สมาคมศรีคุรุสิงห์สภา

ประวัติ
การที่ชาวซิกข์ได้เข้ามาพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมากขึ้น จึงนำไปสู่การมีศาสนสถานแห่งแรกของชาวซิกข์ในกรุงเทพฯ เพื่อประกอบกิจกรรมทางศาสนา โดยตั้งอยู่ บริเวณถนนบ้านหม้อ เนื่องจากในสังคมของชาวซิกข์ คำสอนทางศาสนาเน้นถึงความร่วมมือ และการให้ความช่วยเหลือกันภายในชุมชน นอกจากนั้นในคำสอนยังระบุว่าในที่ใดซึ่งมีชาวซิกข์ มากกว่าสองครอบครัวมาอยู่ร่วมกัน ที่นั้นควรมีสถานที่เพื่อประกอบกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน แต่ศาสนสถานของชาวซิกข์ไม่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างในรูปลักษณะที่เป็นศาสนสถานถาวร ถ้ายังไม่มีปัจจัยที่จะก่อสร้างชาวซิกข์สามารถใช้สถานที่ใดๆ ก็ได้เป็นศาสนสถาน แต่บริเวณนั้นต้องสะอาดและมีที่ประดิษฐานพระมหาคัมภีร์ซึ่งถือเป็นตัวแทนของพระศาสดา โดยที่ประดิษฐาน พระมหาคัมภีร์จะสร้างเป็นแท่นหรือยกพื้นสูงกว่าบริเวณโดยรอบเหนือแท่นมีผ้าดาดอยู่เบื้องบน บริเวณใดที่มีพระมหาคัมภีร์ตั้งอยู่บริเวณนั้นถือว่าเป็นศาสนสถานของชาวซิกข์ได้ ดังมีหลักฐาน ปรากฏจากเรื่องราวที่ชาวซิกข์ได้ทำการบันทึกถึงศาสนสถานแห่งแรกของพวกตนไว้ว่า เมื่อชาวซิกข์เข้ามาอยู่มากขึ้น ศาสนสถานแห่งแรกจึงถูกกำหนดขึ้น กล่าวคือ ศาสนิกชนชาวซิกข์ ได้เช่าบ้านเรือนไม้ 1 คูหาที่บริเวณบ้านหม้อ ในปี ค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) โดยขอเช่าจากเจ้าของบ้าน ด้วยค่าเช่าเพียงเล็กน้อย จากนั้นก็ได้ตกแต่งให้เหมาะสมและดำเนินศาสนกิจได้ในไม่นาน แต่เนื่องจากยังไม่มีความสะดวกใจในการประกอบ ศาสนกิจบางประการศาสนิกชนจึงประกอบ ศาสนกิจกันเองอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ต่อมาเมื่อสังคมซิกข์เติบโตขึ้น ศาสนิกชนก็ได้ย้ายจากที่เดิม มาเช่าบ้านหลังใหญ่กว่าเดิมและสัญญาเช่าระยะยาวกว่าเดิม ณ หัวมุมถนนพาหุรัดและถนน จักรเพชรปัจจุบัน หลังจากตกแต่งแก้ไขจนสามารถประกอบศาสนกิจได้แล้ว ก็พร้อมใจกันอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อาทิครันถ์ มาประดิษฐานเป็นประธาน และสวดมนต์ปฏิบัติศาสนกิจเป็นประจำทุกวันไม่มีวันหยุด นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1913 (พ.ศ.2456) เป็นต้น เป็นเวลาหลายปี
เมื่อชุมชนขยายตัวขึ้น ชาวซิกข์เห็นถึงความจำเป็นต้องมีศาสนสถานถาวรแทนการเช่าสถานที่เพื่อทำเป็นศาสนสถาน ดังนั้น ใน พ.ศ.2475 ชุมชนซิกข์ในกรุงเทพฯ จึงรวบรวมเงินกันเพื่อจัดซื้อที่ดินและก่อสร้างศาสนสถานของตนขึ้น ดังมีรายละเอียดอยู่ในหนังสือรายงานการอุปถัมภ์ศาสนาอื่น (ศาสนาซิกข์) มีความว่า ต่อมาในปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ศาสนิกชนชาวซิกข์ได้รวบรวมเงิน เพื่อซื้อที่ดินผืนหนึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ ด้วยจำนวนเงิน 16,200 บาท และออกแบบแปลนก่อสร้างเป็นตึกสามชั้นครึ่งด้วยจำนวนเงินอีกประมาณ 25,000 บาท สร้างตึกใหญ่เป็นศาสนสถานถาวรใช้ชื่อว่า “ศาสนสถาน ศรีคุรุสิงห์สภา” (ศูนย์รวมซิกข์ศาสนิกชนในประเทศไทย)
ศาสนสถานศรีคุรุสิงห์สภานี้ได้ดำเนินการสืบเนื่องต่อมา ดังจะเห็นได้จากคำร้องขอจดทะเบียนสมาคมศรีคุรุสิงห์สภาของนายอักมานซิงห์ที่ได้ให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อขอจดทะเบียนสมาคมเป็นนิติบุคคล ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของศาสนสถานแห่งนี้ว่า ข้าฯ นับถือศาสนาซิกข์ มีโบสถ์เพื่อบำเพ็ญศาสนาอยู่ที่ตำบลพาหุรัด ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2486 ข้าฯ และเพื่อนชาวอินเดียด้วยกันได้ปรึกษากันว่า การเป็นโบสถ์เพื่อประกอบศาสนกิจนี้ เป็นการภายในเงียบๆ ไม่ค่อยมีใครรู้จักจึงต้องการให้มีชื่อเสียงและรู้จักกันทั่วๆ จึงคิดตั้งเป็นสมาคมขึ้นโดยใช้ชื่อว่า “ศรีคุรุสิงห์สภา” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของโบสถ์นี้
ศาสนสถานแห่งนี้ชาวซิกข์ได้ดำเนินกิจกรรมทางศาสนาสืบเนื่องมาตลอดเวลา นับจากวันที่ก่อตั้ง ไม่เว้นแม้ในช่วงเวลาที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในช่วงเวลานั้น ทางสัมพันธมิตรได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเพื่อโจมตีโรงไฟฟ้าวัดเลียบระเบิดบางส่วนได้พลาดเป้าหมายและตกมาทำความเสียหายให้กับบริเวณศาสนสถานของชาวซิกข์ และในช่วงเกิดสงครามศาสนสถานแห่งนี้ยังเป็นที่ พักของชาวอินเดียหลายกลุ่มที่ต้องการที่พักอาศัยชั่วคราวระหว่างสงครามด้วย คำร้องขอจดทะเบียนสมาคมของนายอักมานซิงห์สอดคล้องกับผลการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งไปสืบพฤติการณ์ วัตถุประสงค์และความประพฤติของกรรมการตลอดจนสถานที่ตั้งของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา ซึ่งมีความว่า
(1) สถานที่ตั้งสมาคมศรีคุรุสิงห์สภาตั้งอยู่ที่หลังวัดราชบูรณะมหาวิหาร (วัดเลียบ) เดิมสถานที่นี้เป็นวัดของพวกซิกข์ ซึ่งใช้เป็นที่ประกอบกิจการศาสนาของพวกซิกข์มานาน มีทางเข้าออกทางด้านถนนมหาไชย ซึ่งเป็นตรอกทางเดินเท้าตรงข้ามกับร้าน ช.รัตนะ สถานที่นี้เป็นตัวตึก 3 ชั้น ซึ่งขณะนี้กำลังถูกซ่อมแซม เนื่องจากการถูกโจมตีทางอากาศคราวที่แล้ว มีบางสิ่งที่ได้รับความเสียหายเช่นตัวตึกทางบันไดชำรุด เฉพาะเนื้อที่ดินที่ปลูกสร้างนี้ ทางพวกซิกข์ได้ซื้อไว้เป็นจำนวนเงิน 16,000 บาท นานหลายปีแล้ว และได้มอบจัดให้เป็นสมบัติของวัดพวกซิกข์ มีทางเข้าออกสะดวกสบาย
(2) วัตถุประสงค์ของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา เท่าที่สืบทราบในขณะนี้ คือ การเผยแพร่ศาสนาต่อชนชาวซิกข์อบรมศีลธรรมจรรยา และให้การศึกษาช่วยเหลือผู้ตกยากอนาถา และก่อให้เกิดความสามัคคี ทั้งยังเป็นที่รวมปรึกษาหารือกิจการต่างๆ
(3) ความประพฤติของคณะกรรมการผู้ก่อการจัดตั้งสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา ส่วนมาก ทุกคนมีความประพฤติเรียบร้อย ไม่ก่อกวนความสงบ และไม่ทำให้เกิดความยุ่งยากแก่การปกครอง
ผลจากการสืบสวน ทำให้กรมตำรวจจดทะเบียนสมาคมให้ตามใบอนุญาตจดทะเบียนสมาคม ลำดับ จ. 271 ลงวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2489 โดยวัตถุประสงค์ของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา ตามที่จดทะเบียนไว้มี 7 ข้อด้วยกัน คือ
(1) ทำการเผยแพร่ศาสนาซิกข์
(2) บำเพ็ญความสามัคคี
(3) ทำหนทางเขยิบความเป็นไปของสังคมให้ขึ้นระดับสูง
(4) อำนวยการศึกษาของเด็กชนชาติซิกข์
(5) ทำการบรรเทาทุกข์คนจนและคนอนาถา
(6) เผยแพร่วัฒนธรรมของชนชาติซิกข์
(7) ดูแลกิจการและจัดการทรัพย์สินของศรีคุรุสิงห์สภา
การดำเนินงานของสถาบันทางศาสนาซิกข์ในไทย จากที่ศึกษามาอาจกล่าวได้ว่ามีความสืบเนื่องมาพร้อมกับการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวซิกข์ในประเทศไทย และมีพัฒนาการขึ้นตามความเติบโตของชุมชนซิกข์ในไทย ดังจะเห็นได้จากการเช่าสถานที่เพื่อประกอบกิจการทางศาสนาในระยะแรก จนสามารถก่อตั้งศาสนสถานถาวรในกรุงเทพฯ ได้ใน พ.ศ.2475 นอกจากนั้น ยังมีศาสนสถานของชาวซิกข์ตามที่ต่างๆ ในประเทศไทยอีก 16 แห่ง ตามจังหวัดที่มีชาวซิกข์อาศัยอยู่ การดำเนินงานของศาสนสถานทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดนั้น เป็นการดำเนินงานภายใต้การดูแลของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา (ซึ่งเป็นศูนย์รวมซิกข์ศาสนิกชนในประเทศไทย) โดยศาสนาซิกข์เป็นหนึ่งในห้าศาสนาที่รัฐรับรอง และสามาคมศรีคุรุสิงห์สภาได้รับการรับรองจากรัฐบาลให้เป็นองค์การทางศาสนา เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2512 ซึ่งจะกล่าวเกี่ยวกับบทบาทการดำเนินงานของสมาคมในประเทศไทย

โครสร้างองค์การ

การบริหารงาน
(1) การดำเนินงานด้านบริหารและจัดการศาสนา
การดำเนินงานของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา นอกจากจะดำเนินการในฐานะสถาบันทางศาสนาแล้ว สมาคมยังมีบทบาททาง ด้านสังคมด้วยดังจะเห็นได้จากวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสมาคม ที่ได้รวมหน้าที่ทางด้านการจัดการศึกษา และการบรรเทาทุกข์คนจนและคนอนาถาเข้าเป็น ส่วนหนึ่งของวัตถุประสงค์โดยสมาคม จัดสถานศึกษา สำหรับเยาวชนซิกข์และเยาวชนทั่วไป จัดการสอนภาษาปัญจาบีในอักขระวิธีคุรุมุขคี และสอนประวัติ ศาสนาซิกข์ นอกจากนั้นสมาคมยังดำเนินการในด้านอื่นๆ เพื่อทำหน้าที่ในฐานะศูนย์กลางศาสนิกชนในไทย ตามวัตถุประสงค์ที่สมาคมฯ ได้ปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับการดำเนินงานใน พ.ศ.2536 วัตถุประสงค์ ของสมาคมจึงเพิ่มจาก 7 ข้อ ใน พ.ศ. 2489 เป็น 18 ข้อในปัจจุบัน ดังมีรายละเอียดของวัตถุประสงค์ ที่เพิ่มขึ้นดังต่อไปนี้
ก. เผยแพร่คำสั่งสอนของพระศาสดาทั้งสิบพระองค์ของซิกข์ (คือพระศาสดาคุรุนานัก ถึง พระศาสดาคุรุโควินทสิงห์) และพระคัมภีร์คุรุครันถ์ซาฮิบ
ข. ดูแลจัดการศาสนสถานของซิกข์ที่มีอยู่แล้ว และจัดตั้งศาสนสถานใหม่ตามต้องการ
ค. จัดการแปลและพิมพ์พระคัมภีร์ และหนังสืออันเป็นการรับรองออกแพร่ในภาษาต่างๆ ตลอดจนหนังสือใหม่ๆ
ง. ใช้การพูด และปริทัศน์เผยแพร่ธรรมและจริยศึกษาเพื่อประโยชน์สุขของสังคมมนุษย์
จ. อำนวยการเฉลิมฉลองของวันสำคัญทางศาสนา และจัดชุมนุมทางศาสนาประจำวัน
ฉ. จัดบริการที่พักอาหารให้แก่เหล่าศาสนาจารย์ที่ประจำอยู่ ณ สมาคมและผู้ที่ทางคณะกรรมการของสมาคมฯ เห็นสมควร
ช. เพื่อแพร่ธรรมและความเจริญของสังคม โดยจัดให้มีศาสนาจารย์และคณะสังคีตจารย์ในโอกาสต่างๆ
ซ. ส่งนักเรียน นักศึกษา นักประพันธ์ นักปาฐกถา วิทยากร ฯลฯ ผู้เหมาะสมไป ศึกษาค้นคว้าศาสนาและสังคมซิกข์ตามศูนย์ซิกข์ต่างๆ ตามโอกาสอันเหมาะสม
ฌ. จัดตั้งสถานศึกษาในทุกระดับ และจัดการส่งเสริมเพื่อการศึกษาของนักเรียน นิสิตนักศึกษาให้ทัน และเกื้อกูลเพื่อการศึกษาติดต่อ และมีสัมพันธภาพอันดีงามกับสถานศึกษาต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ให้คงไว้ซึ่งความเชื่อมั่นในธรรมวินัย ย้ำความสำคัญแห่งศาสนบัญญัติของพระศาสดาคุรุโควินทสิงห์ จัดให้มีพิธีรับอมฤตแก่ผู้ประสงค์จะเข้ารับกรรมสิทธิ์ในซิกข์ศาสนสถานทุกแห่งในศาสนสมบัติตลอดจนในทรัพย์สินต่างๆ ทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยของซิกข์ศาสนสถานที่ตั้งแล้ว ทั้งที่จะก่อตั้งโดยอยู่ในกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิคุรุดวาราศีคุรุสิงห์สภา ซึ่งอาจมีอุปถัมภ์ศาสนกิจและศาสนิกชนตามศาสนสถานเหล่านั้น และจัดตั้งกรรมการบริหารและศาสนาจารย์ประจำ
ญ. อำนวยการสอนภาษาปัญจาบีในอักขระวิธีคุรุมุขคี และประวัติศาสนาซิกข์
ฎ. ให้มีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล และองค์การศาสนาอื่นๆ
ฏ. ดำเนินการ “ครัวพระศาสดา” ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
ฐ. เผยแพร่ธรรม และให้ความร่วมมือกับสถาบันศาสนาต่างๆ
ฑ. บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่มนุษย์ทั่วไป
ฒ. อำนวยการจัดศาสนพิธีให้แก่ซิกข์ศาสนิกชนทุกประการ
ณ. เมื่อมีความจำเป็นและเหมาะสม สามารถจัดตั้งคณะกรรมการบริหาร และอนุกรรมการต่างๆ หรือมูลนิธิ เพื่อให้ดำเนินกิจการของสมาคมฯ ได้ด้วยดีตาม
วัตถุประสงค์
จากวัตถุประสงค์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้สมาคมศรีคุรุสิงห์สภาที่กรุงเทพฯ มีอำนาจดูแล จัดการศาสนสถานของชาวซิกข์ที่มีอยู่แล้ว และจัดตั้งศาสนสถานแห่งใหม่ตลอดจนรับกรรมสิทธิ ในซิกข์ศาสนสถานทุกแห่งในศาสนสมบัติตลอดจนในทรัพย์สินต่างๆ ทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหา ริมทรัพย์ในประเทศไทย ซึ่งวัตถุประสงค์ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นการให้อำนาจแก่สมาคมศรีคุรุสภาในฐานะ ที่สมาคมได้รับการรับรองจากกรมการศาสนาว่าเป็นองค์การใหญ่ทางศาสนา ตามระเบียบของ กรมการศาสนา ว่าด้วยองค์การศาสนาต่างๆ พ.ศ.2512 ซึ่งความหมายของ “องค์การใหญ่ทางศาสนา” ตามระเบียบนี้ หมายถึง หน่วยงานที่องค์การศาสนาได้จัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยเหลือในการปกครองดูแลศาสนิกชนในศาสนานั้น การที่กรมการศาสนาจะรับรององค์การใดว่าเป็น องค์การศาสนาในประเทศไทยนั้นจะพิจารณา ในหลักการสำคัญต่อไปนี้ คือ ก. หลักธรรมคำสอนมีลักษณะเป็นศาสนาหนึ่งต่างหากจากศาสนาอื่นโดย
สมบูรณ์ในทางศาสนศาสตร์
ข. ปรากฏในสำมะโนประชากรว่ามีพลเมืองนับถือไม่น้อยกว่าห้าพันคน
ค. คำสอนและวิธีการสอนไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย แห่งราชอาณาจักรไทยเป็นกิจการทางศาสนา ไม่แอบแฝงด้วยลัทธิการเมือง และวัตถุประสงค์อย่างอื่น
(2) หลักเกณฑ์ที่สำคัญในการเป็นสมาชิก
กรณีของศาสนซิกข์ เมื่อสมาคมศรี คุรุสิงห์สภาได้รับการรับรองให้เป็นองค์การใหญ่ ทางศาสนาของศาสนาซิกข์ จึงมีหน้าที่ดูแลคุรุดวารา ทุกแห่งของศาสนาซิกข์ที่อยู่ในประเทศไทย โดยผู้ที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการในนามของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา คือ คณะกรรมการบริหาร สมาคมอันประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารสมาคมจำนวน 15 ท่าน ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งวาระละหนึ่งปี ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร และผู้มีสิทธิ รับเลือกต้องเป็นสมาชิกของสมาคมฯ หลักเกณฑ์ที่สำคัญในการเป็นสมาชิกประกอบด้วย
ก. เป็นผู้ที่มีอายุ 18 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป มีถิ่นฐานและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลหรือในจังหวัดข้างเคียง และต้องมีบัตรประจำตัว หรือใบต่างด้าว
ข. ผู้ที่มีความเชื่อมั่น และยึดถือพระศาสดาแห่งศาสนาซิกข์ทั้ง 10 พระองค์ (ตั้งแต่พระศาสดาคุรุนานัก ถึง พระศาสดาคุรุโควินท์สิงห์) และพระมหาคัมภีร์คุรุครันถ์ซาฮิบเป็นสรณะเท่านั้น และทำพิธีกรรมทุกอย่างดำเนินชีวิตตามหลักและประเพณีของศาสนาซิกข์ มีสามารถสมัครเป็น สมาชิกสามัญได้
ค. ให้ยื่นใบสมัครตามแบบชำระค่าสมาชิกตามที่กำหนด (ค่าสมาชิก 10 บาทต่อปี หรือ 100 บาทตลอดชีพ) และเมื่อได้รับความเห็นชอบ และอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารแล้ว จึงจะได้เป็นสมาชิกสมทบ
ง. สมาชิกสมทบตามข้อ 3 จะได้รับการเป็นสมาชิกสามัญโดยสมบูรณ์ หลังจาก 6 เดือน นับจากวันที่ได้เป็นสมาชิกภาคสมทบ
จ. สมาชิกผู้ใดเป็น “ปติตะ” (เช่น ตัดผม โกนผม หนวดเครา และละเมิด วินัยแห่งศาสนาซิกข์) หรือได้ประพฤติขัดและผิดกับกฎ และข้อบังคับของสมาคมฯ ให้ถือว่าขาดจาก การเป็นสมาชิกภาพ
ฉ. ผู้ที่เป็นบุคคลล้มละลายตามคำสั่งศาล ผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุกเป็นผู้ที่มี ความประพฤติ และปฏิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสีย หรือผู้ที่ทำการก่อกวน หรือกระทำการกระด้างกระเดื่อง หรือก่อเหตุอันไม่สมควรต่อสมาชิก และคณะกรรมการให้บุคคลนั้นพ้นจากการเป็นสมาชิกสามัญทันที คณะกรรมการบริหารที่มาจากเลือกตั้ง จะทำการเลือกในที่ประชุมใหญ่สมาชิกสามัญ ในวันใดวันหนึ่งที่เหมาะสม ภายในเดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคม โดยคณะกรรมการบริหาร ซึ่งอยู่ในวาระจะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง ปกติจะเป็นวันอาทิตย์ เพื่อให้สะดวกแก่สมาชิกสมาคมที่จะมาใช้สิทธิ เมื่อกำหนดวันแล้ว คณะกรรมการบริหารจะแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งจำนวน 5 ท่าน กำหนดให้ 2 ใน 5 ท่านต้องมาจากกรรมการมูลนิธิคุรุดวาราศีคุรุสิงห์สภา หรือคณะทรัสตีแห่งคุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา เมื่อได้กรรมการอำนวยการเลือกตั้งครบ 5 ท่านแล้ว ทั้ง 5 ท่านจะประชุมเพื่อแต่งตั้งกรรมการเพิ่มอีก 2 ท่าน รวมเป็นคณะกรรมการ 7 ท่าน จึงจะถือว่า เป็นคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งที่สมบูรณ์ จากนั้น คณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งจะรับรายชื่อสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงจากคณะกรรมการบริหาร 10 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง
ในวันเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งเป็นผู้แจ้งคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเลือกตั้ง และวิธีการเลือกตั้ง โดยให้สมาชิกสามัญแต่ละท่านมีสิทธิเสนอ หรือรับรองชื่อของผู้สมควรได้รับเลือกเป็น กรรมการได้ท่านละหนึ่งชื่อ ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ต้องมีผู้ถูกเสนอชื่อไม่ต่ำกว่า 18 ชื่อ และไม่เกิน 25 ชื่อ จากนั้น สมาชิกแต่ละคนจะลงคะแนนเลือกคณะกรรมการ บริหารได้ไม่เกินท่านละ 12 ชื่อ จากรายชื่อ ที่มีผู้เสนอมา หากสมาชิกท่านใดเลือกเกิน 12 ชื่อ ถือว่าเป็นบัตรเสีย ผู้ที่ได้รับการเลือกมากที่สุด 12 ชื่อแรก เป็นผู้ที่ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภาต่อไป คณะกรรมการบริหารนี้มีวาระหนึ่งปี และสามารถเป็นติดต่อกันได้ไม่เกิน 3 สมัย (3 ปี) หากผู้ใดเป็นกรรมการบริหารครบ 3 สมัยแล้ว ต้องเว้นระยะ อย่างน้อย 1 สมัย จึงสามารถกลับมาเป็นกรรมการบริหารสมาคมได้อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการผูกขาด อำนาจการบริหารสมาคม ไม่ให้อยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนานเกินไป คณะกรรมการบริหารที่ได้รับเลือกตั้งมาทั้ง 12 ท่าน ต้องประชุมกันเพื่อสรรหาผู้ที่เหมาะสมอีก 3 ท่าน มาทำงานร่วมด้วย โดยจะพิจารณาจาก คุณสมบัติว่าคณะกรรมการที่ได้รับเลือกมาทั้ง 12 ท่าน ต้องการผู้มีคุณสมบัติใดมา เพิ่มอีกจะเลือกจาก คุณสมบัติที่ต้องการนั้น เพื่อให้ได้คณะกรรมการบริหารสมาคมครบ 15 ท่าน ตามข้อบังคับ คณะกรรมการ บริหารของสมาคมฯ มีหน้าที่ปฏิบัติงานให้บรรลุจุดมุ่งหมายของสมาคม และถือว่าการทำหน้าที่ คณะกรรมการนี้เป็นการทำงานโดยจิตศรัทธา และไม่ได้รับเงินเดือน หรือค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น โดยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา(กรุงเทพฯ) แม้จะมี อำนาจในการดูแลจัดการศาสนสถานของซิกข์ที่มีอยู่แล้วตามวัตถุประสงค์ข้อ 2 แต่โดยสภาพความ เป็นจริงทางสมาคมฯ ที่กรุงเทพฯ จะให้อำนาจการดูแลจัดการศาสนสถานของชาวซิกข์หรือ คุรุดวารา แก่คณะกรรมการของศรีคุรุสิงห์สภาในท้องถิ่นแต่ละแห่ง เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการดูแลคุรุดวาราเหล่านั้นเอง การได้มาของคณะกรรมการบริหารของศรีคุรุสิงห์สภาในต่างจังหวัดนั้นมีที่มาเหมือนกับ ทางกรุงเทพฯ เนื่องจากได้นำกฎและข้อบังคับของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภาที่กรุงเทพฯ ไปประยุกต์ใช้ อาจมีความแตกต่างกัน เฉพาะจำนวนกรรมการ และวาระการดำรงตำแหน่ง เนื่องจากชุมชนของชาวซิกข์ในต่างจังหวัด มีขนาดเล็กกว่าในกรุงเทพฯ ดังนั้น จำนวนกรรมการอาจมีจำนวนน้อยกว่า กรุงเทพฯ ขณะที่วาระการดำรง ตำแหน่งอาจนานกว่าเป็นวาระละ 2 ปี ดังกรณีของคุรุดวาราที่ภูเก็ต ซึ่งมีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2459 ที่แสดงให้เห็นว่ามีชาวซิกข์ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภูเก็ตตั้งแต่ช่วงเวลานั้นแล้ว นอกจากที่ภูเก็ตแล้ว ยังมีคุรุดวาราของชาวซิกข์ในไทยอีกหลายแห่ง อาทิ เชียงใหม่ ลำปาง ขอนแก่น อุบลราชธานี พัทยา ฯลฯ (3) บทบาทของสมาคม
จากการที่สมาคมศรีคุรุสิงห์สภาในกรุงเทพฯ มีนโยบายทางด้านการกระจายอำนาจ ทำให้สาขาสมาคมในต่างจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบดูแลคุรุดวาราในต่างจังหวัด และทำหน้าที่ในการ สัมพันธ์ติดต่อกับตัวแทนของรัฐในระดับท้องถิ่นได้ด้วยตนเอง ขณะที่สมาคมที่กรุงเทพฯ จะทำหน้าที่ สัมพันธ์กับรัฐในส่วนกลางและองค์กรศาสนาอื่นๆ โดยจะแยกการดำเนินการของสมาคมในฐานะสถาบัน ทางศาสนาซิกข์ออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือ
ก. บทบาทด้านงานบริหารและจัดการด้านศาสนา ประกอบด้วย งานการปกครองทางศาสนา งานการศึกษาของบุคลากรทางศาสนา งานเผยแพร่ศาสนธรรม และงานบริหารอาคารสถานที่
ข. บทบาทด้านงานการศึกษาและสังคมสงเคราะห์ ประกอบด้วย งานสนับสนุนการศึกษา และงานสงเคราะห์และบริการสังคม
(4) งานปกครองทางศาสนา
สมาคมศรีคุรุสิงห์สภา (กรุงเทพฯ) มีฐานะเป็นองค์การใหญ่ทางศาสนาซิกข์ จึงมีหน้าที่ ในการปกครองดูแลศาสนิกชนในศาสนาซิกข์โดยทั่วไป นอกจากนั้นการที่ศาสนาซิกข์เป็นหนึ่งในห้าศาสนาที่อยู่ในความอุปถัมภ์ของทางรัฐบาลไทย ทำให้สมาคมมีบทบาทเพิ่มในการส่งเสริมศีลธรรมและวัฒนธรรมของชาติตลอดจนเพิ่มพูนความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนิกชนผู้ต่างศาสนากัน ซึ่งในการทำหน้าที่ทั้งหมดนี้ สมาคมได้ดำเนินงานโดยแยกเป็นงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค งานในส่วนกลาง คือ งานการปกครองทางศาสนาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียง อยู่ภายใต้การดำเนินงานของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภาที่กรุงเทพฯ โดยสมาคมจะดูแลจัดการคุรุดวาราที่กรุงเทพฯ และทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับส่วนราชการในส่วนกลาง โดยเฉพาะกับกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักงานนายกรัฐมนตรี ฯลฯ นอกจานั้นจะติดต่อกับผู้แทนองค์การศาสนาอื่นๆ ในประเทศไทย
งานในส่วนภูมิภาค คือ งานการปกครองทางศาสนาในเขตจังหวัดอื่นๆ ที่มีคุรุดวารา ตั้งอยู่จะอยู่ในอำนาจการปกครองของคณะกรรมการศรีคุรุสิงห์สภาของจังหวัดนั้นๆ ทั้งนี้คณะกรรมการเหล่านั้น สามารถติดต่อประสานงานกับองค์กรของรัฐและส่วนเอกชนในท้องถิ่นในการจัดกิจกรรมทางศาสนา ได้โดยตรง นอกจากการประสานงานกับองค์กรของรัฐในส่วนกลางเท่านั้น ที่คุรุดวาราในภูมิภาคต้องดำเนินการโดยผ่าน การประสานงานของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภาที่กรุงเทพฯ ซึ่งลักษณะงานการปกครองทางศาสนาของสมาคม นับว่ามีการกระจายอำนาจและให้อำนาจการควบคุมอยู่ในความดูแลของชุมชน เหตุที่กล่าวเช่นนี้ เพราะคณะกรรมการของสมาคมทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค (คณะกรรมการบริหารที่ดูแลคุรุดวารา แต่ละแห่ง) มีที่มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกภายในชุมชนซิกข์ในเขตของคุรุดวาราแต่ละแห่ง ดังนั้น หากคณะกรรมการดำเนินงานบริหารไม่เหมาะสม สมาชิกมีสิทธิจะไม่เลือกบุคคลเหล่านั้นมาทำงานบริหาร ในโอกาสต่อไปจึงเป็นการควบคุมการทำงานโดยชุมชน
(5) งานการศึกษาของบุคลากรทางศาสนา
งานด้านนี้ หมายถึง การจัดการศึกษาให้แก่บุคคลที่สนใจจะดำเนินงานด้านศาสนา กรณีของศาสนาซิกข์มีข้อควรกล่าวถึงคือ ในศาสนาซิกข์ไม่มีผู้ที่อยู่ในฐานะของนักบวชโดยตรง ทุกคนสามารถเรียนรู้พระมหาคัมภีร์ที่จารึกคำสอนทางศาสนาได้ และสามารถประกอบพิธีทางศาสนาได้ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ดังนั้น การศึกษาเรื่องศาสนาจึงเป็นสิทธิและหน้าที่ของชาวซิกข์ทุกคน ซึ่งการเรียนรู้ในลักษณะนี้สามารถดำเนินมาได้ โดยตลอดในชุมชนของชาวซิกข์ ทั้งในอินเดียและประเทศต่าง ๆ
กรณีนี้ มีความแตกต่างจากชุมชนชาวซิกข์ในไทย เนื่องจากชาวซิกข์ในไทย แม้จะมี จำนวนพอสมควร แต่ยังไม่อาจนับได้ว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ประกอบกับสมาชิกของชุมชน เกือบทั้งหมด อยู่ในเขตเมืองและประกอบอาชีพทางด้านธุรกิจการค้าเป็นหลัก ทำให้โอกาสที่จะศึกษาเพื่อทำหน้าที่ ศาสนาจารย์หรือสังคีตจารย์ยังมีน้อย ดังนั้น การจัดการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรทางศาสนาซิกข์ในประเทศไทย จึงยังไม่เกิดขึ้น บุคลากรทางศาสนาที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับศาสนาที่เดินทางมาจาก ประเทศอินเดีย หรือที่อื่นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาด้านศาสนาในที่นี้ จะขอกล่าวถึงลักษณะการศึกษา ของบุคลากรทางศาสนาที่ได้รับจากประเทศอินเดียเป็นหลัก เนื่องจากในอนาคตหากจะมีการจัดการ ศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรทางศาสนาซิกข์ในประเทศไทย วิธีการจัดการศึกษาที่จะเกิดขึ้นอาจต้องใช้รูปแบบ จากประเทศอินเดียเป็นหลักก่อนที่จะมาปรับให้เหมาะสมกับสังคมชาวซิกข์ในประเทศไทย
(6) งานเผยแพร่ศาสนธรรม
หน้าที่ประการหนึ่งของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา คือ การเผยแพร่คำสอนทางศาสนา ซิกข์ให้เป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไป ซึ่งการเผยแพร่คำสอนนี้ทางสมาคมได้ดำเนินการทั้งภายในกลุ่ม ชาวซิกข์และบุคคลทั่วไป โดยมีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
ก. การเผยแผ่ศาสนาธรรมแก่ชาวซิกข์ คำสอนสำคัญในการปฏิบัติชีวิต ส่วนตนของชาวซิกข์ คือ การสวดนาม (การระลึกถึงพระเจ้า) และเจริญธรรมในพระมหาคัมภีร์ และการดำเนินชีวิตตามศาสโนวาทของพระศาสดาการทำเซวา
ข. การเผยแผ่ศาสนธรรมแก่บุคคลทั่วไปในสังคมไทย เนื่องจากชาวไทยโดยทั่ว ไปยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาซิกข์ไม่มากนัก ดังนั้น สมาคมจึงถือเป็นหน้าที่ประการหนึ่งที่จะเผยแพร่ ความรู้เกี่ยวกับศาสนาซิกข์ให้คนทั่วไปได้รู้จัก เนื่องจากศาสนามีส่วนร่วมในการกำหนดระเบียบ แบบแผน ค่านิยม และอุดมคติในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ พร้อมทั้งการพัฒนาทางด้านจิตใจ ดังนั้น ในสังคมที่มี คนหลายเชื้อชาติศาสนามาอยู่ร่วมกัน กลุ่มคนเหล่านั้นควรเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาของคนกลุ่มอื่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องโลกทัศน์ของแต่ละฝ่าย อันจะทำให้มีชีวิตร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข
(7) งานบริหารอาคารสถานที่
หน้าที่ของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภาในด้านนี้ คือ การบริหารจัดการเกี่ยวกับคุรุดวารา เพื่อให้คุรุดวารา มีพื้นที่ในการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนาได้สมควรแก่ศาสนพิธีที่เกิดขึ้น ทั้งศาสนพิธี ที่จัดในวันสำคัญทางศาสนาและศาสนพิธีในชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วไป
การประกอบศาสนพิธีของชาวซิกข์นั้น ต้องกระทำเบื้องหน้าพระมหาคัมภีร์ พิธีเกี่ยวกับการเกิดการตั้งชื่อบุตรธิดา การแต่งงาน ฯลฯ จะเป็นการประกอบพิธีที่สมบูรณ์ไม่ได้ถ้าไม่มีพระมหาคัมภีร์ปรากฏอยู่ในที่นั้น ตัวอย่างที่จะยกมาประกอบในที่นี้ คือ พิธีการตั้งชื่อบุตรธิดา
สำหรับครอบครัวชาวซิกข์ ภายหลังการให้กำเนิดบุตรธิดา และมารดาแข็งแรงขึ้น สามารถเคลื่อนไหวได้ (ไม่มีกำหนดว่ากี่วัน) ให้ครอบครัวและญาติพี่น้องเดินทางมาคุรุดวารา พร้อมนำคาร่าปัรซาต มาด้วยหรือใช้ที่มีในคุรุดวารา แล้วประกอบพิธีเจริญธรรม พร้อมขับร้องบทสวดที่เหมาะสม โดยขับร้องต่อ หน้าพระพักตร์พระศาสดาคุรุครันถ์ซาฮิบเพื่อแสดงความปิติและระลึกถึง พระคุณของพระศาสดา กรณีที่มีการสวดพระธรรมในพระมหาคัมภีร์คุรุครันถ์ซาฮิบให้ทำพิธีสวด ให้เสร็จ แล้วขอประทานพระบัญชา จากพระศาสดา ศาสนาจารย์จะประกาศอักษรตัวแรกที่ได้จากพระบัญชาของพระศาสดา ให้ผู้ร่วมชุมนุม เจริญธรรมทราบแล้วจึงตั้งชื่อเด็กตามตัวอักษรนั้น
พิธีตั้งชื่อบุตรธิดานั้นจะทำที่คุรุดวาราเป็นหลัก เพื่อเป็นมงคลแก่เด็กและเป็นการแนะนำเด็ก ซึ่งเป็นสมาชิกใหม่ให้เป็นที่รู้จักแก่คนในชุมชน การที่กิจกรรมหลายอย่างต้องกระทำที่คุรุดวารา ทำให้สมาคมศรีคุรุสิงห์สภาต้องจัดเตรียมสถานที่สำหรับการดำเนินกิจกรรมเหล่านั้น การเตรียมการนี้เห็นได้จากเมื่อมีการสร้างคุรุดวาราขึ้นใหม่แทนหลังเดิมที่ทรุดโทรมไป สมาคมได้จัดแบ่งพื้นที่ภายในคุรุดวาราแห่งใหม่ สำหรับรองรับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
ก. ชั้นล่าง เป็นบริเวณโถงทางเข้า ซึ่งมีพื้นที่กว้างพอสมควร ด้านในของโถงทางเข้า มีบันไดสำหรับใช้ขึ้น-ลงทั้งด้านซ้ายและขวา ระหว่างกลางของบันไดทั้งสองด้านติดตั้งลิฟต์ จำนวนสามตัว ด้านขวามือของโถงทางเข้า แบ่งพื้นที่เป็นสุขศาลานานักมิชชั่น ห้องอาหารของศาสนาจารย์ ด้านซ้ายมือเป็นที่ตั้งของห้องสมุด และบริเวณที่ทำการของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา นอกจากนั้นยังมีห้องสุขาสำหรับหญิง-ชาย และบริเวณสำหรับจัดเก็บรองเท้าของผู้ที่มาคุรุดวารา เนื่องจากเป็นระเบียบว่าจะไม่มีการสวมรองเท้าขึ้นสู่ชั้นบนของคุรุดวารา ดังนั้น ทางสมาคมจึงเตรียมที่จัดเก็บรองเท้าไว้รองรับผู้ที่เข้ามาทำกิจกรรมที่คุรุดวารา
ข. ชั้นสอง เป็นห้องประชุมอเนกประสงค์ สามารถดัดแปลงใช้ตามกิจกรรมที่จำเป็น เช่น เป็นสถานที่จัดเลี้ยงในงานต่างๆ เป็นห้องประชุมฟังคำบรรยายของผู้เชี่ยวชาญทางศาสนาที่ สมาคมเชิญมาเป็นครั้งคราว ฯลฯ ในวันสำคัญทางศาสนา และวันเสาร์-อาทิตย์ บริเวณนี้จะดัดแปลงเป็นลังกัร (Langar) บริเวณชั้นสองจึงใช้เพื่อประกอบงานพิธี ทั้งที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและกิจกรรมสาธารณของชุมชน
ค. ชั้นสาม เป็นห้องสำหรับจัดงานและกิจกรรมทั่วไปเช่นเดียวกับชั้นสองแต่มีขนาดเล็กกว่า โดยมีพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่ชั้นสอง
ง. ชั้นสี่ เป็นห้องโถงใหญ่ มีที่ประดิษฐานพระมหาคัมภีร์ตั้งอยู่เวลาเช้าตรู่ประมาณ 04.30 น. ศาสนาจารย์จะอัญเชิญพระมหาคัมภีร์มายังที่ประดิษฐานและประกาศไว้ตลอดวัน เมื่อถึงเวลาประมาณ 18.30 น. จะอัญเชิญพระมหาคัมภีร์กลับไปยังห้องที่ชั้นหก ภายในบริเวณ ห้องโถงใหญ่นี้เป็นที่ชุมชุนเจริญธรรมของชาวซิกข์ในระหว่างที่มีพิธีทางศาสนาจะมีศาสนิกชนชาวซิกข์มาร่วมเป็นจำนวนมาก ผู้เข้าร่วมพิธีจะนั่งแยกกันระหว่างหญิงและชายตำแหน่งที่นั่งคือ เมื่อหันหน้าเข้าหาพระมหาคัมภีร์ ฝ่ายชายจะอยู่ขวามือ ฝ่ายหญิงอยู่ซ้าย
จ. ชั้นห้า เป็นพื้นที่ของโรงเรียนสอนศาสนาและอีกส่วนหนึ่งแบ่งให้เป็นพื้นที่ของ โรงเรียนไทยซิกข์นานาชาติ แผนกเตรียมอนุบาล-อนุบาล 2 ซึ่งเป็นเด็กเล็ก ไม่สะดวกจะเดินทางไปเรียนที่บางนา จึงจัดให้มีการเรียนการสอนที่บริเวณคุรุดวารา แต่เมื่อขึ้นชั้นประถมเด็กนักเรียนจะไปเรียนที่บางนา
ฉ. ชั้นหก จะแบ่งประโยชน์ใช้สอยเป็นสองส่วน คือ ครั้งหนึ่งจะเป็นที่ประดิษฐาน พระมหาคัมภีร์ ในบริเวณนี้จะจัดพื้นที่สำหรับศาสนจารย์และชาวซิกข์ทั่วไป ให้มาศึกษาหาความรู้ จากพระมหาคัมภีร์ได้ด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่งแบ่งให้เป็นพื้นที่ของโรงเรียนไทยซิกข์นานาชาติ แผนกเตรียมอนุบาล-อนุบาล 2 สำหรับใช้เป็นห้องประชุมและห้องอเนกประสงค์
จากการจัดเตรียมพื้นที่ดังกล่าว ทำให้เห็นว่าการดำเนินชีวิตของชาวซิกข์ในสังคมจะมีกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา และชาวซิกข์ให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ชาวซิกข์จะเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่สมาคมจัดขึ้นเสมอ โดยการเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้จะเป็นการเข้าร่วมทั้งครอบครัว ทั้งชาย-หญิง เด็ก-ผู้ใหญ่ นอกจากการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่กล่าวมาแล้ว ชาวซิกข์ในสังคมไทยยังดำเนินกิจกรรมทางด้านสังคมภายใต้การนำของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา

