที่พบภายในหอพระนารายณ์ ได้แก่ เทวรูปพระนารายณ์สลักจากหินทรายสีเทาทรงมาลารูปกระบอก ปลายสอบและพระหัตถ์ขวาทรงสังข์ซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช โบราณวัตถุที่ตั้งอยู่ใน หอพระนารายณ์ขณะนี้คือ เทวรูปพระนารายณ์จำลองจากองค์จริง ที่พบในแหล่งโบราณสถานคดีแถบอำเภอสิชล