share line share line

วิหารพระมงคลบพิตร

ที่ตั้ง : ถนนนเรศวร ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000

ประวัติความเป็นมา

          วิหารพระมงคลบพิตร สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูป ที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชโปรดให้สร้างขึ้น ณ วัดชีเชียง ต่อมา ในปีพ.ศ.2146 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดให้ชะลอจาก ทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก และโปรดให้สร้างมณฑปครอบไว้ ปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดารว่า “วัดสุมงคลบพิตร”

          พ.ศ.2284 รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงโปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ) ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยโปรดให้รื้อพระมณฑป ต่อมุขหน้า ออกมามีการสร้างเสารายรอบผนังด้านนอก ซ่อมฐานบัว หัวเม็ด และกำแพงแก้ว ให้มีพุทธศิลป์ลักษณะตามราชนิยมในสมัยนั้น

          เมื่อปีพ.ศ.2310 พระวิหารถูกไฟไหม้จากสงคราม ทำให้หลังคาวิหารพังลงมาทับองค์พระเป็นเหตุให้พระเกตุมาลาพระรัศมี พระพาหาขวาตลอดถึงพระกรด้านขวาหักหายไป ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระยาโบราณราชธานินทร์ได้ทำการบูรณะองค์พระมงคลบพิตร ด้วยการต่อพระกรขวาขึ้นใหม่ ในปีพ.ศ.2474

          ในปีพ.ศ.2499 กรมศิลปากรสำรวจองค์พระมงคลบพิตร พบรอยร้าวที่ส่วนพระอุระและพระพาหาเบื้องซ้าย เมื่อตรวจสอบ พบพระพุทธรูปสำริดบรรจุอยู่ภายในราว 60 องค์ หลังจากนั้นจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการบูรณะ พระวิหารตามรูปแบบของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ปัจจุบันพระพุทธรูปสำริดที่พบภายในพระอุระและพระพาหาซ้าย ขององค์พระมงคลบพิตรนำไปเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

สถานที่สำคัญและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด

          วิหารพระมงคลบพิตร มีศาสนวัตถุสำคัญที่ประชาชน ให้ความเคารพศรัทธา เดินทางมาสักการะบูชาและเยี่ยมชม คือ

          พระมงคลบพิตร ศิลปะเป็นแบบอยุธยาตอนต้นที่ได้รับ อิทธิพลจากสุโขทัย ปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบหล่อด้วย สาริด (แกนในเป็นอิฐก่อ) พระมงคลบพิตรมีพระพักตร์รูปไข่ พระหนุมน พระรัศมีเปลวสูง พระเกตุมาลาหรืออุษณีษะเป็นต่อม กว้าง รอบพระเกตุมาลาตกแต่งเป็นลายกลีบบัว เม็ดพระศกขมวด ก้นหอยขนาดเล็ก พระนลาฏกว้าง มีไรพระศกเป็นแนวกรอบ พระพักตร์โค้งหยักตรงกลางพระนลาฏ พระขนงคมเข้มเป็นแนวโค้ง ระหว่างพระขนงกลางพระนลาฏมีอุณาโลมประดับอัญมณี พระกรรณยาว ปลายงอนออกเล็กน้อย พระเนตรหลุบมองต่ำ พระนาสิกโด่งเป็นสัน พระโอษฐ์เม้มเป็นเส้นตรง พระพาหาผาย พระอุระกว้างครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา แนวจีวรโค้งอยู่ ใต้พระถัน สังฆาฏิบนพระอังสาซ้ายเป็นแถบกว้างซ้อนกันสองชั้น พาดยาวชายสังฆาฏิเป็นรูปแฉกหยักเขียวตะขาบยาวจรดพระนาภี ที่ข้อพระบาทปรากฏขอบจีวรเป็นแนวเส้นคู่