บุคคลสำคัญ
บุคคลสำคัญของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา ประกอบด้วยองค์ศาสดาทั้ง 10 พระองค์ ของศาสนาซิกข์เพียงเท่านั้น ดังที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อ 8.2 เรื่องศาสนบุคคล ไม่ได้นับถือหรือให้ความสำคัญกับบุคคลอื่นเป็นพิเศษเหมือนศาสนาอื่นๆ

สถานที่ตั้งและการติดต่อ
ที่ตั้ง : สมาคมศรีคุรุสิงห์สภา (ซิกข์) เลขที่ 565 ถนนจักรเพชร เขตพระนคร แขวงวังบูรพาภิรมย์ จังหวัดกรุงเทพมหานคร 10200
โทรศัพท์ : 0-2224-8094 / 0-2221-1011
โทรสาร : 0-2949-4220
อีเมล์ : [email protected]
เว็บไซต์ :


สมาคมนามธารีสังคัต

สมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทย

ประวัติความเป็นมา

ศาสนาซิกข์-นามธารี (Sikh-Namdhari) นั้นเป็นศาสนาซึ่งมีชื่อตามลักษณะคำสอนของศาสนา เพราะคำว่า “ซิกข์” (Sikh) มีรากศัพท์มาจากคำว่า “สิข” เป็นภาษาปัญจาบี ตรงกับคำในภาษาบาลีว่า “สิกขา” หรือ “สิกขะ” ส่วนในภาษาสันสกฤตตรงกับคำว่า “ศิษย์” หรือ “ศิษยะ” ซึ่งหมายถึง ผู้ศึกษา ผู้ใฝ่เรียน ลูกศิษย์หรือสาวก ดังนั้น ทุกคนจึงเป็นศิษย์ของครู หรือ “คุรุ” (Guru) ซึ่งหมายถึงองค์พระศาสดา และการเข้าถึงหลักธรรมของศาสนาจะต้องผ่านทาง “คุรุ” หรือครูเท่านั้น จึงทำให้ต้องมี “คุรุ” สืบต่อมาโดยตลอดไม่ขาดช่วงจนถึงปัจจุบัน

“นามธารี” (Namdhari) แปลว่า ผู้ซึ่งเทิดทูนธำรงค์รักษาให้ทรงไว้ซึ่งพระนามของพระผู้เป็นเจ้า หรือผู้ยึดมั่นในพระนามของพระผู้เป็นเจ้า (“นาม” หมายถึง พระนามของพระผู้เป็นเจ้า  ส่วน “ธารี” หมายถึงการธำรงรักษา) จึงกล่าวได้ว่า ชาวซิกข์-นามธารี คือผู้ที่มีความรัก เชื่อถือศรัทธา และยึดมั่นในองค์พระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียว โดยเชื่อฟังคำสั่งสอนขององค์พระศาสดาผู้ยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ เสมือนอาจารย์ผู้สั่งสอนศิษย์

ชาวซิกข์-นามธารีเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาล้วนต้องได้รับการศึกษาวิชาต่าง ๆ จากครูบาอาจารย์เสมอ ไม่เว้นแม้แต่ในเรื่องของการดำเนินชีวิต และการแสวงหาหนทางสู่ความหลุดพ้นด้วยการสวดภาวนาอธิษฐาน และปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนทุกประการขององค์พระศาสดาทุกพระองค์ด้วยความศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยม ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีทุกคนในฐานะ “ศิษย์” จึงต้องมี “ครู” เพื่อเป็นผู้ให้แสงสว่างในจิตใจทำให้เกิดปัญญา ชี้นำแนะแนวเส้นทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องได้ชัดเจนเพื่อให้ถึงจุดหมายเสมอตลอดอายุขัย และการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าจะสำเร็จได้ก็ย่อมต้องผ่านทาง “คุรุ” หรือองค์พระศาสดาผู้เทิดทูน และยึดมั่นในพระนามของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น

ศาสนาซิกข์ก่อตั้งโดยองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ ยี โดยนับจากปีที่พระองค์ทรงประสูติ คือในพ.ศ. 2012 (ค.ศ. 1469) สถานที่กำเนิดศาสนาซิกข์คือ สถานที่ซึ่งองค์พระปฐมศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ ยี ทรงประสูติ ณ หมู่บ้าน ตัลวันดี (Talwandi) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 30 ไมล์ของเมืองละฮอร์ (Lahore) บนฝั่งแม่น้ำราวี (Ravi) (ซึ่งแตกสาขามาจากแม่น้ำสินธุ) ตำบล เชคปุระ (Shekpura) ในปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน (Pakistan) โดยภายหลังชื่อหมู่บ้านได้ถูกเปลี่ยนเป็น “นันกานะ ซาฮิบ” (Nankana Sahib) ซึ่งแปลว่า เมืองของท่านนานัก (นานักนคร) เพื่อเทิดพระเกียรติองค์พระศาสดา

องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ ยี ทรงปฏิเสธพิธีกรรมต่าง ๆ ที่งมงายและไร้เหตุผล เช่น การเชื่อถือในโชคลาง หรือในเวทมนตร์คาถาใด ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนสมัยนั้นเลื่อมใสยึดถือเป็นสรณะ องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ ยี ตลอดจนพระศาสดาทุกพระองค์ที่สืบทอดต่อจากพระองค์ได้ทรงวางรากฐานการปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างอันงดงามในการดำรงชีวิตในกรอบแห่งศีลธรรม และในขณะเดียวกันก็ยังคงมีส่วนร่วมต่อบทบาทอันเข้มแข็งในสังคมฆราวาส (ทางโลก) ควบคู่กันไป

            นับตั้งแต่สมัยขององค์พระปฐมบรมศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 1) ได้ก่อตั้งศาสนาซิกข์ขึ้น และสืบต่อเนื่องมาจนถึงสมัยขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ เตค บาฮา ดูร ยี (พระศาสดาองค์ที่ 9) ศาสนิกชนชาวซิกข์ได้ร่วมกันปกป้องเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาในขณะนั้นมาโดยตลอด เรื่อยมาจนถึงสมัยขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โคบินด์ ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 10) รูปแบบ และแนวทางจึงได้เปลี่ยนแปลงไป โดยทรงปลูกฝังรากฐานของศาสนาซิกข์อันบริสุทธิ์ให้หยั่งลึกลงไปในชีวิตของศาสนิกชน โดยในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2242 (ค.ศ. 1699) ซึ่งตรงกับเดือน “วีสาขี” ในภาษาปัญจาบี ณ เมือง “อนันต์ ปุร ซาฮิบ” พระองค์ได้ทรงเรียกประชุมบรรดาบัณฑิตพราหมณ์ และศาสนิกชนของพระองค์ เพื่อพระราชทานน้ำอมฤต (น้ำสาบานศักดิ์สิทธิ์) เป็นครั้งแรกแก่ศาสนิกชน 5 ท่าน โดยมีชื่อเรียกว่า “ปัญจะ ปิอาเร” (Panja Pyare แปลว่าศิษย์ผู้เป็นที่รักทั้ง 5) ซึ่งถือเป็นพิธีกรรมอันสำคัญยิ่ง มีการสวดมนต์ ร้องเพลงสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า และการอ่านพระมหาคัมภีร์ อีกทั้งตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาชายชาวซิกข์จะมีคำว่า “ซิงห์” ต่อท้ายชื่อทุกคน และสตรีชาวซิกข์จะมีคำว่า “กอร์” ต่อท้ายชื่อทุกคน และศาสนิกชนชาวซิกข์ทุกคนจะต้องเก็บรักษาสัญลักษณ์ทั้ง 5 ประการทางศาสนาติดตัวไว้ตลอดเวลาอีกด้วย

            ตามความเชื่อของชาวซิกข์-นามธารี ก่อนที่องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โคบินด์ ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 10) จากโลกนี้ไป พระองค์ได้ทรงเสด็จไปที่เมือง “ฮัชโร” เพื่อพระราชทานอำนาจของพระองค์ให้กับองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ บาลัก ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 11) ที่ชาวซิกข์-นามธารีนับถือศรัทธา ซึ่งในสมัยนั้นศาสนิกชนของพระองค์ส่วนใหญ่กำลังหลงลืมธรรม และคำสั่งสอนขององค์พระศาสดา เป็นเหตุให้แนวทางการดำเนินชีวิตผิดเพี้ยนไป

ด้วยเหตุนี้องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงได้ทรงอวตารลงมาในรูปขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี  (พระศาสดาองค์ที่ 12) ของชาวซิกข์-นามธารี โดยได้ทรงอวตารลงมาในกระท่อมของช่างไม้ผู้ยากจน ช่วงเช้ามืดของวันพฤหัสบดี แห่งวสันตฤดูซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2359 (ค.ศ. 1816) ณ เมืองเล็ก ๆ ในจังหวัด “ลูเดียนา” แห่งรัฐปัญจาบ ซึ่งบิดาของพระองค์มีนามว่า “ยัสสา ซิงห์” ส่วนมารดามีนามว่า “ซาดา กอร์” ในช่วงวัยหนุ่มพระองค์ได้ทรงเข้ารับราชการทหารในกองทัพของมหาราชา “รันยิต ซิงห์” และได้ทรงเสด็จไปยังเมือง “ฮัชโร” ซึ่ง ณ ที่นั้นองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ บาลัก ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 11) ได้ทรงประทานพระราชอำนาจของพระองค์ให้กับองค์พระศาดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) พร้อมกับมีรับสั่งว่า “ให้พระองค์บำเพ็ญเพียรภาวนาสวดมนต์ด้วยพระองค์เอง และสั่งสอนเผยแพร่วิธีการสวดมนต์ให้กับผู้อื่นด้วย”

ในวันที่12 เมษายน พ.ศ. 2400 (ค.ศ. 1857 ในช่วงวันสงกรานต์เดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่) องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) ได้ทรงสังคยานาศาสนาซิกข์-นามธารี โดยเชิญ “ปัญจะ ปิอาเร” (ศิษย์ผู้เป็นที่รักทั้งห้า) ขึ้นมารับน้ำอมฤต และได้ทรงสังคายนารูปแบบของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีขึ้นใหม่ในนาม “นามธารี ซันต์ คาลซ่า” ซึ่งมีความหมายว่า “นักบุญบริสุทธิ์ผู้มีพระนามของพระผู้เป็นเจ้าสถิตอยู่ในจิตวิญญาณ ทั้งนี้ พระองค์ยังได้ทรงพระเมตตาเพิ่มสิทธิเสรีภาพแก่สตรีให้มากขึ้น ด้วยการห้ามประเพณีการฆ่าทารกเพศหญิงแรกเกิด เพราะครอบครัวชาวอินเดียส่วนใหญ่ในสมัยนั้นล้วนแต่อยากได้บุตรชายเพื่อสืบสกุล ทรงให้เลิกการเรียกร้องและรับสินสอดทองหมั้นต่าง ๆ อีกทั้งยังห้ามไม่ให้เด็กหญิงอายุต่ำกว่า 16 ปี เข้าพิธีแต่งงานด้วย

            ในสมัยนั้นองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) ค้นหาชาวซิกข์-นามธารีที่ปฏิบัติตนถูกต้องสมบูรณ์แบบตามหลักศาสนาได้ยาก พระองค์จึงได้ทรงชักชวนชี้นำศาสนิกชนผู้หลงผิดประพฤติปฏิบัติตนออกนอกลู่นอกทางทั้งหลายให้ได้มีโอกาสรับพระราชทาน “พระนาม” (คำสวดมนต์) และนำเข้าสู่ความเป็นสานุศิษย์ของพระองค์ตามหลักการของศาสนาซิกข์-นามธารีที่สมบูรณ์ทรงรื้อฟื้นพิธีกรรมปรัมปราให้บริสุทธิ์ตามศาสตร์ และวัฒนธรรมดั้งเดิมขึ้นมาอีกครั้ง อันได้แก่ พิธีกรรมทางศาสนา Hawan Varni  การสวดมนต์ Naam Simran การอ่านพระคัมภีร์ การสนานกายให้สะอาดบริสุทธิ์ (การอาบน้ำตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า) การร้องเพลงสวดสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า และทรงปกป้องคุ้มครองให้สังคมในยุคนั้นได้ออกห่าง และหลุดพ้นจากพิธีกรรมอันช่อฉลหลอกหลวง เช่น การบีบบังคับให้มีการสมรสก่อนวัยอันควร ตลอดจนหลุดพ้นจากพิธีสมรสซึ่งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย โดยวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2406 (ค.ศ. 1863) พระองค์ได้ทรงจัดให้มีการสมรสหมู่ขึ้นพร้อมกันถึง 6 คู่ โดยเดินรอบกองไฟ พร้อมกับอ่านบทสวดพระมหาคัมภีร์ เป็นครั้งแรกในเมือง “โคเต” จนเป็นเหตุให้นักบุญจอมปลอมผู้เสียผลประโยชน์ในสมัยนั้นได้รวมตัวกันดำเนินคดีฟ้องร้อง ซึ่งพระองค์เองต้องถูกควบคุมตัว และสู้คดีอยู่เป็นเวลานาน จนในที่สุดพระองค์ได้ชนะคดี และพิธีการสมรสในรูปแบบใหม่นี้จึงได้ถือเป็นรากฐานซึ่งศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีทั่วโลกยึดถือ และนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติจนถึงทุกวันนี้

            ประวัติศาสตร์สามารถเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ในทุกยุคทุกสมัยที่มหาบุรุษผู้ทรงคุณธรรมลงมายังโลกมนุษย์ย่อมจะมีหมู่มารลงมาควบคู่กันเสมอ ด้วยอิทธิพลของการล่าอาณานิคมของประเทศอังกฤษในสมัยนั้น และการเป็นผู้ริเริ่มต่อต้านรัฐบาลอังกฤษด้วยด้วยวิธีอหิงสา งดการใช้ความรุนแรงเพื่อกอบกู้เอกราชของประเทศอินเดีย ซึ่งต่อมาท่านมหาตมะ คานธี ได้ดำเนินการด้วยวิธีเดียวกันจนประสบความสำเร็จ

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้องค์พระศาสดาต้องพลัดพรากจากแผ่นดินเกิดไป โดยถูกรัฐบาลอังกฤษนำไปกักบริเวณที่ประเทศพม่า จึงทำให้องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หริ ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 13) ผู้เป็นพระอนุชาซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) ทรงเป็นผู้ดูแลรักษาการณ์แทน และสืบต่อมาจนถึงปี พ.ศ. 2449 (ค.ศ. 1906) พระราชอำนาจของพระองค์จึงได้ถูกพระราชทานสืบต่อมายังองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ประตาป ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 14) ซึ่งทรงเป็นพระศาสดาแห่งศาสนาซิกข์-นามธารีพระองค์แรกที่ทรงพระเมตตาเสด็จมาโปรดสานุศิษย์ของพระองค์ ณ กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกในวันพุธที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1934) โดยตลอดพระองค์ได้ทรงเสด็จเดินทางมาประเทศไทยนับรวมได้ถึง 22 ครั้ง

            ในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959) เป็นวันที่องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ประตาป ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 14) ได้ทรงเสด็จสวรรคต โดยองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ยัคยิต ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 15) ทรงเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ดูแลสานุศิษย์ของพระองค์สืบต่อมา ซึ่งพระองค์ทรงเมตตาประทานพรแก่ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีที่มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศไทย ด้วยทรงเสด็จมาเยี่ยมเยือนศาสนิกชนของพระองค์หลายครั้ง โดยเสด็จครั้งแรกในเดือน มกราคม พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) และทรงเสด็จอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเพื่อให้สานุศิษย์ของพระองค์ได้มีโอกาสเข้าเฝ้านมัสการ และรับฟังพระธรรมเทศนาตลอดจนคำสั่งสอนเพื่อเตือนสติ และตอกย้ำถึงความสำคัญในการสวดมนต์ปฏิบัติธรรม และเคร่งครัดในการดำเนินชีวิตตามแนวทางคำสั่งสอนขององค์พระศาสดาแห่งศาสนาซิกข์-นามธารีทุกพระองค์

ชาวซิกข์-นามธารีทุกคนถูกปลูกฝังคุณธรรมเข้าไปในชีวิต และจิตวิญญาณตั้งแต่แรกเกิดเสียด้วยซ้ำ เพราะเหตุที่บิดามารดา และบรรพบุรุษก็ดำรงชีวิตอันเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม และความดีงาม รวมทั้งสอดคล้องต่อหลักธรรมชาติ และเน้นความเรียบง่ายตลอดมา ดังคำกล่าวที่ว่า “Simple living, High thinking”

            เมื่อทารกใหม่ได้ลืมตาดูโลกขึ้นมาในครอบครัวของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารี สิ่งแรกที่จะได้รับคือ “พระนาม” (Naam) ของพระผู้เป็นเจ้าโดยองค์พระศาสดา หรือผู้ที่พระองค์ทรงมอบหมายให้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการสวดมนต์ไปตลอดชีวิต โดยจะมีนักบวชประทานพระนามอยู่ข้างหู พร้อมทั้งให้รับน้ำอมฤตด้วย อาหารที่ทารกจะได้รับไปตลอดชีวิตคืออาหารมังสวิรัติซึ่งไม่เบียดเบียนชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งปวงเพื่อนำมาบริโภค และล้วนแล้วแต่เป็นอาหารธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ฉะนั้นศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีทุกครอบครัวจึงใส่ใจและพิถีพิถันเป็นพิเศษในการประกอบอาหารเสมอ โดยส่วนใหญ่ผู้หญิงในครอบครัวจะสวดมนต์ไปด้วยระหว่างทำอาหารทุกมื้อให้ทุกคนในครอบครัวรับประทาน เพราะถือว่าการทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ระหว่างประกอบอาหารนั้นย่อมทำให้อาหารนั้นบริสุทธิ์มากขึ้นไปด้วยเพื่อให้ผู้รับประทานได้รับแต่สิ่งที่ดีต่อร่างกายและจิตวิญญาณในขณะเดียวกัน โดยศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีส่วนใหญ่มักนำอาหารจากที่บ้านไปทานที่ทำงาน หรือโรงเรียนเสมอ

            ทุกเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีจะตื่นและอาบน้ำชำระล้างร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า หลังจากนั้นจะชำระล้างจิตใจด้วยการทำสมาธิสวดมนต์ระลึกถึงพระนามของพระผู้เป็นเจ้าเสมอ และพร้อมที่จะออกไปทำงานด้วยกายและใจที่สงบ มีสติและเป็นสมาธิ เฉกเช่นคำกล่าวที่ว่า “มือประกอบกิจ จิตอาราธนา” การดำเนินชีวิตรวมทั้งการค้าขายก็จะคงไว้ซึ่งคุณธรรมเสมอ โดยไม่เอาเปรียบทุกสรรพชีวิตทั้งทางกาย วาจา และใจ ทั้งนี้ชาวซิกข์-นามธารีล้วนถูกปลูกฝังสั่งสอนให้มีจิตสำนึกต่อพระคุณของแผ่นดินที่พำนักอาศัยเสมอ ไม่ว่าจะประกอบกิจการอันใดมักจะให้ความร่วมมือกับทางการ และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เสมอ เพราะหลักคำสอนของศาสนาในเรื่องการอุทิศตนเพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ (Sewa) และการอุทิศรายได้ร้อยละ 10 ของตนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือนร้อนลำบาก

            ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีมีลักษณะอันโดดเด่นเพราะการแต่งตัว เช่น การโพกศีรษะด้วยผ้าสีขาว การไว้ผมยาว และหนวดเครา ผู้หญิงก็จะไว้ผมยาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาที่ตั้งแต่เกิดมาพวกเขาไม่เคยตัดแต่งใด ๆ เลย ปล่อยไว้ตามธรรมชาติเสมอ ที่ข้อมือของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีทุกเพศทุกวัยจะมีกำไลเหล็กสวมใส่ไว้ คนที่มีลักษณะดังกล่าวเรียกตัวเอง “ซิกข์-นามธารี” และคำเรียกข้างหลังชื่อผู้ชายก็ต้องมีคำว่า “ซิงห์” ซึ่งหมายถึงสิงโต หรือราชสีห์ตามนิยายโบราณว่าเป็นพญาของสัตว์ทั้งหลาย ส่วนผู้หญิงจะมีคำเรียกข้างหลังชื่อว่า “กอร์” ซึ่งหมายถึงหญิงผู้สูงส่ง เพื่อให้เกียรติและยกย่องสตรีเพศ

ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่และอาชีพของตน ชาวไทยมักรู้จักศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีในแถวสำเพ็ง และพาหุรัด เพราะพวกเขาเป็นพ่อค้าขายผ้าเป็นส่วนมาก

            ในเรื่องของคู่ชีวิต ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีส่วนใหญ่ในสมัยก่อนมักจะให้ผู้ใหญ่ในครอบครัวซึ่งมีประสบการณ์ในเรื่องชีวิตคู่มาแล้วช่วยตัดสินใจเลือกคู่ครองให้ ซึ่งโอกาสในการผิดพลาด และเลิกรากันน้อยมาก พิธีมงคลสมรสของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีจะถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายและประหยัด ซึ่งบ่อยครั้งที่มีการสมรสหมู่มากกว่าหนึ่งคู่ และศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีทั้งชายหญิงจะถูกปลูกฝังในเรื่องการใช้ธรรมะควบคู่ไปกับการครองเรือนเสมอ

วิถีชีวิตดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ซึ่งศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีส่วนใหญ่ก็พยายามจะรักษาวิถีชีวิตดังกล่าวไว้ โดยให้ดำเนินไปตามหลักศาสนาทุกวันทั้งในด้านความคิด วิจารณญาณ อาหาร และอาชีพอันสุจริต ความยึดมั่นในคุณงามความดี รวมทั้งคุณธรรม การไม่เบียดเบียนทุกสรรพชีวิต สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีทุกคนได้รับการปลูกฝังให้อยู่อย่างเรียบง่าย และพอเพียงเผื่อแผ่ผู้อื่นเสมอ โดยที่สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ ซึมซับเข้าไปในชีวิตทุกวันจนกลายเป็นความเคยชินในการดำรงชีวิตอันดีงามอย่างไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยากเลย

ศาสดา ศาสนบุคคล

องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ ยี (Sri Satguru Nanak Dev Ji) เป็นผู้สถาปนาศาสนาซิกข์ขึ้น และทรงเล็งเห็นว่าในโลกแห่งกลียุคนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ศาสนิกชนจะต้องได้รับการสั่งสอนชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องจนกว่าจะหลุดพ้นจากวัฎสงสาร จึงได้ทรงดำริให้มีพระศาสดาสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน และจะสืบต่อไปตลอดจนสิ้นกลียุค ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นยุคสุดท้ายของโลกมนุษย์ตามความเชื่อของชาวซิกข์-นามธารี โดยมีรายพระนามดังนี้

