share line share line

วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง)

ที่ตั้ง : 344 ถนนจักรพรรดิพงษ์ แขวง บ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100

ประวัติความเป็นมา

        เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร เดิมเป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ชื่อ วัดสระแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์และสถาปนาขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า “วัดสระเกศ”แต่ด้วยเหตุที่มีพระเจดีย์สีทองที่สร้างบน ภูเขาจําลอง จึงเป็นที่รู้จักของคนไทยและเรียกกันทั่วไปว่า “วัดภูเขาทอง” และนักท่องเที่ยวต่างชาติต่างรู้จักในชื่อของ “Golden Mountain”

สิ่งสําคัญภายในวัด

        พระเจดีย์ภูเขาทอง มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงลังกา หรือทรงระฆัง มีเสาหานเหนือบัลลังก์รองรับปล้องไฉน เป็นรูปแบบเฉพาะของเจดีย์ทรงลังกากรุงรัตนโกสินทร์ ที่ สืบทอดรูปแบบมาจากกรุงศรีอยุธยา ส่วนที่มีลักษณะ เหมือนภูเขานั้นแปลงมาจากการก่อสร้างพระปรางค์องค์ ใหญ่ที่สร้างไม่เสร็จมาแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 3 กระทั่งใน สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มาทําการแก้ไขให้เป็นเหมือนภูเขาและสร้างพระเจดีย์ทรง ลังกาประดับโมเสกสีทองไว้ข้างบน เรียกว่า “บรมบรรพต แต่มาสําเร็จสมบูรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระเจดีย์ทองแห่งนี้ ได้รับการบรรจุ พระบรมสารีริกธาตุหลายครั้ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในเจดีย์ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง เมื่อพุทธศักราช 2420 ครั้งที่ 2 รัฐบาลอินเดียทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมสารีริกธาตุที่มีลักษณะเป็นกระดูก ซึ่งขุดพบจากเมืองกบิลพัสดุ จึงโปรด เกล้าฯ ให้นํามาประดิษฐานไว้ในเจดีย์แห่งนี้เมื่อพุทธศักราช 2442 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ มาประดิษฐานถึง 2 ครั้งเช่นกัน และล่าสุดเมื่อพุทธศักราช 2554 วัดสระเกศยังได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ ได้มาใหม่ด้วย พระเจดีย์ภูเขาทองถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ ของกรุงเทพมหานคร

        ระหว่างทางขึ้นภูเขาทองมีพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อโลหะขนาดใหญ่ ปางมารวิชัย สร้าง หรือบูรณะครั้งรัชกาลที่ 3 เรียกว่า “หลวงพ่อโต”

        พระอุโบสถ เดิมสร้างมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 แต่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ดังจะเห็น ได้จากลักษณะสถาปัตยกรรมที่มีเสาสี่เหลี่ยมไม่มีหัวเสารองรับชายคาระเบียงโดยรอบ หน้าบันด้านทิศตะวัน ออกหรือด้านหน้า เป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก รูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ ภายในเขียนภาพ จิตรกรรมฝาผนังภาพเทพชุมนุม ซึ่งเป็นรูปแบบตามพระราชนิยมในสมัยนั้น คล้ายกับพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และอีกหลายวัด อย่างไรก็ตาม ภาพจิตรกรรมได้รับการบูรณะในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และมีการบูรณะมาเป็นลําดับ พุทธศิลป์ของพระประธานปูนปั้นขนาดใหญ่ภายในพระอุโบสถ กล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างหุ้มพระประธานองค์เดิมที่มีขนาดเล็กคงบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งคราวเดียวกับพระอุโบสถ ตามพระราชนิยมในการสร้างพระประธานในหลายวัดครั้ง รัชกาลที่ 3 โดยรอบพระอุโบสถ มีใบเสมาคู่ตั้งอยู่ภายในซุ้มทรงกบช้าง ประดับกระเบื้องสีแบบจีนงดงามมาก

        พระวิหาร สร้างครั้งรัชกาลที่ 3 เป็นที่ประดิษฐาน “พระอัฏฐารส ศรีสุคตทศพลญาณบพิตร” เป็นพระพุทธ รูปยืนปางประทานอภัย สมัยสุโขทัย หล่อด้วยสําริด รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากวัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก ส่วนห้องด้านหลังพระอัฏฐารส ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย นามว่า “หลวงพ่อดุสิต” ซึ่งได้อัญเชิญมาจากวัดดุสิต ตั้งแต่เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้รวมพื้นที่วัดดุสิตกับวัดแหลมหรือวัดเบญจบพิตรเข้าด้วยกัน และสถาปนาขึ้นเป็น วัดเบญจมบพิตร นั่นเอง

        หอไตร เป็นศาสนสถานที่ตั้งอยู่ในเขตสังฆาวาส สันนิษฐานว่าจะเป็นของเดิมสร้างในสมัยอยุธยา โดยสร้างไว้กลางสระน้ำ ปัจจุบันถูกถมไปหมดแล้ว สันนิษฐานว่ามาดัดแปลงต่อเติมผนังขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยหุ้มส่วนที่เป็นของเดิมครั้งสมัยอยุธยา เพราะยังพอที่จะสังเกตเห็นศิลปกรรม ฝีมือช่างอยุธยา เช่น ผนังชั้นในเขียนลายกํามะลอ ลักษณะไม้แกะสลักที่บานประตู หน้าต่าง ส่วนด้าน หลังเขียนภาพแบบจีนโดยรวมแล้วเป็นหอไตรที่มีลักษณะงดงามเป็นพิเศษ แต่ไม่เป็นที่กล่าวถึงมากนัก

        ปัจจุบันมีการจัดงานวัดภูเขาทอง ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลลอยกระทง และพุทธศาสนิกชนจะหลั่งไหลขึ้นไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ รวมทั้งมีพิธีอัญเชิญผ้าแดงขึ้นไปหุ้ม องค์พระเจดีย์ งานวัดภูเขาทองนี้เป็นงานวัดที่อยู่คู่ชาวพระนครมาเป็นเวลาช้านานจวบจนปัจจุบัน