พระศาสดาองค์ที่ 1. ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ ยี (Sri Satguru Nanak Dev Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 2. ศิริ สัตคุรุ อังคัต เทพ ยี (Sri Satguru Angad Dev Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 3. ศิริ สัตคุรุ อมร ดาส ยี (Sri Satguru Amar Daas Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 4. ศิริ สัตคุรุ ราม ดาส ยี (Sri Satguru Ram Daas Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 5. ศิริ สัตคุรุ อัรยัน เทพ ยี (Sri Satguru Arjun Dev Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 6. ศิริ สัตคุรุ หัร โคบินด์ ยี (Sri Satguru Har Gobind Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 7. ศิริ สัตคุรุ หัร ราย ยี (Sri Satguru Har Rai Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 8. ศิริ สัตคุรุ หัร กริชัน ยี (Sri Satguru Har Krishan Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 9. ศิริ สัตคุรุ เตค บาฮา ดูร ยี (Sri Satguru Teg Bahadur Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 10. ศิริ สัตคุรุ โคบินด์ ซิงห์ ยี (Sri Satguru Gobind Singh Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 11. ศิริ สัตคุรุ บาลัก ซิงห์ ยี (Sri Satguru Balak Singh Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 12. ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (Sri Satguru Ram Singh Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 13. ศิริ สัตคุรุ หริ ซิงห์ ยี (Sri Satguru Hari Singh Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 14. ศิริ สัตคุรุ ประตาป ซิงห์ ยี (Sri Satguru Partap Singh Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 15. ศิริ สัตคุรุ ยัคยิต ซิงห์ ยี (Sri Satguru Jagjit Singh Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 16. ศิริ สัตคุรุ อูเดย์ ซิงห์ ยี (Sri Satguru Uday Singh Ji)

ศาสนธรรม หลักการทางศาสนา/คำสอน หลักปฏิบัติ

หลักธรรมคำสั่งสอนของศาสนาโดยสังเขป

  • ให้มีศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า และเชื่อว่าพระองค์นั้นมีอยู่จริง ทั้งยังทรงเป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง ตลอดจนยอมรับความเป็นไปทุกอย่างตามธรรมชาติว่าเป็นไปโดยพระประสงค์ของพระองค์

  • ให้เชื่อถือในกฎแห่งกรรมว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดไว้

  • อาบน้ำชำระร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นเป็นประจำทุกวัน

  • เก็บรักษาสัญลักษณ์ 5 อย่าง ซึ่งองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โคบินด์ ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 10) ได้ทรงประทานไว้ให้ติดตัวอยู่เสมอ

  • ให้ดำเนินชีวิตด้วยความพอเพียงเรียบง่ายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ และให้อนุรักษ์ธรรมชาติ

  • รับพระนาม Naam Simran หรือคำสวดมนต์จากองค์พระศาสดา หรือผู้ซึ่งได้รับอนุญาติ เพื่อนำไปสวดชำระล้างจิตใจให้สะอาด ขจัดกิเลสเป็นประจำวันละอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

  • สวดมนต์ฝึกจิตใจให้สงบ รักสันติสุข และมีเมตตาธรรมต่อสรรพชีวิต

  • ให้อ่านพระคัมภีร์ และร้องเพลงสวดสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า เป็นประจำ

  • ให้เกียรติ และความเสมอภาคแก่สตรีในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

  • ให้เกียรติผู้มีคุณธรรม และให้การสนับสนุนแก่ผู้ประพฤติธรรมของทุกศาสนา โดยมุ่งสร้างภราดรภาพ และสัมพันธภาพระหว่างศาสนาทุกศาสนา

  • ให้ประกอบสัมมาชีพโดยสุจริตชอบธรรม และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และให้บริจาครายได้ร้อยละ 10 (Daswant) เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีความเดือดร้อนจำเป็น

  • ให้ครองชีพโดยธรรม และสร้างความรักสามัคคีต่อทุกสรรพชีวิต

  • ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และทุกสรรพชีวิตทั้งทางกาย วาจา ใจ

  • ไม่ลักทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่ฉ้อโกง ฉ้อฉล

  • ห้ามฆ่าสัตว์ และงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด

  • ห้ามทำแท้ง

  • ห้ามดื่มสุรา สูบบุหรี่ และเสพสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษทุกชนิด

  • ไม่ประพฤติตนให้ผิดลูกเมียผู้อื่น ซิกข์-นามธารีจะยอมรับและนับถือภรรยาของผู้อื่นดุจดังพี่สาวน้องสาวหรือมารดา และบุตรีของผู้อื่นเสมือนบุตรสาวของตน

  • ห้ามตัด หรือโกนผม และขนจากทุกส่วนของร่างกาย จะต้องรักษาให้สะอาดเรียบร้อยตามธรรมชาติดังที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานให้

  • ให้รักษาศีลบริสุทธิ์ทั้งทางกาย วาจา และใจ ให้ได้มากที่สุด

  • ล้างมือ และเท้าให้สะอาดทุกครั้งก่อนอ่านพระมหาคัมภีร์ รวมทั้งก่อนสวดมนต์

กิเลสทั้ง 5 ประการ

            ทุกศาสนาต่างล้วนสอนเตือนให้ศาสนิกชนระวังบาป หรือกิเลสอันเป็นหนทางนำมนุษย์ไปสู่ความเสื่อมไว้ ซึ่งศาสนิกชนของศาสนานั้น ๆ ควรจะหลีกเลี่ยง หรือควบคุมกิเลสไว้ให้ได้ เพราะกิเลสสร้างความเสียหายได้เหมือนโรคร้ายที่บ่อนทำลายร่างกาย แต่กิเลสจะสร้างความเสียหายทั้งจิตใจ ร่างกาย และชีวิตของมนุษย์

ในการควบคุม หรือหลีกตนจากกิเลสนั้น ศาสนิกชนพึงรู้ลักษณะ และวิธีซึ่งกิเลสจะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นในชีวิตไว้ เพื่อจะได้ควบคุม หรือระวังตนจากกิเลสเหล่านั้นได้ เพราะกิเลสต่าง ๆ เมื่อเข้าสู่จิตใจแล้วจะทำให้มนุษย์ต้องทนทุกข์ทรมานในการดำเนินชีวิต และยังถือเป็นศัตรูสำคัญของมนุษย์ในการเดินทางสู่หนทางแห่งการหลุดพ้น และเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าด้วย ในศาสนาซิกข์-นามธารี เชื่อว่ากิเลสซึ่งสร้างความเสียหายต่อมนุษย์อย่างรุนแรงนั้นมี 5 อย่าง ได้แก่

  1. ตัณหา (Kaam) (การประพฤติผิดในกาม) เป็นบาปอันละเอียดอ่อน ไม่ให้ผลดีแก่ผู้กระทำผิดเลย นอกจากความอับอายขายหน้า และความทุกข์ทรมาน โดยเฉพาะถ้าไปติดโรคภัยที่ไม่สามารถจะรักษาเยียวยาได้ ศาสนาซิกข์-นามธารีสอนให้ครองชีพครองเรือนเป็นสามีภรรยา และมีครอบครัวของตนเอง โดยยึดมั่นในเรื่องสามี หรือภรรยาเพียงคนเดียว ห้ามมีการนอกใจเด็ดขาด รวมทั้งห้ามคิดอกุศลกับเพศตรงข้ามและควรมองเพศตรงข้ามซึ่งอ่อนวัยกว่าตนเสมือนลูกหลาน ควรมองเพศตรงข้ามซึ่งมีวัยใกล้เคียงกับตนเสมือนพี่น้อง และควรมองผู้สูงอายุกว่าตนเสมือนบิดามารดาของตนเสมอ

  2. ความโกรธ (Kraod) เป็นบาปอันหนึ่งของจิต ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท ความโกรธจะต้องมีขันติ (ความอดกลั้น) เข้ามาควบคุม และมีการให้อภัยเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแล พระผู้เป็นเจ้าทรงสถิตในดวงจิตของทุกคน ฉะนั้นเราไม่ควรทำลายจิตใจของผู้ใดแม้แต่น้อย ควรควบคุมอารมณ์ของตนไม่ให้ใจร้อน และโกรธง่าย

  3. ความโลภ (Lobh) คือความอยากได้ อยากครอบครองทุกสิ่งที่ไม่ใช่ของตน โดยวิถีทางที่ไม่ถูกต้องและยุติธรรม ศาสนาซิกข์-นามธารีสอนให้ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันขันแข็ง ไม่เอาเปรียบผู้ใด ประกอบสัมมาอาชีวะด้วยความสุจริต แล้วแบ่งปันสิ่งที่หามาได้แก่ผู้ยากไร้ ขาดแคลน

  4. โมหะ (Moh) คือความยึดมั่น หลง เกาะติดในวัตถุจนเกินไป เช่น ยึดมั่นในบุตร สามี ภรรยา และทรัพย์สมบัติ ของนอกกายต่าง ๆ เมื่อสิ่งเหล่านั้นสูญสลายจากไป ก็เป็นทุกข์อย่างมหันต์ นอกจากนี้เรายังไม่ควรหลงผิด ไม่งมงายอยู่กับค่านิยมที่ฟุ้งเฟ้อตามสมัย จนลืมหน้าที่อันพึงปฏิบัติของตน

อหังการ (Ahankar) ซึ่งเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายและต้องระวังไม่ให้เกิดขึ้นในดวงจิต เพราะมันก่อให้เกิดความอิจฉาริษยา ความจองหองอวดดี  และความหลง ทำให้ลืมการกระทำที่ดีทั้งปวงได้ในพริบตา การแก้ไขบาปอันเกิดจากการกระทำนี้ คือต้องมีความถ่อมตน ไม่อวดมั่งมี อวดดี อวดเก่ง และไม่ทับถมหรือข่มเหงจิตใจผู้อื่น ต้องยอมให้อภัยแก่ผู้อื่น มีความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น

ประวัติ

ครอบครัวชาวซิกข์-นามธารีครอบครัวแรก ๆ ซึ่งได้มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์แห่งสยามประเทศนั้น เดินทางมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2431 (ค.ศ. 1888) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชการที่ 5 โดยในขณะนั้นยังไม่มีธรรมสถานของชาวซิกข์-นามธารี ต่อมาเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911) นับเป็นครั้งแรกที่ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีในประเทศไทยได้รวมพลังศรัทธาเช่าอาคาร 1-2 คูหา ในซอยย่านบ้านหม้อเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และในปี พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1921) ได้ย้ายธรรมสถานไปที่ถนนเยาวราช

ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964) ด้วยพระเมตตาขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ยัคยิต ซิงห์ ยี ทรงดำริให้ศาสนิกชนร่วมจิตศรัทธาเพื่อซื้อที่ดิน และต่อมาก็ได้ย้ายศาสนสถานมาตั้งอยู่ ณ เลขที่ 127/1 ซอยอโศก สุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110 และต่อมายังได้มีการสร้างธรรมสถานเพิ่มขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งศาสนิกชนชาวซิกข์นามธารีพักอาศัยอยู่มากมาย ทั้งนี้ยังมีชาวซิกข์นามธารีพำนักอาศัย และประกอบสัมมาชีพอยู่มากมายตามภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยแล้ว ศาสนาซิกข์-นามธารีได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นอย่างหาที่สุดไม่ได้จากพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ นับตั้งแต่ครั้งแรกที่มีศาสนิกชนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทั้งยังได้รับความอนุเคราะห์จากส่วนราชการด้วยดีตลอดมา ซึ่งศาสนิกชนทุกคนต่างล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณด้วยความปลื้มปิติอย่างล้นพ้นอันหาที่สุดไม่ได้เสมอมา

โครงสร้างองค์การ

สมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทย ได้รับการรับรองฐานะเป็นองค์การใหญ่ ทางศาสนา ตามระเบียบกรมการศาสนา ว่าด้วยองค์การศาสนาต่าง ๆ พ.ศ. 2512 ซิกข์ นิกายนามธารี โดยมีศาสนาสถาน (วัดนามธารี) ตั้งอยู่เลขที่ 127/1 ซอย อโศก ถนนสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร

โดยมีศูนย์กลางของศาสนาอยู่ในประเทศอินเดีย ตั้งอยู่ที่ อำเภอ Siri Bhaini Sahib จังหวัด Ludhiana รัฐปัญจาบ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อทำการเผยแพร่ศาสนา และ สั่งสอนประชาชนในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน และ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สมาคมนามธารีฯ มีโครงสร้างหลักในองค์การ ประกอบด้วย 1) โครงสร้างทางศาสนา 2) โครงสร้างทางสังคม 3) โครงสร้างที่เป็นสถาบันทางการศึกษา

  1. โครงสร้างทางศาสนา  มีศาสนาสถาน 2 แห่ง คือ ที่กรุงเทพมหานคร และ จังหวัด เชียงใหม่ เพื่อเผยแพร่หลักธรรม และคำสั่งสอนขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (Sri Satguru Ram Singh Ji) และองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ยัคยิต ซิงห์ ยี (Sri Satguru Jagjit Singh Ji) เสริมสร้างความรู้แห่งมิตรภาพ ภราดรภาพระหว่าง นามธารีกับศาสนาต่าง ๆโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เชื้อชาติ ศาสนา และยึดการทานอาหารมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์การศาสนา
  2. โครงสร้างทางสังคม  ดำเนินงานด้านสาธารณะกุศลต่าง ๆโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เชื้อชาติ ศาสนา เช่น ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ ทุนการศึกษา โรงทานวันละ 2 เวลา (เช้า –เย็น) ทุกวัน คลีนิกรักษาโรคฟรี (ทุกวันอาทิตย์)
  3. โครงสร้างทางการศึกษา สมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทย มีโรงเรียนนานาชาติโมเดิร์น กรุงเทพฯ (MISB) อยู่ภายใต้สมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 125-135 ซอยพบมิตร ถนนสุขุมวิท 39 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร  โดยพระประสงค์ขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ยัคยิต ซิงห์ ยี (Sri Satguru Jagjit Singh Ji) ซึ่งจัดตั้ง และเปิดสอนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) จนถึงปัจจุบัน โดยมีนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยม มีนักเรียน มากกว่า 500 คน โดยใช้หลักสูตรโรงเรียนนานาชาติจากประเทศอังกฤษ จดทะเบียนได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ มีหลักปรัชญา คือ “ความรู้ คู่ คุณธรรม” โรงเรียนนานาชาติโมเดิร์น กรุงเทพฯ มีทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่เรียนดี นักเรียนด้อยโอกาสจำนวนมาก ส่วนทางด้านคุณภาพการศึกษาได้รับการยอมรับจากทั้งใน และต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง

การบริหารงาน

โครงสร้างของสมาคมนามธารีฯ ทางด้านการบริหาร และ การดำเนินกิจการสมาคมนั้น เป็นไปตามกฎ และ ระเบียบข้อบังคับ ของสมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทย โดยให้มีคณะกรรมการ ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมให้มีกรรมการจำนวนไม่เกิน 15 คน มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม 13 คน ส่วนกรรมการอีก 2 คน ได้จากการแต่งตั้ง สามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 2 ปี โดยที่การดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 คราว

บุคคลสำคัญ

ตามหลักของศาสนาซิกข์-นามธารีนั้น ศาสนิกชนจะให้ความสำคัญเคารพและศรัทธาสูงสุดต่อเพียงองค์พระศาสดาทุกพระองค์เท่านั้น โดยไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ และให้ถือว่าทุกคนเป็นพี่น้องซึ่งมีสิทธิเท่าเทียมกันเสมอ

ศาสนสถาน

ศาสนสถานซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งศาสนาซิกข์-นามธารี ตั้งอยู่ที่เมือง “ศิริ แภณี ซาฮิบ” (Sri Bhaini Sahib) ในจังหวัดลุเดียนา (Ludhiana) รัฐปัญจาบ (Punjab) ประเทศอินเดีย (India) ซึ่งในปัจจุบันนอกจากจะเป็นที่ประทับขององค์พระศาสดาแล้ว ยังมีศาสนสถาน และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในประวัติศาสตร์ซึ่งศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารี ตลอดจนนักจาริกแสวงบุญจากทั่วโลกมานมัสการ ร่วมบำเพ็ญเพียรสวดมนต์ และอ่านพระคัมภีร์อยู่เป็นประจำ

ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีในประเทศไทยมักเรียกศาสนสถานของตนว่าวัด หรือ “คุรุ ทวารา” (Guru Dwara) ในภาษาปัญจาบีซึ่งหมายถึงประตูสู่หนทางแห่งพระผู้เป็นเจ้า โดยมีสถานที่ตั้งกระจายอยู่ตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่มีศาสนิกชนอาศัยรวมตัวกัน และถือว่า “คุรุ ทวารา” ทุกแห่งล้วนเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

สำหรับในประเทศไทยมี “คุรุ ทวารา” ตั้งอยู่ที่จังหวัดกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 127/1 ซอยอโศก ถนนสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110

และที่จังหวัดเชียงใหม่ “คุรุ ทวารา” ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 2 ถนนช้างม่อย ซอย 1 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50300

บุคคลทุกเพศทุกวัยไม่จำกัดเชื้อชาติ วรรณะ ความเชื่อทางศาสนา และประเพณี สามารถเข้า “คุรุ ทวารา” ได้ โดยก่อนจะเข้าไปทุกคนต้องถอดรองเท้า (ให้คลุมศีรษะของตนด้วยผ้าขาว ในกรณีที่ไม่ได้โพกผ้า) จากนั้นให้เดินอย่างสำรวมเพื่อไปทำความเคารพสักการะต่ออาสนะขององค์พระศาสดา และพระมหาคัมภีร์ แล้วเดินมานั่งแยกฝั่งหญิง และชายเพื่อสวดมนต์ทำสมาธิอย่างสงบบนอาสนะของตนที่ปูบนพื้น (หากนำมาด้วย) โดยเท่าเทียมกันทุกคน นอกจากการสวดมนต์แล้วใน “คุรุ ทวารา” จะมีการเทศนา รวมทั้งร้องเพลงสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า และอ่านพระมหาคัมภีร์

            พระมหาคัมภีร์ “ศิริ อาทิ ครันถ์ ซาฮิบ” (Sri Adhi Granth Sahib) แปลว่า พระมหาคัมภีร์เล่มแรก (คำว่า “ครันถ์” เป็นภาษาสันสกฤต ส่วนคำว่า “คันถ์” เป็นภาษาบาลี มีความหมายเดียวกันว่า คัมภีร์) ถือเป็นพระมหาคัมภีร์หนึ่งในโลกซึ่งเรียบเรียงโดยองค์พระศาสดาเองในขณะที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ภาษาที่ใช้ในการประพันธ์พระมหาคัมภีร์เท่าที่ค้นพบมีหลายภาษา เช่น ภาษาปัญจาบี (Punjabi), ภาษามุลตานี (Multani), ภาษาเปอร์เซียน (Persian), ภาษาปรากฤต (Prakrit), ภาษาฮินดี (Hindi), ภาษามราฐี (Marathi) เป็นต้น

นอกเหนือจากพระมหาคัมภีร์ “ศิริ อาทิ ครันถ์ ซาฮิบ” แล้ว ยังมีพระคัมภีร์ “ทศม ครันถ์” (Dasam Grant) แปลว่า คัมภีร์ของพระศาสดาองค์ที่ 10 ซึ่งรวบรวมข้อเขียนขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โคบินด์ ซิงห์ ยี หลังจากคัมภีร์เล่มแรก 100 ปี (ประมาณปี พ.ศ. 2247 [ค.ศ. 1704]) ที่ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีให้ความสำคัญ และนับถือด้วย

เมื่อศาสนกิจได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว จะมีการแจกสิ่งของ (มักจะเป็นผลไม้ ขนม หรือน้ำนมบรรจุกล่อง) ซึ่งผู้มีจิตศรัทธาได้นำมาถวาย และที่สำคัญจะมีการแจกขนมหวานซึ่งถือว่าได้รับการประสาทพรด้วยการอธิษฐาน (Ardaas) ต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว เรียกว่า “กะร่า ประชาด” (Karah Parshad) ซึ่งทำจากแป้งสาลี น้ำตาล และเนยผสมรวมในอัตราส่วนที่เท่ากัน โดยผู้รับขนมหวานดังกล่าวต้องนั่งกับพื้นอย่างสำรวมเรียบร้อย และใช้มือขวาวางประสานทับบนมือซ้ายเพื่อรับ “กะร่า ประชาด”

ใน “คุรุ ทวารา” นอกจากจะมีพื้นที่สำหรับให้ศาสนิกชนประกอบศาสนกิจแล้ว ยังมี “โรงทาน” (Langar) อยู่ภายในบริเวณด้วย โดยก่อนเข้าโรงทาน ให้ทุกคนถอดรองเท้า และล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร ซึ่งในโรงทานจะบริการอาหารโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับศาสนิกชนทุกคน รวมไปถึงชนทุกเชื้อชาติ ศาสนา อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความเสมอภาค และความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง ในโรงทานแห่งนี้ไม่ว่าผู้เข้ามาจะมีฐานะสูงหรือต่ำ ยากดีมีจน ทุกคนล้วนรับประทานอาหารโดยใช้ จาน ช้อน แก้วน้ำ เหมือนกัน นั่งบนพื้นเสมอภาคร่วมกันเพื่อลบล้างความเชื่อเกี่ยวกับการแบ่งชั้นวรรณะในสังคม และจะมี “อาสาสมัครเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทน” (Sewa Daar) คอยบริการเดินตักอาหาร หรือแจกน้ำดื่มให้ทุกคน และผู้มีจิตศรัทธายังสามารถผลัดเวรกันตักอาหาร แจกน้ำดื่มได้ตามความสมัครใจ ตลอดจนสามารถบริจาคทรัพย์ หรืออาหารสำเร็จรูป รวมไปถึงวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารได้ตามแรงศรัทธาด้วย โรงทานนี้ดำเนินการด้วยความร่วมใจ เสียสละของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีโดยไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทนมากไปกว่าการเติมเต็มความต้องการในด้านอาหารให้แก่ร่างกายของทุกคน

ศาสนวัตถุ

สัญลักษณ์ทั้ง 5 ของศาสนิกชน (5 ก)

            สัญลักษณ์ของศาสนาซิกข์-นามธารี จัดสร้างขึ้นมิได้มีความประสงค์จะทำให้มีการแบ่งแยกศาสนิกชนออกจากกัน แต่เพื่อช่วยให้มีชีวิตร่วมกัน และร่วมมือกันอย่างสามัคคีในสังคมมากขึ้น บางทีอาจจะเป็นไปได้สำหรับบุคคลบางคนที่จะอุทิศตนเองเพื่อพระผู้เจ้าโดยไม่นำเอาแบบแผน และสัญลักษณ์ภายนอกมาใช้ แต่หากเขาคิดจะเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา แสดงความศรัทธาอันมีต่อองค์พระศาสดา รวมถึงการเป็นคนของศาสนา หรือทำงานเพื่อศาสนาแล้วนั้น เขาจะต้องรักษาศาสนวินัยอย่างเคร่งครัด เฉกเช่นนักรบที่ดีต้องฝึกฝน และแต่งเครื่องแบบของกองทัพที่เขาอยู่ให้ถูกต้องครบถ้วนเสมอ จึงจะเป็นผู้นำให้นักรบรุ่นต่อไปเจริญรอยตามได้ ในทำนองเดียวกันนี้ศาสนิกชนที่ดีของศาสนาพึงยึดถือศาสนวินัย อันหมายรวมถึงเครื่องแต่งกาย และสัญลักษณ์เหล่านี้ซึ่งมีส่วนช่วยเหลืออันสำคัญยิ่งต่อองค์กรศาสนาซิกข์-นามธารี

            การกำหนดสัญลักษณ์ทั้ง 5 ของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีนั้นเริ่มมีใช้ครั้งแรกที่เมือง “อนันทปุระ” เมื่อปี พ.ศ. 2242 (ค.ศ. 1699) ซึ่งเป็นพิธีการรับน้ำอมฤตครั้งแรกด้วย โดยองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โคบินด์ ซิงห์ พระองค์ทรงมีบัญชาให้ชาวซิกข์ดำรงรักษาสัญลักษณ์ 5 ประการ “ปัญจะ กะการ” (Panj Kakar) สำหรับชาวซิกข์-นามธารีการปราศจากสัญลักษณ์เหล่านี้เปรียบเสมือนการไร้ตัวตน ซึ่งสัญลักษณ์ทั้ง 5 ไม่เพียงแต่จำเป็นสำหรับการแสดงถึงความเข้มแข็ง และความเป็นหนึ่งเดียวของศาสนิกชนเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าในตัวของแต่ละสัญลักษณ์เอง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปอย่างแพร่หลายในนามของ ห้า “ก” เนื่องจากอักษรแรกของสัญลักษณ์ทั้งห้าเริ่มต้นด้วยอักษร “ก” สัญลักษณ์อันทรงคุณค่าเหล่านี้ประกอบไปด้วย

- กรา (Kara) คือ กำไลข้อมือทำจากเหล็ก ไม่ใช่ทอง เงิน หรืออัญมณีเครื่องประดับอื่นใด มีไว้สวมที่ข้อมือเสมอ สมัยโบราณถือเป็นอุปกรณ์ป้องกันข้อมือขณะรบต่อสู้ ในปัจจุบันถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความอดกลั้น ถ่อมตนและสุภาพ เป็นเครื่องเตือนใจให้ศาสนิกชนรำลึกตลอดเวลาว่าเป็นผู้มีพันธะผูกพันกับองค์พระศาสดา เมื่อใดที่เขามองดูกำไลในมือของตน เขาจะคิดชั่งใจหลายครั้งก่อนที่จะกระทำสิ่งใดซึ่งผิดคุณธรรม ทั้งยังเป็นเครื่องหมาย

- กัจฉา (Kachehra) คือ กางเกงชั้นในขาสั้น ซึ่งเชื่อว่าน่าจะดัดแปลงมาจากการนุ่งโจรงกระเบนซึ่งหลุดง่าย แต่ถูกดัดแปลงให้กระชับรัดกุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งกัจฉานี้ต้องนุ่งไว้ประจำตลอดเวลา

- เกศา (Kes) คือ ผม รวมไปถึงขนคิ้ว ขนตา ขนในส่วนต่าง ๆ ตามร่างกาย และหนวดเครา ซึ่งห้ามดึง ตัด ถอน โกน หรือเล็มรวมถึงย้อมสี โดยเด็ดขาดตลอดชีวิต และต้องรักษาให้สะอาดอยู่เสมอ การรักษาเกศาเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ และเด่นที่สุดของศาสนิกชาวซิกข์-นามธารี

- กังฆา (Kangha) คือ หวีขนาดเล็กซึ่งทำจากไม้ตามธรรมชาติ ไม่มีการทาสี หรือสารเคมีเคลือบเงาใด ๆ ไว้ใช้หวีผมเพื่อรักษาเกศาให้สะอาดเรียบร้อย

- กฤปาน (Kirpan) คือ ดาบ หรือกริช เป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ และการผจญภัย เป็นการแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในตนเอง และพร้อมที่จะปกป้องเกียรติของตน และผู้อื่นจากอธรรม และความอยุติธรรมทั้งปวง ดาบจะใช้เป็นเครื่องปกป้องผู้อื่น ไม่ใช่อาวุธในการรุกราน หรือทำร้ายผู้อื่น แต่ในปัจจุบัน “กฤปาน” ได้ถูกย่อให้เล็กลงเหลือเพียงเป็นสัญลักษณ์ติดอยู่กับหวี (กังฆา) เนื่องด้วยกฎหมายการห้ามพกพาอาวุธในหลายประเทศ

องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ยัคยิต ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 15) ทรงริเริ่มสนับสนุนให้ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีนำเครื่องใช้อีก 5 ประการติดตัวไว้ด้วยเสมอ อันได้แก่

- อาสนะ (Aasern) คือ ผ้าปูรองนั่งเวลาสวดมนต์ทำสมาธิ หรืออ่านพระมหาคัมภีร์

- คัรวะ (Garwa) คือ ภาชนะลูกน้ำเต้าโลหะ ไว้ใส่น้ำบริสุทธิ์ซึ่งได้จากธรรมชาติ เช่น น้ำฝน น้ำจากน้ำตก น้ำบาดาล เป็นต้น เพื่อใช้อุปโภคบริโภคในระหว่างวัน

- คราวะ (Krawa) คือ รองเท้าซึ่งทำจากไม้ตามธรรมชาติ ไม่มีการทาสี หรือสารเคมีเคลือบเงาใด ๆ

- มาลา (Mala) คือ สายประคำถักจากไหมพรมสีขาว ไว้ใช้เมื่อสวดมนต์

- คุทกะ (Gutka) คือ พระคัมภีร์ฉบับย่อ เพื่อใช้อ่านประกอบศาสนพิธีต่าง ๆ และเพื่ออ่านบทพระคัมภีร์ที่ต้องใช้ในศาสนกิจประจำวัน

ศาสนพิธี วันสำคัญทางศาสนา

การสวดมนต์ทำสมาธิ และการอธิษฐาน

ทั้งการสวดมนต์ทำสมาธิ และการอธิษฐานนี้เป็นสิ่งซึ่งขาดเสียมิได้ในชีวิตประจำวันของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารี ทุกคนเมื่อได้รับ "พระนาม" จากองค์พระศาสดา หรือผู้ที่พระองค์ทรงมอบหมายให้แล้วนั้น จะต้องสวดมนต์สรรเสริญพระนามของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงทุกวันด้วยจิตอันเป็นสมาธิ โดยผู้สวดมนต์ห้ามพูดจาสนทนากับผู้อื่นทั้งสิ้น และเมื่อกล่าว "พระนาม" (Naam) 1 ครั้งก็ให้ใช้นิ้วเลื่อนสายประคำสีขาวซึ่งทำจากไหมพรมหรือเรียกว่า "มาลา" (Mala) 1 เม็ดไปเรื่อย ๆ จนครบ 108 ครั้ง ถือว่าครบ 1 รอบ หากสวดมนต์ครบ 1 "มาลา" จะเท่ากับได้กล่าว "พระนาม" ทั้งสิ้น 11,664 ครั้ง

อีกทั้งก่อน และหลังการสวดมนต์ให้ท่อง "บทอธิษฐาน" (Ardaas) นอกจากนี้แล้วบทอธิษฐานยังสามารถกระทำได้ตลอดเวลา เช่น ก่อนออกเดินทางไปนอกบ้าน ก่อนเริ่มกิจการงานมงคล ยามท้อแท้หมดกำลังใจ หรือเผชิญอุปสรรคปัญหา หลังรับประทานอาหารเพื่อเป็นการขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าซึ่งทรงเมตตาประทานอาหารให้เราได้ยังชีพ รวมทั้งส่งความปรารถนาดีแผ่เมตตาให้บุคคลอื่นหรือสรรพชีวิต เป็นต้น

นอกเหนือจากนี้ยังมีการสวด “ภควดี มาลา” (Bhagauti Mala) หรือบทสวดพระแม่ภควดี ซึ่งใช้ “มาลา” ในการสวด โดยท่อง “บทอธิษฐาน” ถึงพระนามของพระศาสดาองค์ปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการนำบทบัญญัติในพระมหาคัมภีร์ “ศิริ อาทิ ครันถ์ ซาฮิบ” มาสวดร่วมกับ “มาลา” ในลักษณะนี้ด้วย

ศาสนกิจประจำวัน

            นอกจากการสวดมนต์ และการอธิษฐานแล้ว ศาสนิกชนควรตื่นนอนแต่เช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น “อมฤตเวลา” (Amrit Wele) เพื่ออาบน้ำชำระล้างร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า และชำระจิตใจด้วยการสวดมนต์รำลึกถึง และสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า ทั้งนี้ยังรวมถึงการอ่านบทพระคัมภีร์ 5 บทในเวลาต่าง ๆ ซึ่งองค์พระศาสดาทรงกำหนดขึ้น อันได้แก่

- ยัปยี ซาฮิบ (Japji Sahib) อ่านในตอนเช้า

- ยาป ซาฮิบ (Jaap Sahib) อ่านในตอนเช้า

- ชาเบิด ฮาซาเร (Shabad Hazare) อ่านในตอนเช้า

- ระเฮราซ (Rahras)  อ่านในตอนเย็นก่อนพระอาทิตย์ตก

- โซเฮละ (Sohila) อ่านก่อนเข้านอน

และศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีควรอ่านพระมหาคัมภีร์ตั้งแต่เริ่มจนจบเป็นประจำทุกเดือน โดยทยอยอ่านทุกวัน จำนวนหน้าแล้วแต่เวลาจะอำนวย อีกทั้งยังควรไป “คุรุ ทวารา” (ศาสนสถาน หรือวัด) อย่างสม่ำเสมอ ศาสนิกชนพึงรักษาสัญลักษณ์ทั้ง 5 ติดตัวไว้ตลอดเวลา และควร “ประพฤติตนเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างสมัครใจ และไม่หวังผลตอบแทน” (Sewa) และต้องประกอบสัมมาชีพสุจริต และ “สละรายได้ของตนร้อยละสิบ” (Daswant) เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น รวมทั้งปฏิบัติตนให้อยู่ในกฎหมาย กฎระเบียบของสังคม และวินัย ข้อห้าม ศีลธรรม ประเพณีต่าง ๆ ของศาสนาเสมอ

พิธีรับน้ำอมฤต

            พิธีรับน้ำ “อมฤต” (Amrit) ครั้งแรกเริ่มขึ้นในสมัยขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โคบินด์ ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 10) ต่อจากนั้นได้มีการสังคายนาขึ้นใหม่ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2400 (ค.ศ. 1857) ณ เมืองศิริ แภณี ซาฮิบ รัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย โดยองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) ได้ทรงพระราชทานโอกาสให้สานุศิษย์ 5 ท่านซึ่งเป็นชายล้วน ได้เข้าพิธีรับน้ำอมฤตเป็นกลุ่มแรก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2406 (ค.ศ. 1863) ณ ตำบล ซิอาฎ จังหวัดลุเดียนา พระองค์ทรงพระราชทานโอกาส และสิทธิให้กับสตรีอย่างเท่าเทียมกับบุรุษเพศ โดยทรงอนุญาตให้สตรีได้มีสิทธิประกอบพิธีรับน้ำอมฤตเป็นครั้งแรกด้วย

พิธีรับน้ำอมฤตถือเป็นพิธีซิ่งสำคัญยิ่งต่อชาวซิกข์-นามธารี โดยทั่วไปจะไม่มีข้อกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้เข้าพิธี เพราะพิธีรับน้ำอมฤตนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตของศาสนิกชนตั้งแต่ลืมตาดูโลก จนกระทั่งจากโลกนี้ไป เช่น สำหรับเด็กเกิดใหม่ สำหรับคุณแม่หลังคลอด สำหรับวัยรุ่นหนุ่มสาว สำหรับผู้จะเข้าประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และสำหรับร่างที่ไร้วิญญาณของศาสนิกชนก่อนถูกนำไปเผา หากผู้ใดพร้อมที่จะให้สัตย์ปฏิญาณที่จะรักษา และปฏิบัติตามข้อบัญญัติคำสั่ง คำสอนที่องค์พระศาสดาทรงประทานไว้ ไม่ว่าชายหรือหญิง สัญชาติใดเผ่าพันธุ์ใดหรือมีฐานะใดในสังคม หากตั้งใจที่จะปฏิบัติตามข้อบัญญัติย่อมมีสิทธ์ที่จะรับน้ำอมฤต และเข้าร่วมในสังคมชาวซิกข์-นามธารี

พิธีมงคลสมรส (Anand Karaj)

            ประเทศอินเดียนั้นมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฮินดูสถาน” เพราะประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งพิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนานั้น มีระบบระเบียบและขั้นตอนต่าง ๆ มากมายอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในสมัยนั้นถือโอกาสแสวงหาผลประโยชน์จากการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ โดยไม่เป็นธรรม

ด้วยเหตุที่องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) ทรงตระหนักถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนในเรื่องนี้ และด้วยพระเมตตาที่มีต่อศาสนิกชน พระองค์จึงได้ทรงกำหนดแนวทาง และพิธีกรรมในการสมรสขึ้นมาใหม่เป็นครั้งแรก โดยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2406 (ค.ศ. 1863) พระองค์ได้เปิดโอกาสให้ศาสนิกชนของพระองค์เข้าพิธีสมรสโดยพร้อมเพรียงกัน 6 คู่ หรือที่เรียกว่า “พิธีสมรสหมู่” เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย

ในรายละเอียดของพิธีกรรมนั้นได้กำหนดให้คู่สมรสเดินรอบกองไฟเพื่อเป็นการปฏิญาณตนว่า นับแต่วันนี้เป็นต้นไปจะครองคู่กันจนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะเสียชีวิต และนำศพไปเผาในกองไฟ โดยในการเดินนั้น เจ้าบ่าวจะเป็นผู้เดินรอบกองไฟนำหน้าเจ้าสาวในแนวทางทวนเข็มนาฬิกา รวม 4 รอบด้วยกัน ซึ่งในขณะเดียวกันนี้ ผู้ประกอบพิธีซึ่งเป็นนักบุญผู้ทรงศีล ก็จะอ่านบทโศลกจากพระมหาคัมภีร์ ศรี อาทิ ครันท์ จำนวนรวม 4 บท ซึ่งในแต่ละบทจะเริ่ม และจบลงพร้อมกับการเดินรอบกองไฟของแต่ละรอบ ซึ่งในพิธีกรรมดังกล่าวนี้ได้ถือเป็นต้นแบบพิธีสมรสของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีทั่วโลกนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้น ประเทศอินเดียในสมัยโบราณยังมีการแบ่งชนชั้นวรรณะ และยึดถือระบบดังกล่าวอย่างเข้มงวด และเพศหญิงมักตกเป็นเหมือนสมบัติสิ่งของที่ถูกยกให้แก่ฝ่ายชายเมื่อคราวต้องแต่งงาน แม้พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะอบรมเลี้ยงดูลูกสาวมาจนเติบใหญ่ เมื่อต้องแต่งงานจากครอบครัว และวิถีชีวิตไปเป็นภรรยาอยู่บ้านเมืองอื่น พ่อแม่ผู้หญิงยังต้องจ่ายค่าสินสอดทองหมั้นตามแต่ฝ่ายชายจะเรียกร้องให้แก่ฝ่ายชายด้วย เมื่อตายจากโลกไปแล้วต้องเผา อนิจจาครอบครัวฝ่ายหญิงก็ต้องเป็นผู้ออกเงินค่าซื้อกองไม้ไปเผาร่างให้ องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี จึงไม่ทรงสนับสนุนให้มีการเรียกร้องสินสอดทองหมั้น รวมทั้งไม่ทรงสนับสนุนให้มีการจัดเลี้ยงงานฉลองที่ฟุ่มเฟือย และยุติประเพณีโบราณต่าง ๆ ซึ่งทำให้สตรีต้องถูกกดขี่ข่มเหง และทรงสนับสนุนสิทธิแก่สตรีด้วย

พิธี ยัป ปัรโย้ค (Jap Paryoke)

            พิธี ยัป ปัรโย้ค หรือสามารถเรียกได้ว่าเป็นช่วงถือศีลประจำปีของชาวซิกข์-นามธารีนั้นถือได้ว่าเป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารี ทั่วโลกโดยมีวัตถุประสงค์หลักในการรวมตัวกันสวดมนต์ทุกเช้ามืด (ช่วงเวลา 03:00-06:00) ของทุกวัน ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี รวมระยะเวลาประมาณ 30-40วัน ภายในศาสนสถานเพื่อน้อมจิตรำลึกถึง องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) เนื่องจากการที่พระองค์ได้ถูกควบคุมตัวไปยังประเทศพม่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2415 (ค.ศ. 1872) โดยรัฐบาลของอังกฤษในสมัยนั้น ได้เข้ามายึดครองประเทศอินเดียซึ่งมั่งคั่งไปด้วยทรัพยากร และเป็นรากฐานแห่งอารยะธรรมอันเก่าแก่ที่สุดในโลก และด้วยเหตุแห่งอุดมการณ์อันสูงส่ง ตลอดจนความแน่วแน่ขององค์พระศาสดาในการริเริ่มวิธีปกป้องพื้นแผ่นดิน และวัฒนธรรมอันดีงามด้วยวิธีอหิงสา หรือการไม่ใช้ความรุนแรง เป็นเหตุให้ประชาชนโดยทั่วไปเริ่มเกิดความเคารพศรัทธาในพระองค์มากขึ้นเป็นลำดับ จนทำให้รัฐบาลต่างชาติในสมัยนั้นได้เล็งเห็นภยันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตนได้ จึงได้ตัดสินใจแก้ปัญหาโดยการเชิญพระองค์ไปควบคุมไว้ยังประเทศพม่านับแต่นั้น ซึ่งองค์พระศาสดาทรงให้คำมั่นสัญญาต่อสานุศิษย์ไว้ว่า “ไม่ว่ามีผู้ใดนำหลักฐานมาแสดงว่าเราได้เสียชีวิตไปแล้วก็ตามจงอย่างได้เชื่อเป็นอันขาด” โดยยังได้ทรงย้ำว่า “จงเชื่อเถิดหากมีผู้กล่าวว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก และตกทางทิศตะวันออก แต่จงอย่าเชื่อเป็นอันขาดหากมีผู้กล่าวว่า เราจะไม่กลับมาอีก เพราะเราจะต้องกลับมาในร่างนี้อีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน” ซึ่งความเชื่อมั่นศรัทธาในการเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่งของพระองค์ ก็ไม่แตกต่างไปจากความเชื่อของศาสนิกชนในศาสนาอื่น ๆ ทั่วโลกซึ่งต่างรอการเสด็จมาขององค์พระผู้เป็นเจ้าเช่นกันนั่นเอง

            พิธี ยัป ปัรโย้ค เป็นพิธีถือศีลสวดมนต์ภาวนาน้อมจิตรำลึกถึงองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในครั้งแรกจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2449 (ค.ศ. 1906) ในสมัยขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ประตาป ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 14) เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยองค์พระศาสดาจะเป็นผู้กำหนดวันเริ่มและวันสิ้นสุดของพิธีในแต่ละปี ซึ่งส่วนใหญ่มักจะกำหนดให้มีขึ้นในช่วงระหว่างฤดูฝนของทุกปี โดยทรงกำหนดศูนย์กลางของการจัดงานอยู่ที่เมือง ศิริ แภณี ซาฮิบ ในรัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย และศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีทั่วโลกที่มีโอกาสได้ไปร่วมพิธีนี้ต่างก็ถือว่าได้เกิดมหามงคลขึ้นในชีวิตตนแล้ว

การรักษาศีลบริสุทธิ์ (Sodh)

            การรักษาศีลบริสุทธิ์ คือการถือศีลรักษาความสะอาด และความบริสุทธิ์ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ ซึ่งตามหลักของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีนั้น มักจะเน้นความสำคัญในการใกล้ชิด หรือผูกพันกับธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ซึ่งการรักษาศีลบริสุทธิ์ทางกายนั้น ได้แก่ การอาบน้ำ การใช้น้ำ การดื่มน้ำ หรือแม้แต่การใช้น้ำในการประกอบอาหารต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้น้ำซึ่งได้มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างเคร่งครัด เช่นน้ำที่ได้มาจากบ่อน้ำบาดาล น้ำฝน น้ำที่ได้มาจากแม่น้ำลำธารที่มีการไหลเวียนตามธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา ส่วนภาชนะที่ใช้ในการประกอบ หรือบรรจุอาหารทุกชิ้นล้วนจำเป็นต้องชำระล้างด้วยน้ำธรรมชาติเช่นกัน ดังนั้นน้ำประปาซึ่งถึงแม้จะมีความสะอาดในระดับหนึ่งแต่เนื่องจากขาดคุณสมบัติด้านความบริสุทธิ์จากธรรมชาติ เนื่องจากมีสารเคมีเจือปนอยู่จึงห้ามนำมาใช้ในระหว่างการรักษาศีลบริสุทธิ์นี้

            ส่วนสิ่งที่จะต้องนำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคนั้น นอกจากจะต้องได้มาจากธรรมชาติแล้ว และต้องไม่ได้มาจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

            ส่วนการรักษาศีลบริสุทธิ์ทางวาจานั้นได้แก่ การเริ่มต้นด้วยการคิดก่อนพูด เพื่อไม่ให้คำพูดที่ออกมามีผลทำร้ายจิตใจผู้อื่น ไม่พูดจาเสียดสี นินทากล่าวร้ายผู้อื่น ไม่พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือห้ามพูดปดอย่างเคร่งครัดที่สุด และประการสุดท้ายซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาศีลบริสุทธิ์คือ เมื่อใดก็ตามที่ว่างเว้นจากการสนทนาให้ขยับริมฝีปากของตนเพื่อการสวดมนต์รำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าเสมอ

พิธีทำวัตรเข้า (Asa Di Vaar)

            ทุกวันในช่วงเวลาเช้ามืดที่ศาสนสถานจะมีการร้องบทสวดในทำนองเพลงเพื่อสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าซึ่งถือเป็นพิธีทำวัตรเช้า (Asa Di Vaar) และจะเสร็จสิ้นลงก่อนเวลาพระอาทิตย์ขึ้นเสมอ

พิธีรับพระนาม (Naam)

       พิธีรับพระนาม (Naam) นั้นถือเป็นพิธีสำคัญของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารี เพราะศาสนิกชนทุกท่านจะได้รับพระนามเพื่อสวดสรรเสริญและรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าเสมอวันละ 1 ชั่วโมงตามคำสั่งสอนขององค์พระศาสดา และเพื่อให้เป็นไปดั่งชื่อ “นามธารี” คือผู้ซึ่งธำรงรักษาไว้ซึ่งพระนามของพระผู้เป็นเจ้า โดยครั้งแรกที่จะได้รับคือเมื่อแรกเกิด หรือเมื่อแรกเข้าเป็นศาสนิกชน เมื่อเข้าพิธีโพกผ้าบนศีรษะ เมื่อเข้าพิธีมงคลสมรส หลังคลอดลูก หรือโอกาสสำคัญอื่น ๆ ตลอดจนแม้กระทั่งเมื่อจิตวิญญาณได้ละร่างกายไปแล้ว

พิธีโพกผ้าบนศีรษะ (Dastaar)

            เด็กชายชาวซิกข์-นามธารี เมื่ออายุถึงเกณฑ์ในวัยเด็กจะเข้ารับพิธีโพกผ้าบนศีรษะครั้งแรกโดยองค์พระศาสดา หรือผู้ได้รับอนุญาตจากพระองค์

อีกทั้งเมื่อบิดาเสียชีวิตลง บุตรชายคนโตในครอบครัวจะเข้าพิธีโพกผ้าบนศีรษะอีกครั้งเสมือนการรับภาระหน้าที่ดูแลครอบครัวทั้งหมดแทนบิดาด้วย

พิธี Hawan พิธี Varni

            พิธี Hawan จะจัดขึ้นในช่วงโอกาสที่เป็นมงคลและสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นบ้านใหม่ การริเริ่มกิจการใหม่ หรือวันสำคัญ ๆ ทางศาสนา โดยจะมีศาสนิกชนผู้รักษาศีลบริสุทธิ์ (Sodh) อ่านพระคัมภีร์ 5 ท่าน คนละบทแตกต่างกันไป และมีอีก 2 ท่านดูแลกองไฟซึ่งทุกคนนั่งล้อมวงประกอบพิธีอยู่

            ส่วนพิธี Varni จะเป็นการสวดมนต์ต่อเนื่อง ซึ่งจะมีศาสนิกชนผู้รักษาศีลบริสุทธิ์ (Sodh) ดูแลกองไฟ 1 ท่านโดยไม่ขาดช่วง ด้วยองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ยัคยิต ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 15) ได้ทรงดำริให้ศาสนสถานของชาวซิกข์-นามธารีในกรุงเทพฯ มีการสวดมนต์ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน เพื่อรำลึกถึงองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12)

พิธีอ่านพระมหาคัมภีร์ทั้งหมดภายใน 48 ชั่วโมง  (Akand Paath)

           พิธีนี้ประกอบขึ้นเพื่อเป็นการให้ศาสนิกชนได้ทบทวนคำสั่งสอนซึ่งองค์พระศาสดาได้ทรงจารึกไว้ในพระมหาคัมภีร์มาถือปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระศาสดาทุกพระองค์ โดยศาสนิกชนสามารถประกอบพิธีนี้ได้ในทุกโอกาสเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยศาสนิกชนจะสลับสับเปลี่ยนหน้าที่กันเพื่ออ่านพระมหาคัมภีร์ตั้งแต่หน้าแรกจวบจนหน้าสุดท้ายภายในเวลา 48 ชั่วโมงนับเริ่มตั้งแต่เวลาที่เริ่มอ่าน

พิธีฌาปนกิจศพ (Saskaar)
            ศาสนาซิกข์-นามธารีมีความเชื่อคำจารึกในพระมหาคัมภีร์ซึ่งกล่าวถึงการเวียนว่ายตายเกิดและการแสวงหาหนทางเพื่อการหลุดพ้นจากสังสารวัฎ เมื่อจิตวิญญาณได้สละร่างแล้ว บุคคลในครอบครัวและญาติจะจัดให้มีพิธีฌาปนกิจ หรือเผาศพแก่ผู้ที่จากไปก่อนพระอาทิตย์ตกภายในเวลา 24 ชั่วโมงหลังจากสิ้นลม (เว้นแต่ในกรณีหากมีเหตุจำเป็นหรือเหตุสุดวิสัยใด) จากนั้นจะมีการนำเถ้าอัฐิไปลอยอังคารในวันรุ่งขึ้น

ทั้งนี้จะมีการจัดพิธีสวดมนต์บำเพ็ญกุศลรำลึกถึงผู้วายชนม์หลังจากนั้นโดยมุ่งเน้นให้จัดแบบเรียบง่าย ซึ่งองค์พระศาสดาทรงสั่งสอนให้ญาติของผู้วายชนม์งดเว้นการร้องไห้เศร้าโศกเสียใจเพราะถือว่าการจากโลกนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

วันสำคัญทางศาสนา

- วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติของพระศาสดาแต่ละพระองค์ (Prakash Diwas)

- วันรำลึกวันคล้ายวันขึ้นประทับครองพระอาสน์สืบทอดความเป็นพระศาสดาแต่ละพระองค์ (Gur Gaddi Diwas)

- วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตของพระศาสดาแต่ละพระองค์ (Jyoti Jyote Diwas)

- ช่วงเทศกาลพิธี ยัป ปัรโย้ค (Jap Paryoke) เพื่อรำลึกถึงองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12)

- วันบุญขึ้นเดือนใหม่ ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งจะจัดขึ้นเดือนละครั้ง (Sangraand)

- วันรำลึกถึงการเสียสละของบรรพบุรุษผู้พลีชีพเพื่อปกป้องคุณธรรมและศาสนา (Shaheeda Da Din)

- วันบำเพ็ญบุญเพื่อรำลึกถึงและมอบเป็นกุศลแก่บรรพชนในครอบครัวผู้ล่วงลับไปแล้ว (Saraad)

            อนึ่ง วันสำคัญต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะคำนวนตามปฏิทินจันทรคติซึ่งมักจะเปลี่ยนไปในแต่ละปีสุริยะปฏิทิน ส่วนในปี พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018) มีวันสำคัญ ดังนี้

Sunday 14 January 2018 Mela Magi Mukatsar อาทิตย์ 14 มกราคม 2561 เทศกาล Magi Mukatsar

Sunday 14 January 2018 Sangrand (Maagh) อาทิตย์ 14 มกราคม 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Maagh

Wednesday 17 January 2018 Shaheedi Mela Malerkotla พุธ 17 มกราคม 2561 วันรำลึกการเสียสละของบรรพบุรุษผู้พลีชีพเพื่อปกป้องคุณธรรมและศาสนา ณ เมือง มาเลโกตเล

Thursday 18 January 2018 Pardesh Gavan – Sri Satguru Ram Singh Ji พฤหัสบดี 18 มกราคม 2561 วันรำลึกถึงวันที่องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) ทรงถูกเชิญไปกักบริเวณนอกประเทศอินเดีย

Monday 22 January 2018 Basant Panchmi & Parkash Diwas Satguru Ram Singh Ji จันทร์ 22 มกราคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12)

Monday 29 January 2018 Parkash Diwas Guru Har Rai Ji จันทร์ที่ 29 มกราคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หัร ราย ยี (พระศาสดาองค์ที่ 7)

Monday 12 February 2018 Sangrand (Phagun) จันทร์ 12 กุมภาพันธ์ 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Phagun

Thursday 1 March 2018 Holi พฤหัสบดี 1 มีนาคม 2561 เทศกาลโฮลี

Thursday 1 March 2018 Hola Start (Sri Bhaini Sahib) พฤหัสบดี 1 มีนาคม 2561 วันเริ่มเทศกาลงานบุญโฮล่า (ณ เมือง ศิริ แภณี ซาฮิบ)

Thursday 1 March 2018 Parkash Diwas Satguru Balak Singh Ji พฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ บาลัก ซิงห์ ยี (พระศาสดาองคืที่ 11)

Sunday 4 March 2018 Parkash Diwas Satguru Partap Singh Ji อาทิตย์ 4 มีนาคม 2561 วันรำลึกวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ประตาป ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 14)

Monday 5 March 2018 Hola Finish (Sri Bhaini Sahib) จันทร์ 5 มีนาคม 2561 วันสิ้นสุดเทศกาลงานบุญโฮล่า (ณ เมือง ศิริ แภณี ซาฮิบ)

Wednesday 14 March 2018 Sangrand (Chet) พุธ 14 มีนาคม 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Chet

Wednesday 21 March 2018 Joti Jot Guru Angad Dev Ji พุธ 21 มีนาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อังคัต เทพ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 2)

Thursday 22 March 2018 Joti Jot Guru Har Gobind Ji พฤหัสบดี 22 มีนาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หัร โคบินด์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 6)

Thursday 29 March 2018 Joti Jot Guru Har Krishan Ji พฤหัสบดี 29 มีนาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หัร กริชัน ยี (พระศาสดาองค์ที่ 8)

Wednesday 4 April 2018 Sri Mata Chand Kaur Ji Diwas พุธ 4 เมษายน 2561 วันรำลึกถึง Mata Chand Kaur Ji

Thursday 5 April 2018 Parkash Diwas Guru Teg Bhadhur Ji พฤหัสบดี 5 เมษายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ เตค บาฮา ดูร ยี (พระศาสดาองค์ที่ 9)

Saturday 7 April 2018 Parkash Diwas Guru Arjan Dev Ji เสาร์ 7 เมษายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อัรยัน เทพ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 5)

Saturday 14 April 2018 Mela Vaisakhi เสาร์ 14 เมษายน 2561 เทศกาล วีสาขี

Saturday 14 April 2018 Sangrand (Vaisakh) เสาร์ 14 เมษายน 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Vaisakh

Monday 16 April 2018 Parkash Diwas Satguru Guru Angad Dev Ji จันทร์ 16 เมษายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อังคัต เทพ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 2)

Sunday 29 April 2018 Parkash Diwas Guru Amar Das Ji อาทิตย์ 29 เมษายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อมร ดาส ยี (พระศาสดาองค์ที่ 3)

Thursday 10 May 2018 Joti Jot Satguru Hari Singh Ji พฤหัสบดี 10 พฤษภาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หริ ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 13)

Monday 14 May 2018 Sangrand (Jeth) จันทร์ 14 พฤษภาคม 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Jeth

Friday 1 June 2018 Satguru Ram Singh: Amrit Administration to Women ศุกร์ 1 มิถุนายน 2561 วันรำลึกวันประกอบพิธีรับน้ำอมฤตแก่สตรี โดยองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12)

Sunday 3 June 2018 First Anand Karaj ceremony anniversary อาทิตย์ 3 มิถุนายน 2561 วันรำลึกการจัดพิธีมงคลสมรสตามแบบชาวซิกข์-นามธารีขึ้นเป็นครั้งแรก

Sunday 17 June 2018 Joti Jot Guru Arjan Dev Ji อาทิตย์ 17 มิถุนายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อัรยัน เทพ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 5)

Friday 15 June 2018 Sangrand (Harh) ศุกร์ 15 มิถุนายน 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Harh

Friday 29 June 2018 Parkash Diwas Guru Har Gobind Ji ศุกร์ 29 มิถุนายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หัร โคบินด์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 6)

Monday 16 July 2018 Sangrand (Sawan) จันทร์ 16 มิถุนายน 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Sawan

Sunday 22 July 2018 Parkash Diwas Sri Satguru Uday Singh Ji อาทิตย์ 22 กรกฏาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อูเดย์ ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 16)

Sunday 5 August 2018 Shaheedi Mela Raikot อาทิตย์ 5 สิงหาคม 2561 วันรำลึกการเสียสละของบรรพบุรุษผู้พลีชีพเพื่อปกป้องคุณธรรมและศาสนา ณ เมือง ไร่โกฎ

Monday 6 August 2018 Parkash Diwas Guru Har Krishan Ji จันทร์ 6 สิงหาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หัร กริชัน ยี (พระศาสดาองค์ที่ 8)

Friday 17 August 2018 Sangrand (Bhadon) ศุกร์ 17 สิงหาคม 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Bhadon

Tuesday 21 August 2018 5 Badro Diwas Joti Jot Satguru Partap Singh Ji อังคาร 21 สิงหาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ประตาป ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 14)

Wednesday 12 September 2018 Joti Jot Guru Ram Das Ji พุธ 12 กันยายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อมร ดาส ยี (พระศาสดาองค์ที่ 3)

Monday 10 September 2018 Dastar Bandi Divas Satguru Jagjit Singh Ji จันทร์ 10 กันยายน 2561 วันรำลึกวันทรงโพกผ้าบนพระเศียร องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ยัคยิต ซิงห์ ยี

Friday 14 September 2018 Mata Bhupinder Kaur Diwas ศุกร์ 14 กันยายน 2561 วันรำลึกถึง Mata Bhupinder Kaur

Saturday 15 September 2018 Shaheedi Mela Amritsar เสาร์ 15 กันยายน 2561 วันรำลึกการเสียสละของบรรพบุรุษผู้พลีชีพเพื่อปกป้องคุณธรรมและศาสนา ณ เมือง อมฤตสระ

Sunday 16 September 2018 Gur-Gaddi Diwas Sri Satguru Ram Singh Ji อาทิตย์ 16 กันยายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันขึ้นประทับครองพระอาสน์สืบทอดความเป็นพระศาสดาขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12)

Sunday 16 September 2018 START OF JAP PRAYOG อาทิตย์ 16 กันยายน 2561 วันเริ่มพิธี ยัป ปัรโย้ค ประจำปี

Monday 17 September 2018 Sangrand (Assu) จันทร์ 17 กันยายน 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Assu

Tuesday 25 September 2018 Joti Jot Guru Amar Das Ji อังคาร 25 กันยายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อมร ดาส ยี (พระศาสดาองค์ที่ 3)

Sunday 30 September 2018 Gur-Gaddi Diwas Guru Angad Dev Ji อาทิตย์ 30 กันยายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันขึ้นประทับครองพระอาสน์สืบทอดความเป็นพระศาสดาขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อังคัต เทพ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 2)

Thursday 4 October 2018 Joti Jot Guru Nanak Dev Ji พฤหัสบดี 4 ตุลาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 1)

Thursday 11 October 2018 Parkash Diwas Satguru Hari Singh Ji พฤหัสบดี 11 ตุลาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หริ ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 8)

Tuesday 16 October 2018 JAP PRAYOG Mela Finish อังคาร 16 ตุลาคม 2561 วันสิ้นสุดพิธี ยัป ปัรโย้ค ประจำปี

Wednesday 17 October 2018 Sangrand (Katak) พุธ 17 ตุลาคม 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Katak

 

Friday 26 October 2018 Parkash Diwas Guru Ram Das Ji ศุกร์ 26 ตุลาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ดาส ยี (พระศาสดาองค์ที่ 4)

Friday 2 November 2018 Joti Jot Guru Har Rai Ji ศุกร์ 2 พฤศจิกายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หัร ราย ยี (พระศาสดาองค์ที่ 7)

Wednesday 7 November 2018 Diwali พุธ 7 พฤศจิกายน 2561 วันเทศกาล ดีวาลี

Thursday 8 November 2018 Bikram Samwat 2074 begins พฤหัสบดี 8 พฤศจิกายน 2561 วันเริ่มศักราชใหม่ปี 2074

Wednesday 21 November 2018 Joti Jot Diwas Guru Gobind Singh Ji พุธ 21 พฤศจิกายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โคบินด์ ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 10)

Wednesday 21 November 2018 Parkash Diwas Satguru Jagjit Singh Ji พุธ 21 พฤศจิกายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ยัคยิต ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 15)

Friday 23 November 2018 Parkash Diwas Satguru Nanak Dev Ji ศุกร์ 23 พฤศจิกายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 1)

Friday 16 November 2018 Sangrand (Maghar) ศุกร์ 16 พฤศจิกายน 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Maghar

Monday 26 November 2018 Shaheedi Mela Ludhiana จันทร์ 26 พฤศจิกายน 2561 วันรำลึกการเสียสละของบรรพบุรุษผู้พลีชีพเพื่อปกป้องคุณธรรมและศาสนา ณ เมือง ลุเดียนา

Wednesday 12 December 2018 Joti Jot Guru Tegh Bhadur Ji พุธ 12 ธันวาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ เตค บาฮา ดูร ยี (พระศาสดาองค์ที่ 9)

Thursday 13 December 2018 Joti Jot Diwas Satguru Jagjit Singh Ji พฤหัสบดี 13 ธันวาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ยัคยิต ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 15)

Thursday 13 December 2018 International Naam Simran Day พฤหัสบดี 13 ธันวาคม 2561 วันสวดมนต์สากลของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีทั่วโลก

Sunday 16 December 2018 Sangrand (Poh) อาทิตย์ 16 ธันวาคม 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Poh

Saturday 22 December 2018 Joti Jot Saturu Balak Singh Ji เสาร์ 22 ธันวาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ บาลัก ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 11)

Sunday 23 December 2018 Shaheedi Diwas Sahibzadas Ajit Singh Ji & Jujhar Singh Ji Shaheedi Diwas อาทิตย์ 23 ธันวาคม 2561 วันรำลึกการเสียสละของ Ajit Singh Ji และ Jujhar Singh Ji (บุตรชายขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โคบินด์ ซิงห์ ยี [พระศาสดาองค์ที่ 10]) ผู้พลีชีพเพื่อปกป้องคุณธรรมและศาสนา

Sunday 23 December 2018 Dastar Bandhi Diwas Satguru Uday Singh Ji อาทิตย์ 23 ธันวาคม 2561 วันรำลึกวันทรงโพกผ้าบนพระเศียร องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อูเดย์ ซิงห์ ยี

Wed 26 December 2018 Sahibzadas Fateh Singh Ji & Zorawar Singh Ji พุธ 26 ธันวาคม 2561 วันรำลึกการเสียสละของ Fateh Singh Ji และ Zorawar Singh Ji (บุตรชายขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โคบินด์ ซิงห์ ยี [พระศาสดาองค์ที่ 10]) ผู้พลีชีพเพื่อปกป้องคุณธรรมและศาสนา

(อ้างอิงข้อมูล: http://kukasikhs.com/kukasikhs-wp/wp-content/uploads/2018/01/namdhari-calendar2018.pdf)

สถิติผู้นับถือศาสนาซิกข์

ปัจจุบันสาธารณรัฐอินเดียมีประชากรประมาณ 1,300 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของโลก มีผู้นับถือศาสนาซิกข์ในประเทศประมาณ 1.9% ของจำนวนประชากร หรือประมาณ 20 ล้านคน ศาสนาซิกข์ทุกนิกาย ถึงแม้จะเกิดมาไม่นานนักแต่จำนวนศาสนิกชนของศาสนาก็มีมากถึงประมาณ 40 ล้านคน โดยอาศัยกระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ สิงคโปร์ ฮ่องกง และไทย เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทยนั้นมีชาวซิกข์-นามธารีพักอาศัย และประกอบสัมมาชีพอยู่ ซึ่งกระจายอยู่ตามจังหวัดใหญ่ ๆ โดยส่วนใหญ่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร

            ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารี ต่างล้วนมุ่งปฏิบัติธรรม อุทิศตนด้วยความกล้าหาญเพื่อพระผู้เป็นเจ้า ศาสนิกชนส่วนใหญ่มีความกล้าหาญมากโดยดูจากประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้เพื่อความดีงาม และคุณธรรมซึ่งได้แสดงให้ชาวโลกประจักษ์ถึงความกล้าหาญจนอาจกล่าวได้ว่า ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีมีความเข้มแข็ง และเป็นศูนย์รวมพลังของศาสนิกชนที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรชั้นนำของอินเดีย นักการเมือง นักกีฬาซึ่งสร้างชื่อเสียงให้แก่อินเดีย นักอุตสาหกรรม แพทย์ นักดนตรีสังคีตศิลป์ระดับแนวหน้า ทั้งนี้ด้วยการทุ่มเทกายใจ มีวิริยะอุตสาหะในการทำงานอย่างหนัก และเสียสละเพื่อส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ด้วยเอกลักษณ์ของความสามารถนี้เองทำให้ศาสนิกชนส่วนมากจึงประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตไม่ว่าจะไปตั้งถิ่นฐานในส่วนใดของโลก

สถานที่ตั้งและการติดต่อ

ตั้งอยู่เลขที่ 127/1 ซอยอโศก สุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ

สมาคมศรีคุรุสิงห์สภา

ประวัติ
การที่ชาวซิกข์ได้เข้ามาพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมากขึ้น จึงนำไปสู่การมีศาสนสถานแห่งแรกของชาวซิกข์ในกรุงเทพฯ เพื่อประกอบกิจกรรมทางศาสนา โดยตั้งอยู่ บริเวณถนนบ้านหม้อ เนื่องจากในสังคมของชาวซิกข์ คำสอนทางศาสนาเน้นถึงความร่วมมือ และการให้ความช่วยเหลือกันภายในชุมชน นอกจากนั้นในคำสอนยังระบุว่าในที่ใดซึ่งมีชาวซิกข์ มากกว่าสองครอบครัวมาอยู่ร่วมกัน ที่นั้นควรมีสถานที่เพื่อประกอบกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน แต่ศาสนสถานของชาวซิกข์ไม่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างในรูปลักษณะที่เป็นศาสนสถานถาวร ถ้ายังไม่มีปัจจัยที่จะก่อสร้างชาวซิกข์สามารถใช้สถานที่ใดๆ ก็ได้เป็นศาสนสถาน แต่บริเวณนั้นต้องสะอาดและมีที่ประดิษฐานพระมหาคัมภีร์ซึ่งถือเป็นตัวแทนของพระศาสดา โดยที่ประดิษฐาน พระมหาคัมภีร์จะสร้างเป็นแท่นหรือยกพื้นสูงกว่าบริเวณโดยรอบเหนือแท่นมีผ้าดาดอยู่เบื้องบน บริเวณใดที่มีพระมหาคัมภีร์ตั้งอยู่บริเวณนั้นถือว่าเป็นศาสนสถานของชาวซิกข์ได้ ดังมีหลักฐาน ปรากฏจากเรื่องราวที่ชาวซิกข์ได้ทำการบันทึกถึงศาสนสถานแห่งแรกของพวกตนไว้ว่า เมื่อชาวซิกข์เข้ามาอยู่มากขึ้น ศาสนสถานแห่งแรกจึงถูกกำหนดขึ้น กล่าวคือ ศาสนิกชนชาวซิกข์ ได้เช่าบ้านเรือนไม้ 1 คูหาที่บริเวณบ้านหม้อ ในปี ค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) โดยขอเช่าจากเจ้าของบ้าน ด้วยค่าเช่าเพียงเล็กน้อย จากนั้นก็ได้ตกแต่งให้เหมาะสมและดำเนินศาสนกิจได้ในไม่นาน แต่เนื่องจากยังไม่มีความสะดวกใจในการประกอบ ศาสนกิจบางประการศาสนิกชนจึงประกอบ ศาสนกิจกันเองอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ต่อมาเมื่อสังคมซิกข์เติบโตขึ้น ศาสนิกชนก็ได้ย้ายจากที่เดิม มาเช่าบ้านหลังใหญ่กว่าเดิมและสัญญาเช่าระยะยาวกว่าเดิม ณ หัวมุมถนนพาหุรัดและถนน จักรเพชรปัจจุบัน หลังจากตกแต่งแก้ไขจนสามารถประกอบศาสนกิจได้แล้ว ก็พร้อมใจกันอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อาทิครันถ์ มาประดิษฐานเป็นประธาน และสวดมนต์ปฏิบัติศาสนกิจเป็นประจำทุกวันไม่มีวันหยุด นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1913 (พ.ศ.2456) เป็นต้น เป็นเวลาหลายปี
เมื่อชุมชนขยายตัวขึ้น ชาวซิกข์เห็นถึงความจำเป็นต้องมีศาสนสถานถาวรแทนการเช่าสถานที่เพื่อทำเป็นศาสนสถาน ดังนั้น ใน พ.ศ.2475 ชุมชนซิกข์ในกรุงเทพฯ จึงรวบรวมเงินกันเพื่อจัดซื้อที่ดินและก่อสร้างศาสนสถานของตนขึ้น ดังมีรายละเอียดอยู่ในหนังสือรายงานการอุปถัมภ์ศาสนาอื่น (ศาสนาซิกข์) มีความว่า ต่อมาในปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ศาสนิกชนชาวซิกข์ได้รวบรวมเงิน เพื่อซื้อที่ดินผืนหนึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ ด้วยจำนวนเงิน 16,200 บาท และออกแบบแปลนก่อสร้างเป็นตึกสามชั้นครึ่งด้วยจำนวนเงินอีกประมาณ 25,000 บาท สร้างตึกใหญ่เป็นศาสนสถานถาวรใช้ชื่อว่า “ศาสนสถาน ศรีคุรุสิงห์สภา” (ศูนย์รวมซิกข์ศาสนิกชนในประเทศไทย)
ศาสนสถานศรีคุรุสิงห์สภานี้ได้ดำเนินการสืบเนื่องต่อมา ดังจะเห็นได้จากคำร้องขอจดทะเบียนสมาคมศรีคุรุสิงห์สภาของนายอักมานซิงห์ที่ได้ให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อขอจดทะเบียนสมาคมเป็นนิติบุคคล ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของศาสนสถานแห่งนี้ว่า ข้าฯ นับถือศาสนาซิกข์ มีโบสถ์เพื่อบำเพ็ญศาสนาอยู่ที่ตำบลพาหุรัด ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2486 ข้าฯ และเพื่อนชาวอินเดียด้วยกันได้ปรึกษากันว่า การเป็นโบสถ์เพื่อประกอบศาสนกิจนี้ เป็นการภายในเงียบๆ ไม่ค่อยมีใครรู้จักจึงต้องการให้มีชื่อเสียงและรู้จักกันทั่วๆ จึงคิดตั้งเป็นสมาคมขึ้นโดยใช้ชื่อว่า “ศรีคุรุสิงห์สภา” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของโบสถ์นี้
ศาสนสถานแห่งนี้ชาวซิกข์ได้ดำเนินกิจกรรมทางศาสนาสืบเนื่องมาตลอดเวลา นับจากวันที่ก่อตั้ง ไม่เว้นแม้ในช่วงเวลาที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในช่วงเวลานั้น ทางสัมพันธมิตรได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเพื่อโจมตีโรงไฟฟ้าวัดเลียบระเบิดบางส่วนได้พลาดเป้าหมายและตกมาทำความเสียหายให้กับบริเวณศาสนสถานของชาวซิกข์ และในช่วงเกิดสงครามศาสนสถานแห่งนี้ยังเป็นที่ พักของชาวอินเดียหลายกลุ่มที่ต้องการที่พักอาศัยชั่วคราวระหว่างสงครามด้วย คำร้องขอจดทะเบียนสมาคมของนายอักมานซิงห์สอดคล้องกับผลการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งไปสืบพฤติการณ์ วัตถุประสงค์และความประพฤติของกรรมการตลอดจนสถานที่ตั้งของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา ซึ่งมีความว่า
(1) สถานที่ตั้งสมาคมศรีคุรุสิงห์สภาตั้งอยู่ที่หลังวัดราชบูรณะมหาวิหาร (วัดเลียบ) เดิมสถานที่นี้เป็นวัดของพวกซิกข์ ซึ่งใช้เป็นที่ประกอบกิจการศาสนาของพวกซิกข์มานาน มีทางเข้าออกทางด้านถนนมหาไชย ซึ่งเป็นตรอกทางเดินเท้าตรงข้ามกับร้าน ช.รัตนะ สถานที่นี้เป็นตัวตึก 3 ชั้น ซึ่งขณะนี้กำลังถูกซ่อมแซม เนื่องจากการถูกโจมตีทางอากาศคราวที่แล้ว มีบางสิ่งที่ได้รับความเสียหายเช่นตัวตึกทางบันไดชำรุด เฉพาะเนื้อที่ดินที่ปลูกสร้างนี้ ทางพวกซิกข์ได้ซื้อไว้เป็นจำนวนเงิน 16,000 บาท นานหลายปีแล้ว และได้มอบจัดให้เป็นสมบัติของวัดพวกซิกข์ มีทางเข้าออกสะดวกสบาย
(2) วัตถุประสงค์ของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา เท่าที่สืบทราบในขณะนี้ คือ การเผยแพร่ศาสนาต่อชนชาวซิกข์อบรมศีลธรรมจรรยา และให้การศึกษาช่วยเหลือผู้ตกยากอนาถา และก่อให้เกิดความสามัคคี ทั้งยังเป็นที่รวมปรึกษาหารือกิจการต่างๆ
(3) ความประพฤติของคณะกรรมการผู้ก่อการจัดตั้งสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา ส่วนมาก ทุกคนมีความประพฤติเรียบร้อย ไม่ก่อกวนความสงบ และไม่ทำให้เกิดความยุ่งยากแก่การปกครอง
ผลจากการสืบสวน ทำให้กรมตำรวจจดทะเบียนสมาคมให้ตามใบอนุญาตจดทะเบียนสมาคม ลำดับ จ. 271 ลงวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2489 โดยวัตถุประสงค์ของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา ตามที่จดทะเบียนไว้มี 7 ข้อด้วยกัน คือ
(1) ทำการเผยแพร่ศาสนาซิกข์
(2) บำเพ็ญความสามัคคี
(3) ทำหนทางเขยิบความเป็นไปของสังคมให้ขึ้นระดับสูง
(4) อำนวยการศึกษาของเด็กชนชาติซิกข์
(5) ทำการบรรเทาทุกข์คนจนและคนอนาถา
(6) เผยแพร่วัฒนธรรมของชนชาติซิกข์
(7) ดูแลกิจการและจัดการทรัพย์สินของศรีคุรุสิงห์สภา
การดำเนินงานของสถาบันทางศาสนาซิกข์ในไทย จากที่ศึกษามาอาจกล่าวได้ว่ามีความสืบเนื่องมาพร้อมกับการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวซิกข์ในประเทศไทย และมีพัฒนาการขึ้นตามความเติบโตของชุมชนซิกข์ในไทย ดังจะเห็นได้จากการเช่าสถานที่เพื่อประกอบกิจการทางศาสนาในระยะแรก จนสามารถก่อตั้งศาสนสถานถาวรในกรุงเทพฯ ได้ใน พ.ศ.2475 นอกจากนั้น ยังมีศาสนสถานของชาวซิกข์ตามที่ต่างๆ ในประเทศไทยอีก 16 แห่ง ตามจังหวัดที่มีชาวซิกข์อาศัยอยู่ การดำเนินงานของศาสนสถานทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดนั้น เป็นการดำเนินงานภายใต้การดูแลของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา (ซึ่งเป็นศูนย์รวมซิกข์ศาสนิกชนในประเทศไทย) โดยศาสนาซิกข์เป็นหนึ่งในห้าศาสนาที่รัฐรับรอง และสามาคมศรีคุรุสิงห์สภาได้รับการรับรองจากรัฐบาลให้เป็นองค์การทางศาสนา เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2512 ซึ่งจะกล่าวเกี่ยวกับบทบาทการดำเนินงานของสมาคมในประเทศไทย

โครสร้างองค์การ

การบริหารงาน
(1) การดำเนินงานด้านบริหารและจัดการศาสนา
การดำเนินงานของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา นอกจากจะดำเนินการในฐานะสถาบันทางศาสนาแล้ว สมาคมยังมีบทบาททาง ด้านสังคมด้วยดังจะเห็นได้จากวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสมาคม ที่ได้รวมหน้าที่ทางด้านการจัดการศึกษา และการบรรเทาทุกข์คนจนและคนอนาถาเข้าเป็น ส่วนหนึ่งของวัตถุประสงค์โดยสมาคม จัดสถานศึกษา สำหรับเยาวชนซิกข์และเยาวชนทั่วไป จัดการสอนภาษาปัญจาบีในอักขระวิธีคุรุมุขคี และสอนประวัติ ศาสนาซิกข์ นอกจากนั้นสมาคมยังดำเนินการในด้านอื่นๆ เพื่อทำหน้าที่ในฐานะศูนย์กลางศาสนิกชนในไทย ตามวัตถุประสงค์ที่สมาคมฯ ได้ปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับการดำเนินงานใน พ.ศ.2536 วัตถุประสงค์ ของสมาคมจึงเพิ่มจาก 7 ข้อ ใน พ.ศ. 2489 เป็น 18 ข้อในปัจจุบัน ดังมีรายละเอียดของวัตถุประสงค์ ที่เพิ่มขึ้นดังต่อไปนี้
ก. เผยแพร่คำสั่งสอนของพระศาสดาทั้งสิบพระองค์ของซิกข์ (คือพระศาสดาคุรุนานัก ถึง พระศาสดาคุรุโควินทสิงห์) และพระคัมภีร์คุรุครันถ์ซาฮิบ
ข. ดูแลจัดการศาสนสถานของซิกข์ที่มีอยู่แล้ว และจัดตั้งศาสนสถานใหม่ตามต้องการ
ค. จัดการแปลและพิมพ์พระคัมภีร์ และหนังสืออันเป็นการรับรองออกแพร่ในภาษาต่างๆ ตลอดจนหนังสือใหม่ๆ
ง. ใช้การพูด และปริทัศน์เผยแพร่ธรรมและจริยศึกษาเพื่อประโยชน์สุขของสังคมมนุษย์
จ. อำนวยการเฉลิมฉลองของวันสำคัญทางศาสนา และจัดชุมนุมทางศาสนาประจำวัน
ฉ. จัดบริการที่พักอาหารให้แก่เหล่าศาสนาจารย์ที่ประจำอยู่ ณ สมาคมและผู้ที่ทางคณะกรรมการของสมาคมฯ เห็นสมควร
ช. เพื่อแพร่ธรรมและความเจริญของสังคม โดยจัดให้มีศาสนาจารย์และคณะสังคีตจารย์ในโอกาสต่างๆ
ซ. ส่งนักเรียน นักศึกษา นักประพันธ์ นักปาฐกถา วิทยากร ฯลฯ ผู้เหมาะสมไป ศึกษาค้นคว้าศาสนาและสังคมซิกข์ตามศูนย์ซิกข์ต่างๆ ตามโอกาสอันเหมาะสม
ฌ. จัดตั้งสถานศึกษาในทุกระดับ และจัดการส่งเสริมเพื่อการศึกษาของนักเรียน นิสิตนักศึกษาให้ทัน และเกื้อกูลเพื่อการศึกษาติดต่อ และมีสัมพันธภาพอันดีงามกับสถานศึกษาต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ให้คงไว้ซึ่งความเชื่อมั่นในธรรมวินัย ย้ำความสำคัญแห่งศาสนบัญญัติของพระศาสดาคุรุโควินทสิงห์ จัดให้มีพิธีรับอมฤตแก่ผู้ประสงค์จะเข้ารับกรรมสิทธิ์ในซิกข์ศาสนสถานทุกแห่งในศาสนสมบัติตลอดจนในทรัพย์สินต่างๆ ทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยของซิกข์ศาสนสถานที่ตั้งแล้ว ทั้งที่จะก่อตั้งโดยอยู่ในกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิคุรุดวาราศีคุรุสิงห์สภา ซึ่งอาจมีอุปถัมภ์ศาสนกิจและศาสนิกชนตามศาสนสถานเหล่านั้น และจัดตั้งกรรมการบริหารและศาสนาจารย์ประจำ
ญ. อำนวยการสอนภาษาปัญจาบีในอักขระวิธีคุรุมุขคี และประวัติศาสนาซิกข์
ฎ. ให้มีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล และองค์การศาสนาอื่นๆ
ฏ. ดำเนินการ “ครัวพระศาสดา” ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
ฐ. เผยแพร่ธรรม และให้ความร่วมมือกับสถาบันศาสนาต่างๆ
ฑ. บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่มนุษย์ทั่วไป
ฒ. อำนวยการจัดศาสนพิธีให้แก่ซิกข์ศาสนิกชนทุกประการ
ณ. เมื่อมีความจำเป็นและเหมาะสม สามารถจัดตั้งคณะกรรมการบริหาร และอนุกรรมการต่างๆ หรือมูลนิธิ เพื่อให้ดำเนินกิจการของสมาคมฯ ได้ด้วยดีตาม
วัตถุประสงค์
จากวัตถุประสงค์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้สมาคมศรีคุรุสิงห์สภาที่กรุงเทพฯ มีอำนาจดูแล จัดการศาสนสถานของชาวซิกข์ที่มีอยู่แล้ว และจัดตั้งศาสนสถานแห่งใหม่ตลอดจนรับกรรมสิทธิ ในซิกข์ศาสนสถานทุกแห่งในศาสนสมบัติตลอดจนในทรัพย์สินต่างๆ ทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหา ริมทรัพย์ในประเทศไทย ซึ่งวัตถุประสงค์ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นการให้อำนาจแก่สมาคมศรีคุรุสภาในฐานะ ที่สมาคมได้รับการรับรองจากกรมการศาสนาว่าเป็นองค์การใหญ่ทางศาสนา ตามระเบียบของ กรมการศาสนา ว่าด้วยองค์การศาสนาต่างๆ พ.ศ.2512 ซึ่งความหมายของ “องค์การใหญ่ทางศาสนา” ตามระเบียบนี้ หมายถึง หน่วยงานที่องค์การศาสนาได้จัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยเหลือในการปกครองดูแลศาสนิกชนในศาสนานั้น การที่กรมการศาสนาจะรับรององค์การใดว่าเป็น องค์การศาสนาในประเทศไทยนั้นจะพิจารณา ในหลักการสำคัญต่อไปนี้ คือ ก. หลักธรรมคำสอนมีลักษณะเป็นศาสนาหนึ่งต่างหากจากศาสนาอื่นโดย
สมบูรณ์ในทางศาสนศาสตร์
ข. ปรากฏในสำมะโนประชากรว่ามีพลเมืองนับถือไม่น้อยกว่าห้าพันคน
ค. คำสอนและวิธีการสอนไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย แห่งราชอาณาจักรไทยเป็นกิจการทางศาสนา ไม่แอบแฝงด้วยลัทธิการเมือง และวัตถุประสงค์อย่างอื่น
(2) หลักเกณฑ์ที่สำคัญในการเป็นสมาชิก
กรณีของศาสนซิกข์ เมื่อสมาคมศรี คุรุสิงห์สภาได้รับการรับรองให้เป็นองค์การใหญ่ ทางศาสนาของศาสนาซิกข์ จึงมีหน้าที่ดูแลคุรุดวารา ทุกแห่งของศาสนาซิกข์ที่อยู่ในประเทศไทย โดยผู้ที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการในนามของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา คือ คณะกรรมการบริหาร สมาคมอันประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารสมาคมจำนวน 15 ท่าน ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งวาระละหนึ่งปี ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร และผู้มีสิทธิ รับเลือกต้องเป็นสมาชิกของสมาคมฯ หลักเกณฑ์ที่สำคัญในการเป็นสมาชิกประกอบด้วย
ก. เป็นผู้ที่มีอายุ 18 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป มีถิ่นฐานและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลหรือในจังหวัดข้างเคียง และต้องมีบัตรประจำตัว หรือใบต่างด้าว
ข. ผู้ที่มีความเชื่อมั่น และยึดถือพระศาสดาแห่งศาสนาซิกข์ทั้ง 10 พระองค์ (ตั้งแต่พระศาสดาคุรุนานัก ถึง พระศาสดาคุรุโควินท์สิงห์) และพระมหาคัมภีร์คุรุครันถ์ซาฮิบเป็นสรณะเท่านั้น และทำพิธีกรรมทุกอย่างดำเนินชีวิตตามหลักและประเพณีของศาสนาซิกข์ มีสามารถสมัครเป็น สมาชิกสามัญได้
ค. ให้ยื่นใบสมัครตามแบบชำระค่าสมาชิกตามที่กำหนด (ค่าสมาชิก 10 บาทต่อปี หรือ 100 บาทตลอดชีพ) และเมื่อได้รับความเห็นชอบ และอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารแล้ว จึงจะได้เป็นสมาชิกสมทบ
ง. สมาชิกสมทบตามข้อ 3 จะได้รับการเป็นสมาชิกสามัญโดยสมบูรณ์ หลังจาก 6 เดือน นับจากวันที่ได้เป็นสมาชิกภาคสมทบ
จ. สมาชิกผู้ใดเป็น “ปติตะ” (เช่น ตัดผม โกนผม หนวดเครา และละเมิด วินัยแห่งศาสนาซิกข์) หรือได้ประพฤติขัดและผิดกับกฎ และข้อบังคับของสมาคมฯ ให้ถือว่าขาดจาก การเป็นสมาชิกภาพ
ฉ. ผู้ที่เป็นบุคคลล้มละลายตามคำสั่งศาล ผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุกเป็นผู้ที่มี ความประพฤติ และปฏิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสีย หรือผู้ที่ทำการก่อกวน หรือกระทำการกระด้างกระเดื่อง หรือก่อเหตุอันไม่สมควรต่อสมาชิก และคณะกรรมการให้บุคคลนั้นพ้นจากการเป็นสมาชิกสามัญทันที คณะกรรมการบริหารที่มาจากเลือกตั้ง จะทำการเลือกในที่ประชุมใหญ่สมาชิกสามัญ ในวันใดวันหนึ่งที่เหมาะสม ภายในเดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคม โดยคณะกรรมการบริหาร ซึ่งอยู่ในวาระจะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง ปกติจะเป็นวันอาทิตย์ เพื่อให้สะดวกแก่สมาชิกสมาคมที่จะมาใช้สิทธิ เมื่อกำหนดวันแล้ว คณะกรรมการบริหารจะแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งจำนวน 5 ท่าน กำหนดให้ 2 ใน 5 ท่านต้องมาจากกรรมการมูลนิธิคุรุดวาราศีคุรุสิงห์สภา หรือคณะทรัสตีแห่งคุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา เมื่อได้กรรมการอำนวยการเลือกตั้งครบ 5 ท่านแล้ว ทั้ง 5 ท่านจะประชุมเพื่อแต่งตั้งกรรมการเพิ่มอีก 2 ท่าน รวมเป็นคณะกรรมการ 7 ท่าน จึงจะถือว่า เป็นคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งที่สมบูรณ์ จากนั้น คณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งจะรับรายชื่อสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงจากคณะกรรมการบริหาร 10 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง
ในวันเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งเป็นผู้แจ้งคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเลือกตั้ง และวิธีการเลือกตั้ง โดยให้สมาชิกสามัญแต่ละท่านมีสิทธิเสนอ หรือรับรองชื่อของผู้สมควรได้รับเลือกเป็น กรรมการได้ท่านละหนึ่งชื่อ ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ต้องมีผู้ถูกเสนอชื่อไม่ต่ำกว่า 18 ชื่อ และไม่เกิน 25 ชื่อ จากนั้น สมาชิกแต่ละคนจะลงคะแนนเลือกคณะกรรมการ บริหารได้ไม่เกินท่านละ 12 ชื่อ จากรายชื่อ ที่มีผู้เสนอมา หากสมาชิกท่านใดเลือกเกิน 12 ชื่อ ถือว่าเป็นบัตรเสีย ผู้ที่ได้รับการเลือกมากที่สุด 12 ชื่อแรก เป็นผู้ที่ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภาต่อไป คณะกรรมการบริหารนี้มีวาระหนึ่งปี และสามารถเป็นติดต่อกันได้ไม่เกิน 3 สมัย (3 ปี) หากผู้ใดเป็นกรรมการบริหารครบ 3 สมัยแล้ว ต้องเว้นระยะ อย่างน้อย 1 สมัย จึงสามารถกลับมาเป็นกรรมการบริหารสมาคมได้อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการผูกขาด อำนาจการบริหารสมาคม ไม่ให้อยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนานเกินไป คณะกรรมการบริหารที่ได้รับเลือกตั้งมาทั้ง 12 ท่าน ต้องประชุมกันเพื่อสรรหาผู้ที่เหมาะสมอีก 3 ท่าน มาทำงานร่วมด้วย โดยจะพิจารณาจาก คุณสมบัติว่าคณะกรรมการที่ได้รับเลือกมาทั้ง 12 ท่าน ต้องการผู้มีคุณสมบัติใดมา เพิ่มอีกจะเลือกจาก คุณสมบัติที่ต้องการนั้น เพื่อให้ได้คณะกรรมการบริหารสมาคมครบ 15 ท่าน ตามข้อบังคับ คณะกรรมการ บริหารของสมาคมฯ มีหน้าที่ปฏิบัติงานให้บรรลุจุดมุ่งหมายของสมาคม และถือว่าการทำหน้าที่ คณะกรรมการนี้เป็นการทำงานโดยจิตศรัทธา และไม่ได้รับเงินเดือน หรือค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น โดยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา(กรุงเทพฯ) แม้จะมี อำนาจในการดูแลจัดการศาสนสถานของซิกข์ที่มีอยู่แล้วตามวัตถุประสงค์ข้อ 2 แต่โดยสภาพความ เป็นจริงทางสมาคมฯ ที่กรุงเทพฯ จะให้อำนาจการดูแลจัดการศาสนสถานของชาวซิกข์หรือ คุรุดวารา แก่คณะกรรมการของศรีคุรุสิงห์สภาในท้องถิ่นแต่ละแห่ง เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการดูแลคุรุดวาราเหล่านั้นเอง การได้มาของคณะกรรมการบริหารของศรีคุรุสิงห์สภาในต่างจังหวัดนั้นมีที่มาเหมือนกับ ทางกรุงเทพฯ เนื่องจากได้นำกฎและข้อบังคับของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภาที่กรุงเทพฯ ไปประยุกต์ใช้ อาจมีความแตกต่างกัน เฉพาะจำนวนกรรมการ และวาระการดำรงตำแหน่ง เนื่องจากชุมชนของชาวซิกข์ในต่างจังหวัด มีขนาดเล็กกว่าในกรุงเทพฯ ดังนั้น จำนวนกรรมการอาจมีจำนวนน้อยกว่า กรุงเทพฯ ขณะที่วาระการดำรง ตำแหน่งอาจนานกว่าเป็นวาระละ 2 ปี ดังกรณีของคุรุดวาราที่ภูเก็ต ซึ่งมีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2459 ที่แสดงให้เห็นว่ามีชาวซิกข์ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภูเก็ตตั้งแต่ช่วงเวลานั้นแล้ว นอกจากที่ภูเก็ตแล้ว ยังมีคุรุดวาราของชาวซิกข์ในไทยอีกหลายแห่ง อาทิ เชียงใหม่ ลำปาง ขอนแก่น อุบลราชธานี พัทยา ฯลฯ (3) บทบาทของสมาคม
จากการที่สมาคมศรีคุรุสิงห์สภาในกรุงเทพฯ มีนโยบายทางด้านการกระจายอำนาจ ทำให้สาขาสมาคมในต่างจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบดูแลคุรุดวาราในต่างจังหวัด และทำหน้าที่ในการ สัมพันธ์ติดต่อกับตัวแทนของรัฐในระดับท้องถิ่นได้ด้วยตนเอง ขณะที่สมาคมที่กรุงเทพฯ จะทำหน้าที่ สัมพันธ์กับรัฐในส่วนกลางและองค์กรศาสนาอื่นๆ โดยจะแยกการดำเนินการของสมาคมในฐานะสถาบัน ทางศาสนาซิกข์ออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือ
ก. บทบาทด้านงานบริหารและจัดการด้านศาสนา ประกอบด้วย งานการปกครองทางศาสนา งานการศึกษาของบุคลากรทางศาสนา งานเผยแพร่ศาสนธรรม และงานบริหารอาคารสถานที่
ข. บทบาทด้านงานการศึกษาและสังคมสงเคราะห์ ประกอบด้วย งานสนับสนุนการศึกษา และงานสงเคราะห์และบริการสังคม
(4) งานปกครองทางศาสนา
สมาคมศรีคุรุสิงห์สภา (กรุงเทพฯ) มีฐานะเป็นองค์การใหญ่ทางศาสนาซิกข์ จึงมีหน้าที่ ในการปกครองดูแลศาสนิกชนในศาสนาซิกข์โดยทั่วไป นอกจากนั้นการที่ศาสนาซิกข์เป็นหนึ่งในห้าศาสนาที่อยู่ในความอุปถัมภ์ของทางรัฐบาลไทย ทำให้สมาคมมีบทบาทเพิ่มในการส่งเสริมศีลธรรมและวัฒนธรรมของชาติตลอดจนเพิ่มพูนความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนิกชนผู้ต่างศาสนากัน ซึ่งในการทำหน้าที่ทั้งหมดนี้ สมาคมได้ดำเนินงานโดยแยกเป็นงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค งานในส่วนกลาง คือ งานการปกครองทางศาสนาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียง อยู่ภายใต้การดำเนินงานของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภาที่กรุงเทพฯ โดยสมาคมจะดูแลจัดการคุรุดวาราที่กรุงเทพฯ และทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับส่วนราชการในส่วนกลาง โดยเฉพาะกับกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักงานนายกรัฐมนตรี ฯลฯ นอกจานั้นจะติดต่อกับผู้แทนองค์การศาสนาอื่นๆ ในประเทศไทย
งานในส่วนภูมิภาค คือ งานการปกครองทางศาสนาในเขตจังหวัดอื่นๆ ที่มีคุรุดวารา ตั้งอยู่จะอยู่ในอำนาจการปกครองของคณะกรรมการศรีคุรุสิงห์สภาของจังหวัดนั้นๆ ทั้งนี้คณะกรรมการเหล่านั้น สามารถติดต่อประสานงานกับองค์กรของรัฐและส่วนเอกชนในท้องถิ่นในการจัดกิจกรรมทางศาสนา ได้โดยตรง นอกจากการประสานงานกับองค์กรของรัฐในส่วนกลางเท่านั้น ที่คุรุดวาราในภูมิภาคต้องดำเนินการโดยผ่าน การประสานงานของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภาที่กรุงเทพฯ ซึ่งลักษณะงานการปกครองทางศาสนาของสมาคม นับว่ามีการกระจายอำนาจและให้อำนาจการควบคุมอยู่ในความดูแลของชุมชน เหตุที่กล่าวเช่นนี้ เพราะคณะกรรมการของสมาคมทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค (คณะกรรมการบริหารที่ดูแลคุรุดวารา แต่ละแห่ง) มีที่มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกภายในชุมชนซิกข์ในเขตของคุรุดวาราแต่ละแห่ง ดังนั้น หากคณะกรรมการดำเนินงานบริหารไม่เหมาะสม สมาชิกมีสิทธิจะไม่เลือกบุคคลเหล่านั้นมาทำงานบริหาร ในโอกาสต่อไปจึงเป็นการควบคุมการทำงานโดยชุมชน
(5) งานการศึกษาของบุคลากรทางศาสนา
งานด้านนี้ หมายถึง การจัดการศึกษาให้แก่บุคคลที่สนใจจะดำเนินงานด้านศาสนา กรณีของศาสนาซิกข์มีข้อควรกล่าวถึงคือ ในศาสนาซิกข์ไม่มีผู้ที่อยู่ในฐานะของนักบวชโดยตรง ทุกคนสามารถเรียนรู้พระมหาคัมภีร์ที่จารึกคำสอนทางศาสนาได้ และสามารถประกอบพิธีทางศาสนาได้ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ดังนั้น การศึกษาเรื่องศาสนาจึงเป็นสิทธิและหน้าที่ของชาวซิกข์ทุกคน ซึ่งการเรียนรู้ในลักษณะนี้สามารถดำเนินมาได้ โดยตลอดในชุมชนของชาวซิกข์ ทั้งในอินเดียและประเทศต่าง ๆ
กรณีนี้ มีความแตกต่างจากชุมชนชาวซิกข์ในไทย เนื่องจากชาวซิกข์ในไทย แม้จะมี จำนวนพอสมควร แต่ยังไม่อาจนับได้ว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ประกอบกับสมาชิกของชุมชน เกือบทั้งหมด อยู่ในเขตเมืองและประกอบอาชีพทางด้านธุรกิจการค้าเป็นหลัก ทำให้โอกาสที่จะศึกษาเพื่อทำหน้าที่ ศาสนาจารย์หรือสังคีตจารย์ยังมีน้อย ดังนั้น การจัดการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรทางศาสนาซิกข์ในประเทศไทย จึงยังไม่เกิดขึ้น บุคลากรทางศาสนาที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับศาสนาที่เดินทางมาจาก ประเทศอินเดีย หรือที่อื่นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาด้านศาสนาในที่นี้ จะขอกล่าวถึงลักษณะการศึกษา ของบุคลากรทางศาสนาที่ได้รับจากประเทศอินเดียเป็นหลัก เนื่องจากในอนาคตหากจะมีการจัดการ ศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรทางศาสนาซิกข์ในประเทศไทย วิธีการจัดการศึกษาที่จะเกิดขึ้นอาจต้องใช้รูปแบบ จากประเทศอินเดียเป็นหลักก่อนที่จะมาปรับให้เหมาะสมกับสังคมชาวซิกข์ในประเทศไทย
(6) งานเผยแพร่ศาสนธรรม
หน้าที่ประการหนึ่งของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา คือ การเผยแพร่คำสอนทางศาสนา ซิกข์ให้เป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไป ซึ่งการเผยแพร่คำสอนนี้ทางสมาคมได้ดำเนินการทั้งภายในกลุ่ม ชาวซิกข์และบุคคลทั่วไป โดยมีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
ก. การเผยแผ่ศาสนาธรรมแก่ชาวซิกข์ คำสอนสำคัญในการปฏิบัติชีวิต ส่วนตนของชาวซิกข์ คือ การสวดนาม (การระลึกถึงพระเจ้า) และเจริญธรรมในพระมหาคัมภีร์ และการดำเนินชีวิตตามศาสโนวาทของพระศาสดาการทำเซวา
ข. การเผยแผ่ศาสนธรรมแก่บุคคลทั่วไปในสังคมไทย เนื่องจากชาวไทยโดยทั่ว ไปยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาซิกข์ไม่มากนัก ดังนั้น สมาคมจึงถือเป็นหน้าที่ประการหนึ่งที่จะเผยแพร่ ความรู้เกี่ยวกับศาสนาซิกข์ให้คนทั่วไปได้รู้จัก เนื่องจากศาสนามีส่วนร่วมในการกำหนดระเบียบ แบบแผน ค่านิยม และอุดมคติในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ พร้อมทั้งการพัฒนาทางด้านจิตใจ ดังนั้น ในสังคมที่มี คนหลายเชื้อชาติศาสนามาอยู่ร่วมกัน กลุ่มคนเหล่านั้นควรเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาของคนกลุ่มอื่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องโลกทัศน์ของแต่ละฝ่าย อันจะทำให้มีชีวิตร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข
(7) งานบริหารอาคารสถานที่
หน้าที่ของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภาในด้านนี้ คือ การบริหารจัดการเกี่ยวกับคุรุดวารา เพื่อให้คุรุดวารา มีพื้นที่ในการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนาได้สมควรแก่ศาสนพิธีที่เกิดขึ้น ทั้งศาสนพิธี ที่จัดในวันสำคัญทางศาสนาและศาสนพิธีในชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วไป
การประกอบศาสนพิธีของชาวซิกข์นั้น ต้องกระทำเบื้องหน้าพระมหาคัมภีร์ พิธีเกี่ยวกับการเกิดการตั้งชื่อบุตรธิดา การแต่งงาน ฯลฯ จะเป็นการประกอบพิธีที่สมบูรณ์ไม่ได้ถ้าไม่มีพระมหาคัมภีร์ปรากฏอยู่ในที่นั้น ตัวอย่างที่จะยกมาประกอบในที่นี้ คือ พิธีการตั้งชื่อบุตรธิดา
สำหรับครอบครัวชาวซิกข์ ภายหลังการให้กำเนิดบุตรธิดา และมารดาแข็งแรงขึ้น สามารถเคลื่อนไหวได้ (ไม่มีกำหนดว่ากี่วัน) ให้ครอบครัวและญาติพี่น้องเดินทางมาคุรุดวารา พร้อมนำคาร่าปัรซาต มาด้วยหรือใช้ที่มีในคุรุดวารา แล้วประกอบพิธีเจริญธรรม พร้อมขับร้องบทสวดที่เหมาะสม โดยขับร้องต่อ หน้าพระพักตร์พระศาสดาคุรุครันถ์ซาฮิบเพื่อแสดงความปิติและระลึกถึง พระคุณของพระศาสดา กรณีที่มีการสวดพระธรรมในพระมหาคัมภีร์คุรุครันถ์ซาฮิบให้ทำพิธีสวด ให้เสร็จ แล้วขอประทานพระบัญชา จากพระศาสดา ศาสนาจารย์จะประกาศอักษรตัวแรกที่ได้จากพระบัญชาของพระศาสดา ให้ผู้ร่วมชุมนุม เจริญธรรมทราบแล้วจึงตั้งชื่อเด็กตามตัวอักษรนั้น
พิธีตั้งชื่อบุตรธิดานั้นจะทำที่คุรุดวาราเป็นหลัก เพื่อเป็นมงคลแก่เด็กและเป็นการแนะนำเด็ก ซึ่งเป็นสมาชิกใหม่ให้เป็นที่รู้จักแก่คนในชุมชน การที่กิจกรรมหลายอย่างต้องกระทำที่คุรุดวารา ทำให้สมาคมศรีคุรุสิงห์สภาต้องจัดเตรียมสถานที่สำหรับการดำเนินกิจกรรมเหล่านั้น การเตรียมการนี้เห็นได้จากเมื่อมีการสร้างคุรุดวาราขึ้นใหม่แทนหลังเดิมที่ทรุดโทรมไป สมาคมได้จัดแบ่งพื้นที่ภายในคุรุดวาราแห่งใหม่ สำหรับรองรับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
ก. ชั้นล่าง เป็นบริเวณโถงทางเข้า ซึ่งมีพื้นที่กว้างพอสมควร ด้านในของโถงทางเข้า มีบันไดสำหรับใช้ขึ้น-ลงทั้งด้านซ้ายและขวา ระหว่างกลางของบันไดทั้งสองด้านติดตั้งลิฟต์ จำนวนสามตัว ด้านขวามือของโถงทางเข้า แบ่งพื้นที่เป็นสุขศาลานานักมิชชั่น ห้องอาหารของศาสนาจารย์ ด้านซ้ายมือเป็นที่ตั้งของห้องสมุด และบริเวณที่ทำการของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา นอกจากนั้นยังมีห้องสุขาสำหรับหญิง-ชาย และบริเวณสำหรับจัดเก็บรองเท้าของผู้ที่มาคุรุดวารา เนื่องจากเป็นระเบียบว่าจะไม่มีการสวมรองเท้าขึ้นสู่ชั้นบนของคุรุดวารา ดังนั้น ทางสมาคมจึงเตรียมที่จัดเก็บรองเท้าไว้รองรับผู้ที่เข้ามาทำกิจกรรมที่คุรุดวารา
ข. ชั้นสอง เป็นห้องประชุมอเนกประสงค์ สามารถดัดแปลงใช้ตามกิจกรรมที่จำเป็น เช่น เป็นสถานที่จัดเลี้ยงในงานต่างๆ เป็นห้องประชุมฟังคำบรรยายของผู้เชี่ยวชาญทางศาสนาที่ สมาคมเชิญมาเป็นครั้งคราว ฯลฯ ในวันสำคัญทางศาสนา และวันเสาร์-อาทิตย์ บริเวณนี้จะดัดแปลงเป็นลังกัร (Langar) บริเวณชั้นสองจึงใช้เพื่อประกอบงานพิธี ทั้งที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและกิจกรรมสาธารณของชุมชน
ค. ชั้นสาม เป็นห้องสำหรับจัดงานและกิจกรรมทั่วไปเช่นเดียวกับชั้นสองแต่มีขนาดเล็กกว่า โดยมีพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่ชั้นสอง
ง. ชั้นสี่ เป็นห้องโถงใหญ่ มีที่ประดิษฐานพระมหาคัมภีร์ตั้งอยู่เวลาเช้าตรู่ประมาณ 04.30 น. ศาสนาจารย์จะอัญเชิญพระมหาคัมภีร์มายังที่ประดิษฐานและประกาศไว้ตลอดวัน เมื่อถึงเวลาประมาณ 18.30 น. จะอัญเชิญพระมหาคัมภีร์กลับไปยังห้องที่ชั้นหก ภายในบริเวณ ห้องโถงใหญ่นี้เป็นที่ชุมชุนเจริญธรรมของชาวซิกข์ในระหว่างที่มีพิธีทางศาสนาจะมีศาสนิกชนชาวซิกข์มาร่วมเป็นจำนวนมาก ผู้เข้าร่วมพิธีจะนั่งแยกกันระหว่างหญิงและชายตำแหน่งที่นั่งคือ เมื่อหันหน้าเข้าหาพระมหาคัมภีร์ ฝ่ายชายจะอยู่ขวามือ ฝ่ายหญิงอยู่ซ้าย
จ. ชั้นห้า เป็นพื้นที่ของโรงเรียนสอนศาสนาและอีกส่วนหนึ่งแบ่งให้เป็นพื้นที่ของ โรงเรียนไทยซิกข์นานาชาติ แผนกเตรียมอนุบาล-อนุบาล 2 ซึ่งเป็นเด็กเล็ก ไม่สะดวกจะเดินทางไปเรียนที่บางนา จึงจัดให้มีการเรียนการสอนที่บริเวณคุรุดวารา แต่เมื่อขึ้นชั้นประถมเด็กนักเรียนจะไปเรียนที่บางนา
ฉ. ชั้นหก จะแบ่งประโยชน์ใช้สอยเป็นสองส่วน คือ ครั้งหนึ่งจะเป็นที่ประดิษฐาน พระมหาคัมภีร์ ในบริเวณนี้จะจัดพื้นที่สำหรับศาสนจารย์และชาวซิกข์ทั่วไป ให้มาศึกษาหาความรู้ จากพระมหาคัมภีร์ได้ด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่งแบ่งให้เป็นพื้นที่ของโรงเรียนไทยซิกข์นานาชาติ แผนกเตรียมอนุบาล-อนุบาล 2 สำหรับใช้เป็นห้องประชุมและห้องอเนกประสงค์
จากการจัดเตรียมพื้นที่ดังกล่าว ทำให้เห็นว่าการดำเนินชีวิตของชาวซิกข์ในสังคมจะมีกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา และชาวซิกข์ให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ชาวซิกข์จะเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่สมาคมจัดขึ้นเสมอ โดยการเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้จะเป็นการเข้าร่วมทั้งครอบครัว ทั้งชาย-หญิง เด็ก-ผู้ใหญ่ นอกจากการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่กล่าวมาแล้ว ชาวซิกข์ในสังคมไทยยังดำเนินกิจกรรมทางด้านสังคมภายใต้การนำของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา

บุคคลสำคัญ
บุคคลสำคัญของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา ประกอบด้วยองค์ศาสดาทั้ง 10 พระองค์ ของศาสนาซิกข์เพียงเท่านั้น ดังที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อ 8.2 เรื่องศาสนบุคคล ไม่ได้นับถือหรือให้ความสำคัญกับบุคคลอื่นเป็นพิเศษเหมือนศาสนาอื่นๆ

สถานที่ตั้งและการติดต่อ
ที่ตั้ง : สมาคมศรีคุรุสิงห์สภา (ซิกข์) เลขที่ 565 ถนนจักรเพชร เขตพระนคร แขวงวังบูรพาภิรมย์ จังหวัดกรุงเทพมหานคร 10200
โทรศัพท์ : 0-2224-8094 / 0-2221-1011
โทรสาร : 0-2949-4220
อีเมล์ : [email protected]
เว็บไซต์ :


สมาคมนามธารีสังคัต

สมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทย

ประวัติความเป็นมา

ศาสนาซิกข์-นามธารี (Sikh-Namdhari) นั้นเป็นศาสนาซึ่งมีชื่อตามลักษณะคำสอนของศาสนา เพราะคำว่า “ซิกข์” (Sikh) มีรากศัพท์มาจากคำว่า “สิข” เป็นภาษาปัญจาบี ตรงกับคำในภาษาบาลีว่า “สิกขา” หรือ “สิกขะ” ส่วนในภาษาสันสกฤตตรงกับคำว่า “ศิษย์” หรือ “ศิษยะ” ซึ่งหมายถึง ผู้ศึกษา ผู้ใฝ่เรียน ลูกศิษย์หรือสาวก ดังนั้น ทุกคนจึงเป็นศิษย์ของครู หรือ “คุรุ” (Guru) ซึ่งหมายถึงองค์พระศาสดา และการเข้าถึงหลักธรรมของศาสนาจะต้องผ่านทาง “คุรุ” หรือครูเท่านั้น จึงทำให้ต้องมี “คุรุ” สืบต่อมาโดยตลอดไม่ขาดช่วงจนถึงปัจจุบัน

“นามธารี” (Namdhari) แปลว่า ผู้ซึ่งเทิดทูนธำรงค์รักษาให้ทรงไว้ซึ่งพระนามของพระผู้เป็นเจ้า หรือผู้ยึดมั่นในพระนามของพระผู้เป็นเจ้า (“นาม” หมายถึง พระนามของพระผู้เป็นเจ้า  ส่วน “ธารี” หมายถึงการธำรงรักษา) จึงกล่าวได้ว่า ชาวซิกข์-นามธารี คือผู้ที่มีความรัก เชื่อถือศรัทธา และยึดมั่นในองค์พระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียว โดยเชื่อฟังคำสั่งสอนขององค์พระศาสดาผู้ยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ เสมือนอาจารย์ผู้สั่งสอนศิษย์

ชาวซิกข์-นามธารีเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาล้วนต้องได้รับการศึกษาวิชาต่าง ๆ จากครูบาอาจารย์เสมอ ไม่เว้นแม้แต่ในเรื่องของการดำเนินชีวิต และการแสวงหาหนทางสู่ความหลุดพ้นด้วยการสวดภาวนาอธิษฐาน และปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนทุกประการขององค์พระศาสดาทุกพระองค์ด้วยความศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยม ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีทุกคนในฐานะ “ศิษย์” จึงต้องมี “ครู” เพื่อเป็นผู้ให้แสงสว่างในจิตใจทำให้เกิดปัญญา ชี้นำแนะแนวเส้นทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องได้ชัดเจนเพื่อให้ถึงจุดหมายเสมอตลอดอายุขัย และการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าจะสำเร็จได้ก็ย่อมต้องผ่านทาง “คุรุ” หรือองค์พระศาสดาผู้เทิดทูน และยึดมั่นในพระนามของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น

ศาสนาซิกข์ก่อตั้งโดยองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ ยี โดยนับจากปีที่พระองค์ทรงประสูติ คือในพ.ศ. 2012 (ค.ศ. 1469) สถานที่กำเนิดศาสนาซิกข์คือ สถานที่ซึ่งองค์พระปฐมศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ ยี ทรงประสูติ ณ หมู่บ้าน ตัลวันดี (Talwandi) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 30 ไมล์ของเมืองละฮอร์ (Lahore) บนฝั่งแม่น้ำราวี (Ravi) (ซึ่งแตกสาขามาจากแม่น้ำสินธุ) ตำบล เชคปุระ (Shekpura) ในปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน (Pakistan) โดยภายหลังชื่อหมู่บ้านได้ถูกเปลี่ยนเป็น “นันกานะ ซาฮิบ” (Nankana Sahib) ซึ่งแปลว่า เมืองของท่านนานัก (นานักนคร) เพื่อเทิดพระเกียรติองค์พระศาสดา

องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ ยี ทรงปฏิเสธพิธีกรรมต่าง ๆ ที่งมงายและไร้เหตุผล เช่น การเชื่อถือในโชคลาง หรือในเวทมนตร์คาถาใด ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนสมัยนั้นเลื่อมใสยึดถือเป็นสรณะ องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ ยี ตลอดจนพระศาสดาทุกพระองค์ที่สืบทอดต่อจากพระองค์ได้ทรงวางรากฐานการปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างอันงดงามในการดำรงชีวิตในกรอบแห่งศีลธรรม และในขณะเดียวกันก็ยังคงมีส่วนร่วมต่อบทบาทอันเข้มแข็งในสังคมฆราวาส (ทางโลก) ควบคู่กันไป

            นับตั้งแต่สมัยขององค์พระปฐมบรมศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 1) ได้ก่อตั้งศาสนาซิกข์ขึ้น และสืบต่อเนื่องมาจนถึงสมัยขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ เตค บาฮา ดูร ยี (พระศาสดาองค์ที่ 9) ศาสนิกชนชาวซิกข์ได้ร่วมกันปกป้องเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาในขณะนั้นมาโดยตลอด เรื่อยมาจนถึงสมัยขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โคบินด์ ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 10) รูปแบบ และแนวทางจึงได้เปลี่ยนแปลงไป โดยทรงปลูกฝังรากฐานของศาสนาซิกข์อันบริสุทธิ์ให้หยั่งลึกลงไปในชีวิตของศาสนิกชน โดยในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2242 (ค.ศ. 1699) ซึ่งตรงกับเดือน “วีสาขี” ในภาษาปัญจาบี ณ เมือง “อนันต์ ปุร ซาฮิบ” พระองค์ได้ทรงเรียกประชุมบรรดาบัณฑิตพราหมณ์ และศาสนิกชนของพระองค์ เพื่อพระราชทานน้ำอมฤต (น้ำสาบานศักดิ์สิทธิ์) เป็นครั้งแรกแก่ศาสนิกชน 5 ท่าน โดยมีชื่อเรียกว่า “ปัญจะ ปิอาเร” (Panja Pyare แปลว่าศิษย์ผู้เป็นที่รักทั้ง 5) ซึ่งถือเป็นพิธีกรรมอันสำคัญยิ่ง มีการสวดมนต์ ร้องเพลงสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า และการอ่านพระมหาคัมภีร์ อีกทั้งตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาชายชาวซิกข์จะมีคำว่า “ซิงห์” ต่อท้ายชื่อทุกคน และสตรีชาวซิกข์จะมีคำว่า “กอร์” ต่อท้ายชื่อทุกคน และศาสนิกชนชาวซิกข์ทุกคนจะต้องเก็บรักษาสัญลักษณ์ทั้ง 5 ประการทางศาสนาติดตัวไว้ตลอดเวลาอีกด้วย

            ตามความเชื่อของชาวซิกข์-นามธารี ก่อนที่องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โคบินด์ ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 10) จากโลกนี้ไป พระองค์ได้ทรงเสด็จไปที่เมือง “ฮัชโร” เพื่อพระราชทานอำนาจของพระองค์ให้กับองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ บาลัก ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 11) ที่ชาวซิกข์-นามธารีนับถือศรัทธา ซึ่งในสมัยนั้นศาสนิกชนของพระองค์ส่วนใหญ่กำลังหลงลืมธรรม และคำสั่งสอนขององค์พระศาสดา เป็นเหตุให้แนวทางการดำเนินชีวิตผิดเพี้ยนไป

ด้วยเหตุนี้องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงได้ทรงอวตารลงมาในรูปขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี  (พระศาสดาองค์ที่ 12) ของชาวซิกข์-นามธารี โดยได้ทรงอวตารลงมาในกระท่อมของช่างไม้ผู้ยากจน ช่วงเช้ามืดของวันพฤหัสบดี แห่งวสันตฤดูซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2359 (ค.ศ. 1816) ณ เมืองเล็ก ๆ ในจังหวัด “ลูเดียนา” แห่งรัฐปัญจาบ ซึ่งบิดาของพระองค์มีนามว่า “ยัสสา ซิงห์” ส่วนมารดามีนามว่า “ซาดา กอร์” ในช่วงวัยหนุ่มพระองค์ได้ทรงเข้ารับราชการทหารในกองทัพของมหาราชา “รันยิต ซิงห์” และได้ทรงเสด็จไปยังเมือง “ฮัชโร” ซึ่ง ณ ที่นั้นองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ บาลัก ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 11) ได้ทรงประทานพระราชอำนาจของพระองค์ให้กับองค์พระศาดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) พร้อมกับมีรับสั่งว่า “ให้พระองค์บำเพ็ญเพียรภาวนาสวดมนต์ด้วยพระองค์เอง และสั่งสอนเผยแพร่วิธีการสวดมนต์ให้กับผู้อื่นด้วย”

ในวันที่12 เมษายน พ.ศ. 2400 (ค.ศ. 1857 ในช่วงวันสงกรานต์เดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่) องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) ได้ทรงสังคยานาศาสนาซิกข์-นามธารี โดยเชิญ “ปัญจะ ปิอาเร” (ศิษย์ผู้เป็นที่รักทั้งห้า) ขึ้นมารับน้ำอมฤต และได้ทรงสังคายนารูปแบบของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีขึ้นใหม่ในนาม “นามธารี ซันต์ คาลซ่า” ซึ่งมีความหมายว่า “นักบุญบริสุทธิ์ผู้มีพระนามของพระผู้เป็นเจ้าสถิตอยู่ในจิตวิญญาณ ทั้งนี้ พระองค์ยังได้ทรงพระเมตตาเพิ่มสิทธิเสรีภาพแก่สตรีให้มากขึ้น ด้วยการห้ามประเพณีการฆ่าทารกเพศหญิงแรกเกิด เพราะครอบครัวชาวอินเดียส่วนใหญ่ในสมัยนั้นล้วนแต่อยากได้บุตรชายเพื่อสืบสกุล ทรงให้เลิกการเรียกร้องและรับสินสอดทองหมั้นต่าง ๆ อีกทั้งยังห้ามไม่ให้เด็กหญิงอายุต่ำกว่า 16 ปี เข้าพิธีแต่งงานด้วย

            ในสมัยนั้นองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) ค้นหาชาวซิกข์-นามธารีที่ปฏิบัติตนถูกต้องสมบูรณ์แบบตามหลักศาสนาได้ยาก พระองค์จึงได้ทรงชักชวนชี้นำศาสนิกชนผู้หลงผิดประพฤติปฏิบัติตนออกนอกลู่นอกทางทั้งหลายให้ได้มีโอกาสรับพระราชทาน “พระนาม” (คำสวดมนต์) และนำเข้าสู่ความเป็นสานุศิษย์ของพระองค์ตามหลักการของศาสนาซิกข์-นามธารีที่สมบูรณ์ทรงรื้อฟื้นพิธีกรรมปรัมปราให้บริสุทธิ์ตามศาสตร์ และวัฒนธรรมดั้งเดิมขึ้นมาอีกครั้ง อันได้แก่ พิธีกรรมทางศาสนา Hawan Varni  การสวดมนต์ Naam Simran การอ่านพระคัมภีร์ การสนานกายให้สะอาดบริสุทธิ์ (การอาบน้ำตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า) การร้องเพลงสวดสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า และทรงปกป้องคุ้มครองให้สังคมในยุคนั้นได้ออกห่าง และหลุดพ้นจากพิธีกรรมอันช่อฉลหลอกหลวง เช่น การบีบบังคับให้มีการสมรสก่อนวัยอันควร ตลอดจนหลุดพ้นจากพิธีสมรสซึ่งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย โดยวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2406 (ค.ศ. 1863) พระองค์ได้ทรงจัดให้มีการสมรสหมู่ขึ้นพร้อมกันถึง 6 คู่ โดยเดินรอบกองไฟ พร้อมกับอ่านบทสวดพระมหาคัมภีร์ เป็นครั้งแรกในเมือง “โคเต” จนเป็นเหตุให้นักบุญจอมปลอมผู้เสียผลประโยชน์ในสมัยนั้นได้รวมตัวกันดำเนินคดีฟ้องร้อง ซึ่งพระองค์เองต้องถูกควบคุมตัว และสู้คดีอยู่เป็นเวลานาน จนในที่สุดพระองค์ได้ชนะคดี และพิธีการสมรสในรูปแบบใหม่นี้จึงได้ถือเป็นรากฐานซึ่งศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีทั่วโลกยึดถือ และนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติจนถึงทุกวันนี้

            ประวัติศาสตร์สามารถเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ในทุกยุคทุกสมัยที่มหาบุรุษผู้ทรงคุณธรรมลงมายังโลกมนุษย์ย่อมจะมีหมู่มารลงมาควบคู่กันเสมอ ด้วยอิทธิพลของการล่าอาณานิคมของประเทศอังกฤษในสมัยนั้น และการเป็นผู้ริเริ่มต่อต้านรัฐบาลอังกฤษด้วยด้วยวิธีอหิงสา งดการใช้ความรุนแรงเพื่อกอบกู้เอกราชของประเทศอินเดีย ซึ่งต่อมาท่านมหาตมะ คานธี ได้ดำเนินการด้วยวิธีเดียวกันจนประสบความสำเร็จ

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้องค์พระศาสดาต้องพลัดพรากจากแผ่นดินเกิดไป โดยถูกรัฐบาลอังกฤษนำไปกักบริเวณที่ประเทศพม่า จึงทำให้องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หริ ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 13) ผู้เป็นพระอนุชาซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) ทรงเป็นผู้ดูแลรักษาการณ์แทน และสืบต่อมาจนถึงปี พ.ศ. 2449 (ค.ศ. 1906) พระราชอำนาจของพระองค์จึงได้ถูกพระราชทานสืบต่อมายังองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ประตาป ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 14) ซึ่งทรงเป็นพระศาสดาแห่งศาสนาซิกข์-นามธารีพระองค์แรกที่ทรงพระเมตตาเสด็จมาโปรดสานุศิษย์ของพระองค์ ณ กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกในวันพุธที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1934) โดยตลอดพระองค์ได้ทรงเสด็จเดินทางมาประเทศไทยนับรวมได้ถึง 22 ครั้ง

            ในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959) เป็นวันที่องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ประตาป ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 14) ได้ทรงเสด็จสวรรคต โดยองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ยัคยิต ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 15) ทรงเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ดูแลสานุศิษย์ของพระองค์สืบต่อมา ซึ่งพระองค์ทรงเมตตาประทานพรแก่ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีที่มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศไทย ด้วยทรงเสด็จมาเยี่ยมเยือนศาสนิกชนของพระองค์หลายครั้ง โดยเสด็จครั้งแรกในเดือน มกราคม พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) และทรงเสด็จอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเพื่อให้สานุศิษย์ของพระองค์ได้มีโอกาสเข้าเฝ้านมัสการ และรับฟังพระธรรมเทศนาตลอดจนคำสั่งสอนเพื่อเตือนสติ และตอกย้ำถึงความสำคัญในการสวดมนต์ปฏิบัติธรรม และเคร่งครัดในการดำเนินชีวิตตามแนวทางคำสั่งสอนขององค์พระศาสดาแห่งศาสนาซิกข์-นามธารีทุกพระองค์

ชาวซิกข์-นามธารีทุกคนถูกปลูกฝังคุณธรรมเข้าไปในชีวิต และจิตวิญญาณตั้งแต่แรกเกิดเสียด้วยซ้ำ เพราะเหตุที่บิดามารดา และบรรพบุรุษก็ดำรงชีวิตอันเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม และความดีงาม รวมทั้งสอดคล้องต่อหลักธรรมชาติ และเน้นความเรียบง่ายตลอดมา ดังคำกล่าวที่ว่า “Simple living, High thinking”

            เมื่อทารกใหม่ได้ลืมตาดูโลกขึ้นมาในครอบครัวของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารี สิ่งแรกที่จะได้รับคือ “พระนาม” (Naam) ของพระผู้เป็นเจ้าโดยองค์พระศาสดา หรือผู้ที่พระองค์ทรงมอบหมายให้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการสวดมนต์ไปตลอดชีวิต โดยจะมีนักบวชประทานพระนามอยู่ข้างหู พร้อมทั้งให้รับน้ำอมฤตด้วย อาหารที่ทารกจะได้รับไปตลอดชีวิตคืออาหารมังสวิรัติซึ่งไม่เบียดเบียนชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งปวงเพื่อนำมาบริโภค และล้วนแล้วแต่เป็นอาหารธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ฉะนั้นศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีทุกครอบครัวจึงใส่ใจและพิถีพิถันเป็นพิเศษในการประกอบอาหารเสมอ โดยส่วนใหญ่ผู้หญิงในครอบครัวจะสวดมนต์ไปด้วยระหว่างทำอาหารทุกมื้อให้ทุกคนในครอบครัวรับประทาน เพราะถือว่าการทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ระหว่างประกอบอาหารนั้นย่อมทำให้อาหารนั้นบริสุทธิ์มากขึ้นไปด้วยเพื่อให้ผู้รับประทานได้รับแต่สิ่งที่ดีต่อร่างกายและจิตวิญญาณในขณะเดียวกัน โดยศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีส่วนใหญ่มักนำอาหารจากที่บ้านไปทานที่ทำงาน หรือโรงเรียนเสมอ

            ทุกเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีจะตื่นและอาบน้ำชำระล้างร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า หลังจากนั้นจะชำระล้างจิตใจด้วยการทำสมาธิสวดมนต์ระลึกถึงพระนามของพระผู้เป็นเจ้าเสมอ และพร้อมที่จะออกไปทำงานด้วยกายและใจที่สงบ มีสติและเป็นสมาธิ เฉกเช่นคำกล่าวที่ว่า “มือประกอบกิจ จิตอาราธนา” การดำเนินชีวิตรวมทั้งการค้าขายก็จะคงไว้ซึ่งคุณธรรมเสมอ โดยไม่เอาเปรียบทุกสรรพชีวิตทั้งทางกาย วาจา และใจ ทั้งนี้ชาวซิกข์-นามธารีล้วนถูกปลูกฝังสั่งสอนให้มีจิตสำนึกต่อพระคุณของแผ่นดินที่พำนักอาศัยเสมอ ไม่ว่าจะประกอบกิจการอันใดมักจะให้ความร่วมมือกับทางการ และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เสมอ เพราะหลักคำสอนของศาสนาในเรื่องการอุทิศตนเพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ (Sewa) และการอุทิศรายได้ร้อยละ 10 ของตนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือนร้อนลำบาก

            ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีมีลักษณะอันโดดเด่นเพราะการแต่งตัว เช่น การโพกศีรษะด้วยผ้าสีขาว การไว้ผมยาว และหนวดเครา ผู้หญิงก็จะไว้ผมยาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาที่ตั้งแต่เกิดมาพวกเขาไม่เคยตัดแต่งใด ๆ เลย ปล่อยไว้ตามธรรมชาติเสมอ ที่ข้อมือของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีทุกเพศทุกวัยจะมีกำไลเหล็กสวมใส่ไว้ คนที่มีลักษณะดังกล่าวเรียกตัวเอง “ซิกข์-นามธารี” และคำเรียกข้างหลังชื่อผู้ชายก็ต้องมีคำว่า “ซิงห์” ซึ่งหมายถึงสิงโต หรือราชสีห์ตามนิยายโบราณว่าเป็นพญาของสัตว์ทั้งหลาย ส่วนผู้หญิงจะมีคำเรียกข้างหลังชื่อว่า “กอร์” ซึ่งหมายถึงหญิงผู้สูงส่ง เพื่อให้เกียรติและยกย่องสตรีเพศ

ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่และอาชีพของตน ชาวไทยมักรู้จักศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีในแถวสำเพ็ง และพาหุรัด เพราะพวกเขาเป็นพ่อค้าขายผ้าเป็นส่วนมาก

            ในเรื่องของคู่ชีวิต ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีส่วนใหญ่ในสมัยก่อนมักจะให้ผู้ใหญ่ในครอบครัวซึ่งมีประสบการณ์ในเรื่องชีวิตคู่มาแล้วช่วยตัดสินใจเลือกคู่ครองให้ ซึ่งโอกาสในการผิดพลาด และเลิกรากันน้อยมาก พิธีมงคลสมรสของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีจะถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายและประหยัด ซึ่งบ่อยครั้งที่มีการสมรสหมู่มากกว่าหนึ่งคู่ และศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีทั้งชายหญิงจะถูกปลูกฝังในเรื่องการใช้ธรรมะควบคู่ไปกับการครองเรือนเสมอ

วิถีชีวิตดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ซึ่งศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีส่วนใหญ่ก็พยายามจะรักษาวิถีชีวิตดังกล่าวไว้ โดยให้ดำเนินไปตามหลักศาสนาทุกวันทั้งในด้านความคิด วิจารณญาณ อาหาร และอาชีพอันสุจริต ความยึดมั่นในคุณงามความดี รวมทั้งคุณธรรม การไม่เบียดเบียนทุกสรรพชีวิต สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีทุกคนได้รับการปลูกฝังให้อยู่อย่างเรียบง่าย และพอเพียงเผื่อแผ่ผู้อื่นเสมอ โดยที่สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ ซึมซับเข้าไปในชีวิตทุกวันจนกลายเป็นความเคยชินในการดำรงชีวิตอันดีงามอย่างไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยากเลย

ศาสดา ศาสนบุคคล

องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ ยี (Sri Satguru Nanak Dev Ji) เป็นผู้สถาปนาศาสนาซิกข์ขึ้น และทรงเล็งเห็นว่าในโลกแห่งกลียุคนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ศาสนิกชนจะต้องได้รับการสั่งสอนชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องจนกว่าจะหลุดพ้นจากวัฎสงสาร จึงได้ทรงดำริให้มีพระศาสดาสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน และจะสืบต่อไปตลอดจนสิ้นกลียุค ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นยุคสุดท้ายของโลกมนุษย์ตามความเชื่อของชาวซิกข์-นามธารี โดยมีรายพระนามดังนี้

พระศาสดาองค์ที่ 1. ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ ยี (Sri Satguru Nanak Dev Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 2. ศิริ สัตคุรุ อังคัต เทพ ยี (Sri Satguru Angad Dev Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 3. ศิริ สัตคุรุ อมร ดาส ยี (Sri Satguru Amar Daas Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 4. ศิริ สัตคุรุ ราม ดาส ยี (Sri Satguru Ram Daas Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 5. ศิริ สัตคุรุ อัรยัน เทพ ยี (Sri Satguru Arjun Dev Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 6. ศิริ สัตคุรุ หัร โคบินด์ ยี (Sri Satguru Har Gobind Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 7. ศิริ สัตคุรุ หัร ราย ยี (Sri Satguru Har Rai Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 8. ศิริ สัตคุรุ หัร กริชัน ยี (Sri Satguru Har Krishan Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 9. ศิริ สัตคุรุ เตค บาฮา ดูร ยี (Sri Satguru Teg Bahadur Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 10. ศิริ สัตคุรุ โคบินด์ ซิงห์ ยี (Sri Satguru Gobind Singh Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 11. ศิริ สัตคุรุ บาลัก ซิงห์ ยี (Sri Satguru Balak Singh Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 12. ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (Sri Satguru Ram Singh Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 13. ศิริ สัตคุรุ หริ ซิงห์ ยี (Sri Satguru Hari Singh Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 14. ศิริ สัตคุรุ ประตาป ซิงห์ ยี (Sri Satguru Partap Singh Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 15. ศิริ สัตคุรุ ยัคยิต ซิงห์ ยี (Sri Satguru Jagjit Singh Ji)

พระศาสดาองค์ที่ 16. ศิริ สัตคุรุ อูเดย์ ซิงห์ ยี (Sri Satguru Uday Singh Ji)

ศาสนธรรม หลักการทางศาสนา/คำสอน หลักปฏิบัติ

หลักธรรมคำสั่งสอนของศาสนาโดยสังเขป

  • ให้มีศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า และเชื่อว่าพระองค์นั้นมีอยู่จริง ทั้งยังทรงเป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง ตลอดจนยอมรับความเป็นไปทุกอย่างตามธรรมชาติว่าเป็นไปโดยพระประสงค์ของพระองค์

  • ให้เชื่อถือในกฎแห่งกรรมว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดไว้

  • อาบน้ำชำระร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นเป็นประจำทุกวัน

  • เก็บรักษาสัญลักษณ์ 5 อย่าง ซึ่งองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โคบินด์ ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 10) ได้ทรงประทานไว้ให้ติดตัวอยู่เสมอ

  • ให้ดำเนินชีวิตด้วยความพอเพียงเรียบง่ายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ และให้อนุรักษ์ธรรมชาติ

  • รับพระนาม Naam Simran หรือคำสวดมนต์จากองค์พระศาสดา หรือผู้ซึ่งได้รับอนุญาติ เพื่อนำไปสวดชำระล้างจิตใจให้สะอาด ขจัดกิเลสเป็นประจำวันละอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

  • สวดมนต์ฝึกจิตใจให้สงบ รักสันติสุข และมีเมตตาธรรมต่อสรรพชีวิต

  • ให้อ่านพระคัมภีร์ และร้องเพลงสวดสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า เป็นประจำ

  • ให้เกียรติ และความเสมอภาคแก่สตรีในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

  • ให้เกียรติผู้มีคุณธรรม และให้การสนับสนุนแก่ผู้ประพฤติธรรมของทุกศาสนา โดยมุ่งสร้างภราดรภาพ และสัมพันธภาพระหว่างศาสนาทุกศาสนา

  • ให้ประกอบสัมมาชีพโดยสุจริตชอบธรรม และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และให้บริจาครายได้ร้อยละ 10 (Daswant) เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีความเดือดร้อนจำเป็น

  • ให้ครองชีพโดยธรรม และสร้างความรักสามัคคีต่อทุกสรรพชีวิต

  • ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และทุกสรรพชีวิตทั้งทางกาย วาจา ใจ

  • ไม่ลักทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่ฉ้อโกง ฉ้อฉล

  • ห้ามฆ่าสัตว์ และงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด

  • ห้ามทำแท้ง

  • ห้ามดื่มสุรา สูบบุหรี่ และเสพสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษทุกชนิด

  • ไม่ประพฤติตนให้ผิดลูกเมียผู้อื่น ซิกข์-นามธารีจะยอมรับและนับถือภรรยาของผู้อื่นดุจดังพี่สาวน้องสาวหรือมารดา และบุตรีของผู้อื่นเสมือนบุตรสาวของตน

  • ห้ามตัด หรือโกนผม และขนจากทุกส่วนของร่างกาย จะต้องรักษาให้สะอาดเรียบร้อยตามธรรมชาติดังที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานให้

  • ให้รักษาศีลบริสุทธิ์ทั้งทางกาย วาจา และใจ ให้ได้มากที่สุด

  • ล้างมือ และเท้าให้สะอาดทุกครั้งก่อนอ่านพระมหาคัมภีร์ รวมทั้งก่อนสวดมนต์

กิเลสทั้ง 5 ประการ

            ทุกศาสนาต่างล้วนสอนเตือนให้ศาสนิกชนระวังบาป หรือกิเลสอันเป็นหนทางนำมนุษย์ไปสู่ความเสื่อมไว้ ซึ่งศาสนิกชนของศาสนานั้น ๆ ควรจะหลีกเลี่ยง หรือควบคุมกิเลสไว้ให้ได้ เพราะกิเลสสร้างความเสียหายได้เหมือนโรคร้ายที่บ่อนทำลายร่างกาย แต่กิเลสจะสร้างความเสียหายทั้งจิตใจ ร่างกาย และชีวิตของมนุษย์

ในการควบคุม หรือหลีกตนจากกิเลสนั้น ศาสนิกชนพึงรู้ลักษณะ และวิธีซึ่งกิเลสจะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นในชีวิตไว้ เพื่อจะได้ควบคุม หรือระวังตนจากกิเลสเหล่านั้นได้ เพราะกิเลสต่าง ๆ เมื่อเข้าสู่จิตใจแล้วจะทำให้มนุษย์ต้องทนทุกข์ทรมานในการดำเนินชีวิต และยังถือเป็นศัตรูสำคัญของมนุษย์ในการเดินทางสู่หนทางแห่งการหลุดพ้น และเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าด้วย ในศาสนาซิกข์-นามธารี เชื่อว่ากิเลสซึ่งสร้างความเสียหายต่อมนุษย์อย่างรุนแรงนั้นมี 5 อย่าง ได้แก่

  1. ตัณหา (Kaam) (การประพฤติผิดในกาม) เป็นบาปอันละเอียดอ่อน ไม่ให้ผลดีแก่ผู้กระทำผิดเลย นอกจากความอับอายขายหน้า และความทุกข์ทรมาน โดยเฉพาะถ้าไปติดโรคภัยที่ไม่สามารถจะรักษาเยียวยาได้ ศาสนาซิกข์-นามธารีสอนให้ครองชีพครองเรือนเป็นสามีภรรยา และมีครอบครัวของตนเอง โดยยึดมั่นในเรื่องสามี หรือภรรยาเพียงคนเดียว ห้ามมีการนอกใจเด็ดขาด รวมทั้งห้ามคิดอกุศลกับเพศตรงข้ามและควรมองเพศตรงข้ามซึ่งอ่อนวัยกว่าตนเสมือนลูกหลาน ควรมองเพศตรงข้ามซึ่งมีวัยใกล้เคียงกับตนเสมือนพี่น้อง และควรมองผู้สูงอายุกว่าตนเสมือนบิดามารดาของตนเสมอ

  2. ความโกรธ (Kraod) เป็นบาปอันหนึ่งของจิต ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท ความโกรธจะต้องมีขันติ (ความอดกลั้น) เข้ามาควบคุม และมีการให้อภัยเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแล พระผู้เป็นเจ้าทรงสถิตในดวงจิตของทุกคน ฉะนั้นเราไม่ควรทำลายจิตใจของผู้ใดแม้แต่น้อย ควรควบคุมอารมณ์ของตนไม่ให้ใจร้อน และโกรธง่าย

  3. ความโลภ (Lobh) คือความอยากได้ อยากครอบครองทุกสิ่งที่ไม่ใช่ของตน โดยวิถีทางที่ไม่ถูกต้องและยุติธรรม ศาสนาซิกข์-นามธารีสอนให้ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันขันแข็ง ไม่เอาเปรียบผู้ใด ประกอบสัมมาอาชีวะด้วยความสุจริต แล้วแบ่งปันสิ่งที่หามาได้แก่ผู้ยากไร้ ขาดแคลน

  4. โมหะ (Moh) คือความยึดมั่น หลง เกาะติดในวัตถุจนเกินไป เช่น ยึดมั่นในบุตร สามี ภรรยา และทรัพย์สมบัติ ของนอกกายต่าง ๆ เมื่อสิ่งเหล่านั้นสูญสลายจากไป ก็เป็นทุกข์อย่างมหันต์ นอกจากนี้เรายังไม่ควรหลงผิด ไม่งมงายอยู่กับค่านิยมที่ฟุ้งเฟ้อตามสมัย จนลืมหน้าที่อันพึงปฏิบัติของตน

อหังการ (Ahankar) ซึ่งเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายและต้องระวังไม่ให้เกิดขึ้นในดวงจิต เพราะมันก่อให้เกิดความอิจฉาริษยา ความจองหองอวดดี  และความหลง ทำให้ลืมการกระทำที่ดีทั้งปวงได้ในพริบตา การแก้ไขบาปอันเกิดจากการกระทำนี้ คือต้องมีความถ่อมตน ไม่อวดมั่งมี อวดดี อวดเก่ง และไม่ทับถมหรือข่มเหงจิตใจผู้อื่น ต้องยอมให้อภัยแก่ผู้อื่น มีความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น

ประวัติ

ครอบครัวชาวซิกข์-นามธารีครอบครัวแรก ๆ ซึ่งได้มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์แห่งสยามประเทศนั้น เดินทางมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2431 (ค.ศ. 1888) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชการที่ 5 โดยในขณะนั้นยังไม่มีธรรมสถานของชาวซิกข์-นามธารี ต่อมาเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911) นับเป็นครั้งแรกที่ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีในประเทศไทยได้รวมพลังศรัทธาเช่าอาคาร 1-2 คูหา ในซอยย่านบ้านหม้อเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และในปี พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1921) ได้ย้ายธรรมสถานไปที่ถนนเยาวราช

ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964) ด้วยพระเมตตาขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ยัคยิต ซิงห์ ยี ทรงดำริให้ศาสนิกชนร่วมจิตศรัทธาเพื่อซื้อที่ดิน และต่อมาก็ได้ย้ายศาสนสถานมาตั้งอยู่ ณ เลขที่ 127/1 ซอยอโศก สุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110 และต่อมายังได้มีการสร้างธรรมสถานเพิ่มขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งศาสนิกชนชาวซิกข์นามธารีพักอาศัยอยู่มากมาย ทั้งนี้ยังมีชาวซิกข์นามธารีพำนักอาศัย และประกอบสัมมาชีพอยู่มากมายตามภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยแล้ว ศาสนาซิกข์-นามธารีได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นอย่างหาที่สุดไม่ได้จากพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ นับตั้งแต่ครั้งแรกที่มีศาสนิกชนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทั้งยังได้รับความอนุเคราะห์จากส่วนราชการด้วยดีตลอดมา ซึ่งศาสนิกชนทุกคนต่างล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณด้วยความปลื้มปิติอย่างล้นพ้นอันหาที่สุดไม่ได้เสมอมา

โครงสร้างองค์การ

สมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทย ได้รับการรับรองฐานะเป็นองค์การใหญ่ ทางศาสนา ตามระเบียบกรมการศาสนา ว่าด้วยองค์การศาสนาต่าง ๆ พ.ศ. 2512 ซิกข์ นิกายนามธารี โดยมีศาสนาสถาน (วัดนามธารี) ตั้งอยู่เลขที่ 127/1 ซอย อโศก ถนนสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร

โดยมีศูนย์กลางของศาสนาอยู่ในประเทศอินเดีย ตั้งอยู่ที่ อำเภอ Siri Bhaini Sahib จังหวัด Ludhiana รัฐปัญจาบ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อทำการเผยแพร่ศาสนา และ สั่งสอนประชาชนในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน และ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สมาคมนามธารีฯ มีโครงสร้างหลักในองค์การ ประกอบด้วย 1) โครงสร้างทางศาสนา 2) โครงสร้างทางสังคม 3) โครงสร้างที่เป็นสถาบันทางการศึกษา

  1. โครงสร้างทางศาสนา  มีศาสนาสถาน 2 แห่ง คือ ที่กรุงเทพมหานคร และ จังหวัด เชียงใหม่ เพื่อเผยแพร่หลักธรรม และคำสั่งสอนขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (Sri Satguru Ram Singh Ji) และองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ยัคยิต ซิงห์ ยี (Sri Satguru Jagjit Singh Ji) เสริมสร้างความรู้แห่งมิตรภาพ ภราดรภาพระหว่าง นามธารีกับศาสนาต่าง ๆโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เชื้อชาติ ศาสนา และยึดการทานอาหารมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์การศาสนา
  2. โครงสร้างทางสังคม  ดำเนินงานด้านสาธารณะกุศลต่าง ๆโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เชื้อชาติ ศาสนา เช่น ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ ทุนการศึกษา โรงทานวันละ 2 เวลา (เช้า –เย็น) ทุกวัน คลีนิกรักษาโรคฟรี (ทุกวันอาทิตย์)
  3. โครงสร้างทางการศึกษา สมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทย มีโรงเรียนนานาชาติโมเดิร์น กรุงเทพฯ (MISB) อยู่ภายใต้สมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 125-135 ซอยพบมิตร ถนนสุขุมวิท 39 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร  โดยพระประสงค์ขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ยัคยิต ซิงห์ ยี (Sri Satguru Jagjit Singh Ji) ซึ่งจัดตั้ง และเปิดสอนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) จนถึงปัจจุบัน โดยมีนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยม มีนักเรียน มากกว่า 500 คน โดยใช้หลักสูตรโรงเรียนนานาชาติจากประเทศอังกฤษ จดทะเบียนได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ มีหลักปรัชญา คือ “ความรู้ คู่ คุณธรรม” โรงเรียนนานาชาติโมเดิร์น กรุงเทพฯ มีทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่เรียนดี นักเรียนด้อยโอกาสจำนวนมาก ส่วนทางด้านคุณภาพการศึกษาได้รับการยอมรับจากทั้งใน และต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง

การบริหารงาน

โครงสร้างของสมาคมนามธารีฯ ทางด้านการบริหาร และ การดำเนินกิจการสมาคมนั้น เป็นไปตามกฎ และ ระเบียบข้อบังคับ ของสมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทย โดยให้มีคณะกรรมการ ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมให้มีกรรมการจำนวนไม่เกิน 15 คน มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม 13 คน ส่วนกรรมการอีก 2 คน ได้จากการแต่งตั้ง สามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 2 ปี โดยที่การดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 คราว

บุคคลสำคัญ

ตามหลักของศาสนาซิกข์-นามธารีนั้น ศาสนิกชนจะให้ความสำคัญเคารพและศรัทธาสูงสุดต่อเพียงองค์พระศาสดาทุกพระองค์เท่านั้น โดยไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ และให้ถือว่าทุกคนเป็นพี่น้องซึ่งมีสิทธิเท่าเทียมกันเสมอ

ศาสนสถาน

ศาสนสถานซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งศาสนาซิกข์-นามธารี ตั้งอยู่ที่เมือง “ศิริ แภณี ซาฮิบ” (Sri Bhaini Sahib) ในจังหวัดลุเดียนา (Ludhiana) รัฐปัญจาบ (Punjab) ประเทศอินเดีย (India) ซึ่งในปัจจุบันนอกจากจะเป็นที่ประทับขององค์พระศาสดาแล้ว ยังมีศาสนสถาน และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในประวัติศาสตร์ซึ่งศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารี ตลอดจนนักจาริกแสวงบุญจากทั่วโลกมานมัสการ ร่วมบำเพ็ญเพียรสวดมนต์ และอ่านพระคัมภีร์อยู่เป็นประจำ

ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีในประเทศไทยมักเรียกศาสนสถานของตนว่าวัด หรือ “คุรุ ทวารา” (Guru Dwara) ในภาษาปัญจาบีซึ่งหมายถึงประตูสู่หนทางแห่งพระผู้เป็นเจ้า โดยมีสถานที่ตั้งกระจายอยู่ตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่มีศาสนิกชนอาศัยรวมตัวกัน และถือว่า “คุรุ ทวารา” ทุกแห่งล้วนเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

สำหรับในประเทศไทยมี “คุรุ ทวารา” ตั้งอยู่ที่จังหวัดกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 127/1 ซอยอโศก ถนนสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110

และที่จังหวัดเชียงใหม่ “คุรุ ทวารา” ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 2 ถนนช้างม่อย ซอย 1 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50300

บุคคลทุกเพศทุกวัยไม่จำกัดเชื้อชาติ วรรณะ ความเชื่อทางศาสนา และประเพณี สามารถเข้า “คุรุ ทวารา” ได้ โดยก่อนจะเข้าไปทุกคนต้องถอดรองเท้า (ให้คลุมศีรษะของตนด้วยผ้าขาว ในกรณีที่ไม่ได้โพกผ้า) จากนั้นให้เดินอย่างสำรวมเพื่อไปทำความเคารพสักการะต่ออาสนะขององค์พระศาสดา และพระมหาคัมภีร์ แล้วเดินมานั่งแยกฝั่งหญิง และชายเพื่อสวดมนต์ทำสมาธิอย่างสงบบนอาสนะของตนที่ปูบนพื้น (หากนำมาด้วย) โดยเท่าเทียมกันทุกคน นอกจากการสวดมนต์แล้วใน “คุรุ ทวารา” จะมีการเทศนา รวมทั้งร้องเพลงสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า และอ่านพระมหาคัมภีร์

            พระมหาคัมภีร์ “ศิริ อาทิ ครันถ์ ซาฮิบ” (Sri Adhi Granth Sahib) แปลว่า พระมหาคัมภีร์เล่มแรก (คำว่า “ครันถ์” เป็นภาษาสันสกฤต ส่วนคำว่า “คันถ์” เป็นภาษาบาลี มีความหมายเดียวกันว่า คัมภีร์) ถือเป็นพระมหาคัมภีร์หนึ่งในโลกซึ่งเรียบเรียงโดยองค์พระศาสดาเองในขณะที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ภาษาที่ใช้ในการประพันธ์พระมหาคัมภีร์เท่าที่ค้นพบมีหลายภาษา เช่น ภาษาปัญจาบี (Punjabi), ภาษามุลตานี (Multani), ภาษาเปอร์เซียน (Persian), ภาษาปรากฤต (Prakrit), ภาษาฮินดี (Hindi), ภาษามราฐี (Marathi) เป็นต้น

นอกเหนือจากพระมหาคัมภีร์ “ศิริ อาทิ ครันถ์ ซาฮิบ” แล้ว ยังมีพระคัมภีร์ “ทศม ครันถ์” (Dasam Grant) แปลว่า คัมภีร์ของพระศาสดาองค์ที่ 10 ซึ่งรวบรวมข้อเขียนขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โคบินด์ ซิงห์ ยี หลังจากคัมภีร์เล่มแรก 100 ปี (ประมาณปี พ.ศ. 2247 [ค.ศ. 1704]) ที่ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีให้ความสำคัญ และนับถือด้วย

เมื่อศาสนกิจได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว จะมีการแจกสิ่งของ (มักจะเป็นผลไม้ ขนม หรือน้ำนมบรรจุกล่อง) ซึ่งผู้มีจิตศรัทธาได้นำมาถวาย และที่สำคัญจะมีการแจกขนมหวานซึ่งถือว่าได้รับการประสาทพรด้วยการอธิษฐาน (Ardaas) ต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว เรียกว่า “กะร่า ประชาด” (Karah Parshad) ซึ่งทำจากแป้งสาลี น้ำตาล และเนยผสมรวมในอัตราส่วนที่เท่ากัน โดยผู้รับขนมหวานดังกล่าวต้องนั่งกับพื้นอย่างสำรวมเรียบร้อย และใช้มือขวาวางประสานทับบนมือซ้ายเพื่อรับ “กะร่า ประชาด”

ใน “คุรุ ทวารา” นอกจากจะมีพื้นที่สำหรับให้ศาสนิกชนประกอบศาสนกิจแล้ว ยังมี “โรงทาน” (Langar) อยู่ภายในบริเวณด้วย โดยก่อนเข้าโรงทาน ให้ทุกคนถอดรองเท้า และล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร ซึ่งในโรงทานจะบริการอาหารโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับศาสนิกชนทุกคน รวมไปถึงชนทุกเชื้อชาติ ศาสนา อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความเสมอภาค และความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง ในโรงทานแห่งนี้ไม่ว่าผู้เข้ามาจะมีฐานะสูงหรือต่ำ ยากดีมีจน ทุกคนล้วนรับประทานอาหารโดยใช้ จาน ช้อน แก้วน้ำ เหมือนกัน นั่งบนพื้นเสมอภาคร่วมกันเพื่อลบล้างความเชื่อเกี่ยวกับการแบ่งชั้นวรรณะในสังคม และจะมี “อาสาสมัครเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทน” (Sewa Daar) คอยบริการเดินตักอาหาร หรือแจกน้ำดื่มให้ทุกคน และผู้มีจิตศรัทธายังสามารถผลัดเวรกันตักอาหาร แจกน้ำดื่มได้ตามความสมัครใจ ตลอดจนสามารถบริจาคทรัพย์ หรืออาหารสำเร็จรูป รวมไปถึงวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารได้ตามแรงศรัทธาด้วย โรงทานนี้ดำเนินการด้วยความร่วมใจ เสียสละของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีโดยไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทนมากไปกว่าการเติมเต็มความต้องการในด้านอาหารให้แก่ร่างกายของทุกคน

ศาสนวัตถุ

สัญลักษณ์ทั้ง 5 ของศาสนิกชน (5 ก)

            สัญลักษณ์ของศาสนาซิกข์-นามธารี จัดสร้างขึ้นมิได้มีความประสงค์จะทำให้มีการแบ่งแยกศาสนิกชนออกจากกัน แต่เพื่อช่วยให้มีชีวิตร่วมกัน และร่วมมือกันอย่างสามัคคีในสังคมมากขึ้น บางทีอาจจะเป็นไปได้สำหรับบุคคลบางคนที่จะอุทิศตนเองเพื่อพระผู้เจ้าโดยไม่นำเอาแบบแผน และสัญลักษณ์ภายนอกมาใช้ แต่หากเขาคิดจะเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา แสดงความศรัทธาอันมีต่อองค์พระศาสดา รวมถึงการเป็นคนของศาสนา หรือทำงานเพื่อศาสนาแล้วนั้น เขาจะต้องรักษาศาสนวินัยอย่างเคร่งครัด เฉกเช่นนักรบที่ดีต้องฝึกฝน และแต่งเครื่องแบบของกองทัพที่เขาอยู่ให้ถูกต้องครบถ้วนเสมอ จึงจะเป็นผู้นำให้นักรบรุ่นต่อไปเจริญรอยตามได้ ในทำนองเดียวกันนี้ศาสนิกชนที่ดีของศาสนาพึงยึดถือศาสนวินัย อันหมายรวมถึงเครื่องแต่งกาย และสัญลักษณ์เหล่านี้ซึ่งมีส่วนช่วยเหลืออันสำคัญยิ่งต่อองค์กรศาสนาซิกข์-นามธารี

            การกำหนดสัญลักษณ์ทั้ง 5 ของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีนั้นเริ่มมีใช้ครั้งแรกที่เมือง “อนันทปุระ” เมื่อปี พ.ศ. 2242 (ค.ศ. 1699) ซึ่งเป็นพิธีการรับน้ำอมฤตครั้งแรกด้วย โดยองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โคบินด์ ซิงห์ พระองค์ทรงมีบัญชาให้ชาวซิกข์ดำรงรักษาสัญลักษณ์ 5 ประการ “ปัญจะ กะการ” (Panj Kakar) สำหรับชาวซิกข์-นามธารีการปราศจากสัญลักษณ์เหล่านี้เปรียบเสมือนการไร้ตัวตน ซึ่งสัญลักษณ์ทั้ง 5 ไม่เพียงแต่จำเป็นสำหรับการแสดงถึงความเข้มแข็ง และความเป็นหนึ่งเดียวของศาสนิกชนเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าในตัวของแต่ละสัญลักษณ์เอง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปอย่างแพร่หลายในนามของ ห้า “ก” เนื่องจากอักษรแรกของสัญลักษณ์ทั้งห้าเริ่มต้นด้วยอักษร “ก” สัญลักษณ์อันทรงคุณค่าเหล่านี้ประกอบไปด้วย

- กรา (Kara) คือ กำไลข้อมือทำจากเหล็ก ไม่ใช่ทอง เงิน หรืออัญมณีเครื่องประดับอื่นใด มีไว้สวมที่ข้อมือเสมอ สมัยโบราณถือเป็นอุปกรณ์ป้องกันข้อมือขณะรบต่อสู้ ในปัจจุบันถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความอดกลั้น ถ่อมตนและสุภาพ เป็นเครื่องเตือนใจให้ศาสนิกชนรำลึกตลอดเวลาว่าเป็นผู้มีพันธะผูกพันกับองค์พระศาสดา เมื่อใดที่เขามองดูกำไลในมือของตน เขาจะคิดชั่งใจหลายครั้งก่อนที่จะกระทำสิ่งใดซึ่งผิดคุณธรรม ทั้งยังเป็นเครื่องหมาย

- กัจฉา (Kachehra) คือ กางเกงชั้นในขาสั้น ซึ่งเชื่อว่าน่าจะดัดแปลงมาจากการนุ่งโจรงกระเบนซึ่งหลุดง่าย แต่ถูกดัดแปลงให้กระชับรัดกุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งกัจฉานี้ต้องนุ่งไว้ประจำตลอดเวลา

- เกศา (Kes) คือ ผม รวมไปถึงขนคิ้ว ขนตา ขนในส่วนต่าง ๆ ตามร่างกาย และหนวดเครา ซึ่งห้ามดึง ตัด ถอน โกน หรือเล็มรวมถึงย้อมสี โดยเด็ดขาดตลอดชีวิต และต้องรักษาให้สะอาดอยู่เสมอ การรักษาเกศาเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ และเด่นที่สุดของศาสนิกชาวซิกข์-นามธารี

- กังฆา (Kangha) คือ หวีขนาดเล็กซึ่งทำจากไม้ตามธรรมชาติ ไม่มีการทาสี หรือสารเคมีเคลือบเงาใด ๆ ไว้ใช้หวีผมเพื่อรักษาเกศาให้สะอาดเรียบร้อย

- กฤปาน (Kirpan) คือ ดาบ หรือกริช เป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ และการผจญภัย เป็นการแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในตนเอง และพร้อมที่จะปกป้องเกียรติของตน และผู้อื่นจากอธรรม และความอยุติธรรมทั้งปวง ดาบจะใช้เป็นเครื่องปกป้องผู้อื่น ไม่ใช่อาวุธในการรุกราน หรือทำร้ายผู้อื่น แต่ในปัจจุบัน “กฤปาน” ได้ถูกย่อให้เล็กลงเหลือเพียงเป็นสัญลักษณ์ติดอยู่กับหวี (กังฆา) เนื่องด้วยกฎหมายการห้ามพกพาอาวุธในหลายประเทศ

องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ยัคยิต ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 15) ทรงริเริ่มสนับสนุนให้ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีนำเครื่องใช้อีก 5 ประการติดตัวไว้ด้วยเสมอ อันได้แก่

- อาสนะ (Aasern) คือ ผ้าปูรองนั่งเวลาสวดมนต์ทำสมาธิ หรืออ่านพระมหาคัมภีร์

- คัรวะ (Garwa) คือ ภาชนะลูกน้ำเต้าโลหะ ไว้ใส่น้ำบริสุทธิ์ซึ่งได้จากธรรมชาติ เช่น น้ำฝน น้ำจากน้ำตก น้ำบาดาล เป็นต้น เพื่อใช้อุปโภคบริโภคในระหว่างวัน

- คราวะ (Krawa) คือ รองเท้าซึ่งทำจากไม้ตามธรรมชาติ ไม่มีการทาสี หรือสารเคมีเคลือบเงาใด ๆ

- มาลา (Mala) คือ สายประคำถักจากไหมพรมสีขาว ไว้ใช้เมื่อสวดมนต์

- คุทกะ (Gutka) คือ พระคัมภีร์ฉบับย่อ เพื่อใช้อ่านประกอบศาสนพิธีต่าง ๆ และเพื่ออ่านบทพระคัมภีร์ที่ต้องใช้ในศาสนกิจประจำวัน

ศาสนพิธี วันสำคัญทางศาสนา

การสวดมนต์ทำสมาธิ และการอธิษฐาน

ทั้งการสวดมนต์ทำสมาธิ และการอธิษฐานนี้เป็นสิ่งซึ่งขาดเสียมิได้ในชีวิตประจำวันของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารี ทุกคนเมื่อได้รับ "พระนาม" จากองค์พระศาสดา หรือผู้ที่พระองค์ทรงมอบหมายให้แล้วนั้น จะต้องสวดมนต์สรรเสริญพระนามของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงทุกวันด้วยจิตอันเป็นสมาธิ โดยผู้สวดมนต์ห้ามพูดจาสนทนากับผู้อื่นทั้งสิ้น และเมื่อกล่าว "พระนาม" (Naam) 1 ครั้งก็ให้ใช้นิ้วเลื่อนสายประคำสีขาวซึ่งทำจากไหมพรมหรือเรียกว่า "มาลา" (Mala) 1 เม็ดไปเรื่อย ๆ จนครบ 108 ครั้ง ถือว่าครบ 1 รอบ หากสวดมนต์ครบ 1 "มาลา" จะเท่ากับได้กล่าว "พระนาม" ทั้งสิ้น 11,664 ครั้ง

อีกทั้งก่อน และหลังการสวดมนต์ให้ท่อง "บทอธิษฐาน" (Ardaas) นอกจากนี้แล้วบทอธิษฐานยังสามารถกระทำได้ตลอดเวลา เช่น ก่อนออกเดินทางไปนอกบ้าน ก่อนเริ่มกิจการงานมงคล ยามท้อแท้หมดกำลังใจ หรือเผชิญอุปสรรคปัญหา หลังรับประทานอาหารเพื่อเป็นการขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าซึ่งทรงเมตตาประทานอาหารให้เราได้ยังชีพ รวมทั้งส่งความปรารถนาดีแผ่เมตตาให้บุคคลอื่นหรือสรรพชีวิต เป็นต้น

นอกเหนือจากนี้ยังมีการสวด “ภควดี มาลา” (Bhagauti Mala) หรือบทสวดพระแม่ภควดี ซึ่งใช้ “มาลา” ในการสวด โดยท่อง “บทอธิษฐาน” ถึงพระนามของพระศาสดาองค์ปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการนำบทบัญญัติในพระมหาคัมภีร์ “ศิริ อาทิ ครันถ์ ซาฮิบ” มาสวดร่วมกับ “มาลา” ในลักษณะนี้ด้วย

ศาสนกิจประจำวัน

            นอกจากการสวดมนต์ และการอธิษฐานแล้ว ศาสนิกชนควรตื่นนอนแต่เช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น “อมฤตเวลา” (Amrit Wele) เพื่ออาบน้ำชำระล้างร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า และชำระจิตใจด้วยการสวดมนต์รำลึกถึง และสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า ทั้งนี้ยังรวมถึงการอ่านบทพระคัมภีร์ 5 บทในเวลาต่าง ๆ ซึ่งองค์พระศาสดาทรงกำหนดขึ้น อันได้แก่

- ยัปยี ซาฮิบ (Japji Sahib) อ่านในตอนเช้า

- ยาป ซาฮิบ (Jaap Sahib) อ่านในตอนเช้า

- ชาเบิด ฮาซาเร (Shabad Hazare) อ่านในตอนเช้า

- ระเฮราซ (Rahras)  อ่านในตอนเย็นก่อนพระอาทิตย์ตก

- โซเฮละ (Sohila) อ่านก่อนเข้านอน

และศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีควรอ่านพระมหาคัมภีร์ตั้งแต่เริ่มจนจบเป็นประจำทุกเดือน โดยทยอยอ่านทุกวัน จำนวนหน้าแล้วแต่เวลาจะอำนวย อีกทั้งยังควรไป “คุรุ ทวารา” (ศาสนสถาน หรือวัด) อย่างสม่ำเสมอ ศาสนิกชนพึงรักษาสัญลักษณ์ทั้ง 5 ติดตัวไว้ตลอดเวลา และควร “ประพฤติตนเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างสมัครใจ และไม่หวังผลตอบแทน” (Sewa) และต้องประกอบสัมมาชีพสุจริต และ “สละรายได้ของตนร้อยละสิบ” (Daswant) เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น รวมทั้งปฏิบัติตนให้อยู่ในกฎหมาย กฎระเบียบของสังคม และวินัย ข้อห้าม ศีลธรรม ประเพณีต่าง ๆ ของศาสนาเสมอ

พิธีรับน้ำอมฤต

            พิธีรับน้ำ “อมฤต” (Amrit) ครั้งแรกเริ่มขึ้นในสมัยขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โคบินด์ ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 10) ต่อจากนั้นได้มีการสังคายนาขึ้นใหม่ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2400 (ค.ศ. 1857) ณ เมืองศิริ แภณี ซาฮิบ รัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย โดยองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) ได้ทรงพระราชทานโอกาสให้สานุศิษย์ 5 ท่านซึ่งเป็นชายล้วน ได้เข้าพิธีรับน้ำอมฤตเป็นกลุ่มแรก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2406 (ค.ศ. 1863) ณ ตำบล ซิอาฎ จังหวัดลุเดียนา พระองค์ทรงพระราชทานโอกาส และสิทธิให้กับสตรีอย่างเท่าเทียมกับบุรุษเพศ โดยทรงอนุญาตให้สตรีได้มีสิทธิประกอบพิธีรับน้ำอมฤตเป็นครั้งแรกด้วย

พิธีรับน้ำอมฤตถือเป็นพิธีซิ่งสำคัญยิ่งต่อชาวซิกข์-นามธารี โดยทั่วไปจะไม่มีข้อกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้เข้าพิธี เพราะพิธีรับน้ำอมฤตนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตของศาสนิกชนตั้งแต่ลืมตาดูโลก จนกระทั่งจากโลกนี้ไป เช่น สำหรับเด็กเกิดใหม่ สำหรับคุณแม่หลังคลอด สำหรับวัยรุ่นหนุ่มสาว สำหรับผู้จะเข้าประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และสำหรับร่างที่ไร้วิญญาณของศาสนิกชนก่อนถูกนำไปเผา หากผู้ใดพร้อมที่จะให้สัตย์ปฏิญาณที่จะรักษา และปฏิบัติตามข้อบัญญัติคำสั่ง คำสอนที่องค์พระศาสดาทรงประทานไว้ ไม่ว่าชายหรือหญิง สัญชาติใดเผ่าพันธุ์ใดหรือมีฐานะใดในสังคม หากตั้งใจที่จะปฏิบัติตามข้อบัญญัติย่อมมีสิทธ์ที่จะรับน้ำอมฤต และเข้าร่วมในสังคมชาวซิกข์-นามธารี

พิธีมงคลสมรส (Anand Karaj)

            ประเทศอินเดียนั้นมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฮินดูสถาน” เพราะประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งพิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนานั้น มีระบบระเบียบและขั้นตอนต่าง ๆ มากมายอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในสมัยนั้นถือโอกาสแสวงหาผลประโยชน์จากการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ โดยไม่เป็นธรรม

ด้วยเหตุที่องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) ทรงตระหนักถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนในเรื่องนี้ และด้วยพระเมตตาที่มีต่อศาสนิกชน พระองค์จึงได้ทรงกำหนดแนวทาง และพิธีกรรมในการสมรสขึ้นมาใหม่เป็นครั้งแรก โดยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2406 (ค.ศ. 1863) พระองค์ได้เปิดโอกาสให้ศาสนิกชนของพระองค์เข้าพิธีสมรสโดยพร้อมเพรียงกัน 6 คู่ หรือที่เรียกว่า “พิธีสมรสหมู่” เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย

ในรายละเอียดของพิธีกรรมนั้นได้กำหนดให้คู่สมรสเดินรอบกองไฟเพื่อเป็นการปฏิญาณตนว่า นับแต่วันนี้เป็นต้นไปจะครองคู่กันจนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะเสียชีวิต และนำศพไปเผาในกองไฟ โดยในการเดินนั้น เจ้าบ่าวจะเป็นผู้เดินรอบกองไฟนำหน้าเจ้าสาวในแนวทางทวนเข็มนาฬิกา รวม 4 รอบด้วยกัน ซึ่งในขณะเดียวกันนี้ ผู้ประกอบพิธีซึ่งเป็นนักบุญผู้ทรงศีล ก็จะอ่านบทโศลกจากพระมหาคัมภีร์ ศรี อาทิ ครันท์ จำนวนรวม 4 บท ซึ่งในแต่ละบทจะเริ่ม และจบลงพร้อมกับการเดินรอบกองไฟของแต่ละรอบ ซึ่งในพิธีกรรมดังกล่าวนี้ได้ถือเป็นต้นแบบพิธีสมรสของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีทั่วโลกนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้น ประเทศอินเดียในสมัยโบราณยังมีการแบ่งชนชั้นวรรณะ และยึดถือระบบดังกล่าวอย่างเข้มงวด และเพศหญิงมักตกเป็นเหมือนสมบัติสิ่งของที่ถูกยกให้แก่ฝ่ายชายเมื่อคราวต้องแต่งงาน แม้พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะอบรมเลี้ยงดูลูกสาวมาจนเติบใหญ่ เมื่อต้องแต่งงานจากครอบครัว และวิถีชีวิตไปเป็นภรรยาอยู่บ้านเมืองอื่น พ่อแม่ผู้หญิงยังต้องจ่ายค่าสินสอดทองหมั้นตามแต่ฝ่ายชายจะเรียกร้องให้แก่ฝ่ายชายด้วย เมื่อตายจากโลกไปแล้วต้องเผา อนิจจาครอบครัวฝ่ายหญิงก็ต้องเป็นผู้ออกเงินค่าซื้อกองไม้ไปเผาร่างให้ องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี จึงไม่ทรงสนับสนุนให้มีการเรียกร้องสินสอดทองหมั้น รวมทั้งไม่ทรงสนับสนุนให้มีการจัดเลี้ยงงานฉลองที่ฟุ่มเฟือย และยุติประเพณีโบราณต่าง ๆ ซึ่งทำให้สตรีต้องถูกกดขี่ข่มเหง และทรงสนับสนุนสิทธิแก่สตรีด้วย

พิธี ยัป ปัรโย้ค (Jap Paryoke)

            พิธี ยัป ปัรโย้ค หรือสามารถเรียกได้ว่าเป็นช่วงถือศีลประจำปีของชาวซิกข์-นามธารีนั้นถือได้ว่าเป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารี ทั่วโลกโดยมีวัตถุประสงค์หลักในการรวมตัวกันสวดมนต์ทุกเช้ามืด (ช่วงเวลา 03:00-06:00) ของทุกวัน ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี รวมระยะเวลาประมาณ 30-40วัน ภายในศาสนสถานเพื่อน้อมจิตรำลึกถึง องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) เนื่องจากการที่พระองค์ได้ถูกควบคุมตัวไปยังประเทศพม่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2415 (ค.ศ. 1872) โดยรัฐบาลของอังกฤษในสมัยนั้น ได้เข้ามายึดครองประเทศอินเดียซึ่งมั่งคั่งไปด้วยทรัพยากร และเป็นรากฐานแห่งอารยะธรรมอันเก่าแก่ที่สุดในโลก และด้วยเหตุแห่งอุดมการณ์อันสูงส่ง ตลอดจนความแน่วแน่ขององค์พระศาสดาในการริเริ่มวิธีปกป้องพื้นแผ่นดิน และวัฒนธรรมอันดีงามด้วยวิธีอหิงสา หรือการไม่ใช้ความรุนแรง เป็นเหตุให้ประชาชนโดยทั่วไปเริ่มเกิดความเคารพศรัทธาในพระองค์มากขึ้นเป็นลำดับ จนทำให้รัฐบาลต่างชาติในสมัยนั้นได้เล็งเห็นภยันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตนได้ จึงได้ตัดสินใจแก้ปัญหาโดยการเชิญพระองค์ไปควบคุมไว้ยังประเทศพม่านับแต่นั้น ซึ่งองค์พระศาสดาทรงให้คำมั่นสัญญาต่อสานุศิษย์ไว้ว่า “ไม่ว่ามีผู้ใดนำหลักฐานมาแสดงว่าเราได้เสียชีวิตไปแล้วก็ตามจงอย่างได้เชื่อเป็นอันขาด” โดยยังได้ทรงย้ำว่า “จงเชื่อเถิดหากมีผู้กล่าวว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก และตกทางทิศตะวันออก แต่จงอย่าเชื่อเป็นอันขาดหากมีผู้กล่าวว่า เราจะไม่กลับมาอีก เพราะเราจะต้องกลับมาในร่างนี้อีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน” ซึ่งความเชื่อมั่นศรัทธาในการเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่งของพระองค์ ก็ไม่แตกต่างไปจากความเชื่อของศาสนิกชนในศาสนาอื่น ๆ ทั่วโลกซึ่งต่างรอการเสด็จมาขององค์พระผู้เป็นเจ้าเช่นกันนั่นเอง

            พิธี ยัป ปัรโย้ค เป็นพิธีถือศีลสวดมนต์ภาวนาน้อมจิตรำลึกถึงองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในครั้งแรกจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2449 (ค.ศ. 1906) ในสมัยขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ประตาป ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 14) เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยองค์พระศาสดาจะเป็นผู้กำหนดวันเริ่มและวันสิ้นสุดของพิธีในแต่ละปี ซึ่งส่วนใหญ่มักจะกำหนดให้มีขึ้นในช่วงระหว่างฤดูฝนของทุกปี โดยทรงกำหนดศูนย์กลางของการจัดงานอยู่ที่เมือง ศิริ แภณี ซาฮิบ ในรัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย และศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีทั่วโลกที่มีโอกาสได้ไปร่วมพิธีนี้ต่างก็ถือว่าได้เกิดมหามงคลขึ้นในชีวิตตนแล้ว

การรักษาศีลบริสุทธิ์ (Sodh)

            การรักษาศีลบริสุทธิ์ คือการถือศีลรักษาความสะอาด และความบริสุทธิ์ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ ซึ่งตามหลักของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีนั้น มักจะเน้นความสำคัญในการใกล้ชิด หรือผูกพันกับธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ซึ่งการรักษาศีลบริสุทธิ์ทางกายนั้น ได้แก่ การอาบน้ำ การใช้น้ำ การดื่มน้ำ หรือแม้แต่การใช้น้ำในการประกอบอาหารต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้น้ำซึ่งได้มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างเคร่งครัด เช่นน้ำที่ได้มาจากบ่อน้ำบาดาล น้ำฝน น้ำที่ได้มาจากแม่น้ำลำธารที่มีการไหลเวียนตามธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา ส่วนภาชนะที่ใช้ในการประกอบ หรือบรรจุอาหารทุกชิ้นล้วนจำเป็นต้องชำระล้างด้วยน้ำธรรมชาติเช่นกัน ดังนั้นน้ำประปาซึ่งถึงแม้จะมีความสะอาดในระดับหนึ่งแต่เนื่องจากขาดคุณสมบัติด้านความบริสุทธิ์จากธรรมชาติ เนื่องจากมีสารเคมีเจือปนอยู่จึงห้ามนำมาใช้ในระหว่างการรักษาศีลบริสุทธิ์นี้

            ส่วนสิ่งที่จะต้องนำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคนั้น นอกจากจะต้องได้มาจากธรรมชาติแล้ว และต้องไม่ได้มาจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

            ส่วนการรักษาศีลบริสุทธิ์ทางวาจานั้นได้แก่ การเริ่มต้นด้วยการคิดก่อนพูด เพื่อไม่ให้คำพูดที่ออกมามีผลทำร้ายจิตใจผู้อื่น ไม่พูดจาเสียดสี นินทากล่าวร้ายผู้อื่น ไม่พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือห้ามพูดปดอย่างเคร่งครัดที่สุด และประการสุดท้ายซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาศีลบริสุทธิ์คือ เมื่อใดก็ตามที่ว่างเว้นจากการสนทนาให้ขยับริมฝีปากของตนเพื่อการสวดมนต์รำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าเสมอ

พิธีทำวัตรเข้า (Asa Di Vaar)

            ทุกวันในช่วงเวลาเช้ามืดที่ศาสนสถานจะมีการร้องบทสวดในทำนองเพลงเพื่อสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าซึ่งถือเป็นพิธีทำวัตรเช้า (Asa Di Vaar) และจะเสร็จสิ้นลงก่อนเวลาพระอาทิตย์ขึ้นเสมอ

พิธีรับพระนาม (Naam)

       พิธีรับพระนาม (Naam) นั้นถือเป็นพิธีสำคัญของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารี เพราะศาสนิกชนทุกท่านจะได้รับพระนามเพื่อสวดสรรเสริญและรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าเสมอวันละ 1 ชั่วโมงตามคำสั่งสอนขององค์พระศาสดา และเพื่อให้เป็นไปดั่งชื่อ “นามธารี” คือผู้ซึ่งธำรงรักษาไว้ซึ่งพระนามของพระผู้เป็นเจ้า โดยครั้งแรกที่จะได้รับคือเมื่อแรกเกิด หรือเมื่อแรกเข้าเป็นศาสนิกชน เมื่อเข้าพิธีโพกผ้าบนศีรษะ เมื่อเข้าพิธีมงคลสมรส หลังคลอดลูก หรือโอกาสสำคัญอื่น ๆ ตลอดจนแม้กระทั่งเมื่อจิตวิญญาณได้ละร่างกายไปแล้ว

พิธีโพกผ้าบนศีรษะ (Dastaar)

            เด็กชายชาวซิกข์-นามธารี เมื่ออายุถึงเกณฑ์ในวัยเด็กจะเข้ารับพิธีโพกผ้าบนศีรษะครั้งแรกโดยองค์พระศาสดา หรือผู้ได้รับอนุญาตจากพระองค์

อีกทั้งเมื่อบิดาเสียชีวิตลง บุตรชายคนโตในครอบครัวจะเข้าพิธีโพกผ้าบนศีรษะอีกครั้งเสมือนการรับภาระหน้าที่ดูแลครอบครัวทั้งหมดแทนบิดาด้วย

พิธี Hawan พิธี Varni

            พิธี Hawan จะจัดขึ้นในช่วงโอกาสที่เป็นมงคลและสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นบ้านใหม่ การริเริ่มกิจการใหม่ หรือวันสำคัญ ๆ ทางศาสนา โดยจะมีศาสนิกชนผู้รักษาศีลบริสุทธิ์ (Sodh) อ่านพระคัมภีร์ 5 ท่าน คนละบทแตกต่างกันไป และมีอีก 2 ท่านดูแลกองไฟซึ่งทุกคนนั่งล้อมวงประกอบพิธีอยู่

            ส่วนพิธี Varni จะเป็นการสวดมนต์ต่อเนื่อง ซึ่งจะมีศาสนิกชนผู้รักษาศีลบริสุทธิ์ (Sodh) ดูแลกองไฟ 1 ท่านโดยไม่ขาดช่วง ด้วยองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ยัคยิต ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 15) ได้ทรงดำริให้ศาสนสถานของชาวซิกข์-นามธารีในกรุงเทพฯ มีการสวดมนต์ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน เพื่อรำลึกถึงองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12)

พิธีอ่านพระมหาคัมภีร์ทั้งหมดภายใน 48 ชั่วโมง  (Akand Paath)

           พิธีนี้ประกอบขึ้นเพื่อเป็นการให้ศาสนิกชนได้ทบทวนคำสั่งสอนซึ่งองค์พระศาสดาได้ทรงจารึกไว้ในพระมหาคัมภีร์มาถือปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระศาสดาทุกพระองค์ โดยศาสนิกชนสามารถประกอบพิธีนี้ได้ในทุกโอกาสเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยศาสนิกชนจะสลับสับเปลี่ยนหน้าที่กันเพื่ออ่านพระมหาคัมภีร์ตั้งแต่หน้าแรกจวบจนหน้าสุดท้ายภายในเวลา 48 ชั่วโมงนับเริ่มตั้งแต่เวลาที่เริ่มอ่าน

พิธีฌาปนกิจศพ (Saskaar)
            ศาสนาซิกข์-นามธารีมีความเชื่อคำจารึกในพระมหาคัมภีร์ซึ่งกล่าวถึงการเวียนว่ายตายเกิดและการแสวงหาหนทางเพื่อการหลุดพ้นจากสังสารวัฎ เมื่อจิตวิญญาณได้สละร่างแล้ว บุคคลในครอบครัวและญาติจะจัดให้มีพิธีฌาปนกิจ หรือเผาศพแก่ผู้ที่จากไปก่อนพระอาทิตย์ตกภายในเวลา 24 ชั่วโมงหลังจากสิ้นลม (เว้นแต่ในกรณีหากมีเหตุจำเป็นหรือเหตุสุดวิสัยใด) จากนั้นจะมีการนำเถ้าอัฐิไปลอยอังคารในวันรุ่งขึ้น

ทั้งนี้จะมีการจัดพิธีสวดมนต์บำเพ็ญกุศลรำลึกถึงผู้วายชนม์หลังจากนั้นโดยมุ่งเน้นให้จัดแบบเรียบง่าย ซึ่งองค์พระศาสดาทรงสั่งสอนให้ญาติของผู้วายชนม์งดเว้นการร้องไห้เศร้าโศกเสียใจเพราะถือว่าการจากโลกนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

วันสำคัญทางศาสนา

- วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติของพระศาสดาแต่ละพระองค์ (Prakash Diwas)

- วันรำลึกวันคล้ายวันขึ้นประทับครองพระอาสน์สืบทอดความเป็นพระศาสดาแต่ละพระองค์ (Gur Gaddi Diwas)

- วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตของพระศาสดาแต่ละพระองค์ (Jyoti Jyote Diwas)

- ช่วงเทศกาลพิธี ยัป ปัรโย้ค (Jap Paryoke) เพื่อรำลึกถึงองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12)

- วันบุญขึ้นเดือนใหม่ ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งจะจัดขึ้นเดือนละครั้ง (Sangraand)

- วันรำลึกถึงการเสียสละของบรรพบุรุษผู้พลีชีพเพื่อปกป้องคุณธรรมและศาสนา (Shaheeda Da Din)

- วันบำเพ็ญบุญเพื่อรำลึกถึงและมอบเป็นกุศลแก่บรรพชนในครอบครัวผู้ล่วงลับไปแล้ว (Saraad)

            อนึ่ง วันสำคัญต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะคำนวนตามปฏิทินจันทรคติซึ่งมักจะเปลี่ยนไปในแต่ละปีสุริยะปฏิทิน ส่วนในปี พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018) มีวันสำคัญ ดังนี้

Sunday 14 January 2018 Mela Magi Mukatsar อาทิตย์ 14 มกราคม 2561 เทศกาล Magi Mukatsar

Sunday 14 January 2018 Sangrand (Maagh) อาทิตย์ 14 มกราคม 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Maagh

Wednesday 17 January 2018 Shaheedi Mela Malerkotla พุธ 17 มกราคม 2561 วันรำลึกการเสียสละของบรรพบุรุษผู้พลีชีพเพื่อปกป้องคุณธรรมและศาสนา ณ เมือง มาเลโกตเล

Thursday 18 January 2018 Pardesh Gavan – Sri Satguru Ram Singh Ji พฤหัสบดี 18 มกราคม 2561 วันรำลึกถึงวันที่องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) ทรงถูกเชิญไปกักบริเวณนอกประเทศอินเดีย

Monday 22 January 2018 Basant Panchmi & Parkash Diwas Satguru Ram Singh Ji จันทร์ 22 มกราคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12)

Monday 29 January 2018 Parkash Diwas Guru Har Rai Ji จันทร์ที่ 29 มกราคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หัร ราย ยี (พระศาสดาองค์ที่ 7)

Monday 12 February 2018 Sangrand (Phagun) จันทร์ 12 กุมภาพันธ์ 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Phagun

Thursday 1 March 2018 Holi พฤหัสบดี 1 มีนาคม 2561 เทศกาลโฮลี

Thursday 1 March 2018 Hola Start (Sri Bhaini Sahib) พฤหัสบดี 1 มีนาคม 2561 วันเริ่มเทศกาลงานบุญโฮล่า (ณ เมือง ศิริ แภณี ซาฮิบ)

Thursday 1 March 2018 Parkash Diwas Satguru Balak Singh Ji พฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ บาลัก ซิงห์ ยี (พระศาสดาองคืที่ 11)

Sunday 4 March 2018 Parkash Diwas Satguru Partap Singh Ji อาทิตย์ 4 มีนาคม 2561 วันรำลึกวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ประตาป ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 14)

Monday 5 March 2018 Hola Finish (Sri Bhaini Sahib) จันทร์ 5 มีนาคม 2561 วันสิ้นสุดเทศกาลงานบุญโฮล่า (ณ เมือง ศิริ แภณี ซาฮิบ)

Wednesday 14 March 2018 Sangrand (Chet) พุธ 14 มีนาคม 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Chet

Wednesday 21 March 2018 Joti Jot Guru Angad Dev Ji พุธ 21 มีนาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อังคัต เทพ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 2)

Thursday 22 March 2018 Joti Jot Guru Har Gobind Ji พฤหัสบดี 22 มีนาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หัร โคบินด์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 6)

Thursday 29 March 2018 Joti Jot Guru Har Krishan Ji พฤหัสบดี 29 มีนาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หัร กริชัน ยี (พระศาสดาองค์ที่ 8)

Wednesday 4 April 2018 Sri Mata Chand Kaur Ji Diwas พุธ 4 เมษายน 2561 วันรำลึกถึง Mata Chand Kaur Ji

Thursday 5 April 2018 Parkash Diwas Guru Teg Bhadhur Ji พฤหัสบดี 5 เมษายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ เตค บาฮา ดูร ยี (พระศาสดาองค์ที่ 9)

Saturday 7 April 2018 Parkash Diwas Guru Arjan Dev Ji เสาร์ 7 เมษายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อัรยัน เทพ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 5)

Saturday 14 April 2018 Mela Vaisakhi เสาร์ 14 เมษายน 2561 เทศกาล วีสาขี

Saturday 14 April 2018 Sangrand (Vaisakh) เสาร์ 14 เมษายน 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Vaisakh

Monday 16 April 2018 Parkash Diwas Satguru Guru Angad Dev Ji จันทร์ 16 เมษายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อังคัต เทพ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 2)

Sunday 29 April 2018 Parkash Diwas Guru Amar Das Ji อาทิตย์ 29 เมษายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อมร ดาส ยี (พระศาสดาองค์ที่ 3)

Thursday 10 May 2018 Joti Jot Satguru Hari Singh Ji พฤหัสบดี 10 พฤษภาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หริ ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 13)

Monday 14 May 2018 Sangrand (Jeth) จันทร์ 14 พฤษภาคม 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Jeth

Friday 1 June 2018 Satguru Ram Singh: Amrit Administration to Women ศุกร์ 1 มิถุนายน 2561 วันรำลึกวันประกอบพิธีรับน้ำอมฤตแก่สตรี โดยองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12)

Sunday 3 June 2018 First Anand Karaj ceremony anniversary อาทิตย์ 3 มิถุนายน 2561 วันรำลึกการจัดพิธีมงคลสมรสตามแบบชาวซิกข์-นามธารีขึ้นเป็นครั้งแรก

Sunday 17 June 2018 Joti Jot Guru Arjan Dev Ji อาทิตย์ 17 มิถุนายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อัรยัน เทพ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 5)

Friday 15 June 2018 Sangrand (Harh) ศุกร์ 15 มิถุนายน 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Harh

Friday 29 June 2018 Parkash Diwas Guru Har Gobind Ji ศุกร์ 29 มิถุนายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หัร โคบินด์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 6)

Monday 16 July 2018 Sangrand (Sawan) จันทร์ 16 มิถุนายน 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Sawan

Sunday 22 July 2018 Parkash Diwas Sri Satguru Uday Singh Ji อาทิตย์ 22 กรกฏาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อูเดย์ ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 16)

Sunday 5 August 2018 Shaheedi Mela Raikot อาทิตย์ 5 สิงหาคม 2561 วันรำลึกการเสียสละของบรรพบุรุษผู้พลีชีพเพื่อปกป้องคุณธรรมและศาสนา ณ เมือง ไร่โกฎ

Monday 6 August 2018 Parkash Diwas Guru Har Krishan Ji จันทร์ 6 สิงหาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หัร กริชัน ยี (พระศาสดาองค์ที่ 8)

Friday 17 August 2018 Sangrand (Bhadon) ศุกร์ 17 สิงหาคม 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Bhadon

Tuesday 21 August 2018 5 Badro Diwas Joti Jot Satguru Partap Singh Ji อังคาร 21 สิงหาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ประตาป ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 14)

Wednesday 12 September 2018 Joti Jot Guru Ram Das Ji พุธ 12 กันยายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อมร ดาส ยี (พระศาสดาองค์ที่ 3)

Monday 10 September 2018 Dastar Bandi Divas Satguru Jagjit Singh Ji จันทร์ 10 กันยายน 2561 วันรำลึกวันทรงโพกผ้าบนพระเศียร องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ยัคยิต ซิงห์ ยี

Friday 14 September 2018 Mata Bhupinder Kaur Diwas ศุกร์ 14 กันยายน 2561 วันรำลึกถึง Mata Bhupinder Kaur

Saturday 15 September 2018 Shaheedi Mela Amritsar เสาร์ 15 กันยายน 2561 วันรำลึกการเสียสละของบรรพบุรุษผู้พลีชีพเพื่อปกป้องคุณธรรมและศาสนา ณ เมือง อมฤตสระ

Sunday 16 September 2018 Gur-Gaddi Diwas Sri Satguru Ram Singh Ji อาทิตย์ 16 กันยายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันขึ้นประทับครองพระอาสน์สืบทอดความเป็นพระศาสดาขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12)

Sunday 16 September 2018 START OF JAP PRAYOG อาทิตย์ 16 กันยายน 2561 วันเริ่มพิธี ยัป ปัรโย้ค ประจำปี

Monday 17 September 2018 Sangrand (Assu) จันทร์ 17 กันยายน 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Assu

Tuesday 25 September 2018 Joti Jot Guru Amar Das Ji อังคาร 25 กันยายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อมร ดาส ยี (พระศาสดาองค์ที่ 3)

Sunday 30 September 2018 Gur-Gaddi Diwas Guru Angad Dev Ji อาทิตย์ 30 กันยายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันขึ้นประทับครองพระอาสน์สืบทอดความเป็นพระศาสดาขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อังคัต เทพ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 2)

Thursday 4 October 2018 Joti Jot Guru Nanak Dev Ji พฤหัสบดี 4 ตุลาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 1)

Thursday 11 October 2018 Parkash Diwas Satguru Hari Singh Ji พฤหัสบดี 11 ตุลาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หริ ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 8)

Tuesday 16 October 2018 JAP PRAYOG Mela Finish อังคาร 16 ตุลาคม 2561 วันสิ้นสุดพิธี ยัป ปัรโย้ค ประจำปี

Wednesday 17 October 2018 Sangrand (Katak) พุธ 17 ตุลาคม 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Katak

 

Friday 26 October 2018 Parkash Diwas Guru Ram Das Ji ศุกร์ 26 ตุลาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ดาส ยี (พระศาสดาองค์ที่ 4)

Friday 2 November 2018 Joti Jot Guru Har Rai Ji ศุกร์ 2 พฤศจิกายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หัร ราย ยี (พระศาสดาองค์ที่ 7)

Wednesday 7 November 2018 Diwali พุธ 7 พฤศจิกายน 2561 วันเทศกาล ดีวาลี

Thursday 8 November 2018 Bikram Samwat 2074 begins พฤหัสบดี 8 พฤศจิกายน 2561 วันเริ่มศักราชใหม่ปี 2074

Wednesday 21 November 2018 Joti Jot Diwas Guru Gobind Singh Ji พุธ 21 พฤศจิกายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โคบินด์ ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 10)

Wednesday 21 November 2018 Parkash Diwas Satguru Jagjit Singh Ji พุธ 21 พฤศจิกายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ยัคยิต ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 15)

Friday 23 November 2018 Parkash Diwas Satguru Nanak Dev Ji ศุกร์ 23 พฤศจิกายน 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันประสูติองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 1)

Friday 16 November 2018 Sangrand (Maghar) ศุกร์ 16 พฤศจิกายน 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Maghar

Monday 26 November 2018 Shaheedi Mela Ludhiana จันทร์ 26 พฤศจิกายน 2561 วันรำลึกการเสียสละของบรรพบุรุษผู้พลีชีพเพื่อปกป้องคุณธรรมและศาสนา ณ เมือง ลุเดียนา

Wednesday 12 December 2018 Joti Jot Guru Tegh Bhadur Ji พุธ 12 ธันวาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ เตค บาฮา ดูร ยี (พระศาสดาองค์ที่ 9)

Thursday 13 December 2018 Joti Jot Diwas Satguru Jagjit Singh Ji พฤหัสบดี 13 ธันวาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ยัคยิต ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 15)

Thursday 13 December 2018 International Naam Simran Day พฤหัสบดี 13 ธันวาคม 2561 วันสวดมนต์สากลของศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีทั่วโลก

Sunday 16 December 2018 Sangrand (Poh) อาทิตย์ 16 ธันวาคม 2561 วันบุญขึ้นเดือนใหม่ Sangrand-Poh

Saturday 22 December 2018 Joti Jot Saturu Balak Singh Ji เสาร์ 22 ธันวาคม 2561 วันรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ บาลัก ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 11)

Sunday 23 December 2018 Shaheedi Diwas Sahibzadas Ajit Singh Ji & Jujhar Singh Ji Shaheedi Diwas อาทิตย์ 23 ธันวาคม 2561 วันรำลึกการเสียสละของ Ajit Singh Ji และ Jujhar Singh Ji (บุตรชายขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โคบินด์ ซิงห์ ยี [พระศาสดาองค์ที่ 10]) ผู้พลีชีพเพื่อปกป้องคุณธรรมและศาสนา

Sunday 23 December 2018 Dastar Bandhi Diwas Satguru Uday Singh Ji อาทิตย์ 23 ธันวาคม 2561 วันรำลึกวันทรงโพกผ้าบนพระเศียร องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อูเดย์ ซิงห์ ยี

Wed 26 December 2018 Sahibzadas Fateh Singh Ji & Zorawar Singh Ji พุธ 26 ธันวาคม 2561 วันรำลึกการเสียสละของ Fateh Singh Ji และ Zorawar Singh Ji (บุตรชายขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โคบินด์ ซิงห์ ยี [พระศาสดาองค์ที่ 10]) ผู้พลีชีพเพื่อปกป้องคุณธรรมและศาสนา

(อ้างอิงข้อมูล: http://kukasikhs.com/kukasikhs-wp/wp-content/uploads/2018/01/namdhari-calendar2018.pdf)

สถิติผู้นับถือศาสนาซิกข์

ปัจจุบันสาธารณรัฐอินเดียมีประชากรประมาณ 1,300 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของโลก มีผู้นับถือศาสนาซิกข์ในประเทศประมาณ 1.9% ของจำนวนประชากร หรือประมาณ 20 ล้านคน ศาสนาซิกข์ทุกนิกาย ถึงแม้จะเกิดมาไม่นานนักแต่จำนวนศาสนิกชนของศาสนาก็มีมากถึงประมาณ 40 ล้านคน โดยอาศัยกระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ สิงคโปร์ ฮ่องกง และไทย เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทยนั้นมีชาวซิกข์-นามธารีพักอาศัย และประกอบสัมมาชีพอยู่ ซึ่งกระจายอยู่ตามจังหวัดใหญ่ ๆ โดยส่วนใหญ่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร

            ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารี ต่างล้วนมุ่งปฏิบัติธรรม อุทิศตนด้วยความกล้าหาญเพื่อพระผู้เป็นเจ้า ศาสนิกชนส่วนใหญ่มีความกล้าหาญมากโดยดูจากประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้เพื่อความดีงาม และคุณธรรมซึ่งได้แสดงให้ชาวโลกประจักษ์ถึงความกล้าหาญจนอาจกล่าวได้ว่า ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีมีความเข้มแข็ง และเป็นศูนย์รวมพลังของศาสนิกชนที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรชั้นนำของอินเดีย นักการเมือง นักกีฬาซึ่งสร้างชื่อเสียงให้แก่อินเดีย นักอุตสาหกรรม แพทย์ นักดนตรีสังคีตศิลป์ระดับแนวหน้า ทั้งนี้ด้วยการทุ่มเทกายใจ มีวิริยะอุตสาหะในการทำงานอย่างหนัก และเสียสละเพื่อส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ด้วยเอกลักษณ์ของความสามารถนี้เองทำให้ศาสนิกชนส่วนมากจึงประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตไม่ว่าจะไปตั้งถิ่นฐานในส่วนใดของโลก

สถานที่ตั้งและการติดต่อ

ตั้งอยู่เลขที่ 127/1 ซอยอโศก สุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