share line share line

มัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะซาน (ห้วยทรายใต้)

มัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะซานตั้งอยู่ในหมู่บ้านชาวไทยมุสลิมอันเนื่องมาจากพระราชดำริศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย หมู่ที่ 1 ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีเดิมบริเวณแห่งนี้เป็นป่าละเมาะสภาพอากาศแห้งแล้งมากในช่วงฤดูร้อน ในปี 2515-2517ได้มีมุสลิมจากอำเภอบ้านแหลม จำนวน 17 ครอบครัว และมุสลิมจากสมุทรสงครามจำนวน 7 ครอบครัวอพยพเข้ามาซื้อที่ดินประกอบอาชีพปลูกสับปะรด และต่อมาก็มีมุสลิมจากสมุทรสงครามและเพชรบุรีทยอยกันมาซื้อที่ทำไร่ปลูกสับปะรดมากขึ้นทุกที ซึ่งมุสลิมที่อพยพเข้ามาอยู่ในห้วยทรายนี้ยังไม่มีมัสยิดที่จะทำการละหมาดวันศุกร์และประกอบศาสนกิจร่วมกัน
เด็กๆ ก็ไม่มีที่จะเรียนทางด้านศาสนา

ในปี 2522 ชาวบ้านได้รวมตัวกันจัดตั้งมัสยิดเป็นครั้งแรก โดยนายซบ นาคอนุเคราะห์(อดีตอิหม่าม)ได้วะกัฟที่ดินให้สร้างมัสยิดจำนวน 1 ไร่ ชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างตามมีตามเกิดโดยสละแรงเงินและแรงงานสร้างมัสยิด ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 22 เมตรให้ชื่อว่า “มัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะซาน” แต่ก็สร้างได้เพียงหลังคากับพื้นมัสยิดเท่านั่นเพราะชาวบ้านส่วนมากยากจน นายซบนาคอนุเคราะห์จึงออกใบบอกบุญไปถึงพี่น้องทางกรุงเทพโดยนายวันชัย วงศ์ซารา กับคณะมุสลิมธรรมมานุเคราะห์ได้นำเงินมาร่วมกันทำบุญสร้างต่อเติม ทำฝาผนัง ประตูหน้าต่างจนสามารถทำการละหมาดได้ แต่ก็ยังไม่ได้ฉาบปูนตัวอาคารมัสยิด คณะกรรมการจึงได้ร่วมกันจัดงานหารายได้เป็นครั้งแรก โดยมีคุณหญิงสมร ภูมิณรงค์เป็นประธานในพิธี และฮัจยียะฟัร จันทร์อ้น เป็นประธานจัดงาน

ในปี2525 เพื่อนำรายได้มาฉาบปูนตัวอาคารมัสยิดและทำห้องน้ำ
ในปี 2530 ฮัจยีอำพลกับคณะจากกรุงเทพได้นำมิมบัรและหม้อหุงข้าวขนาดใหญ่และถ้วยชามมาวะกัฟให้มัสยิด ในปี 2532 คุณอัมพร กุลศิริสวัสดิ์ พร้อมกับสามีได้รับทาสีตัวมัสยิด และห้องน้ำจนแล้วเสร็จ ในขณะนั้นคณะกรรมการไม่ทราบว่าที่ดินบริเวณมัสยิดเป็นที่ดินทรัพย์สินส่วนพระองค์ไปขอจดทะเบียนมัสยิดก็จดไม่ได้เพราะหลักฐานไม่ครบ ในปี 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จไปดูงานและทอดพระเนตรโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำรินายซบ นาคอนุเคราะห์จึงได้กราบทูลเชิญไปประทับในมัสยิด และกราบทูลความเป็นมาพร้อมปัญหาของมัสยิด ในหลวงทรงทราบปัญหา จึงทรงพระราชทานที่ดิน
เพิ่มอีก 5 ไร่ ต่อจากนั้นคณะกรรมการมัสยิดจึงได้ถวายมัสยิดให้อยู่ในความอุปถัมภ์ของพระองค์ พระองค์ทรงตรัสว่า “ขอรับไว้ด้วยความเต็มใจ” ต่อมาคณะกรรมการได้ขอจดทะเบียนเรียบร้อยและได้สร้างกำแพงสุสาน(กุโบร์) ส่วนคณะกรรมการได้จัดตั้งกันใหม่โดยมีนายซบนาคอนุเคราะห์เป็นอิหม่าม ฮัจยี ยะฟัร จันทร์อ้น เป็นคอเต็บ และฮัจยี มะน๊าฟ ประสบสุขเป็นบิหลั่น ในวันที่ 26 มกราคม 2534 คณะกรรมการมัสยิด สัปบุรุษและชาวบ้านได้ร่วมกันวางศิลารากฐานโรงเรียนสอนศาสนาของมัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะซาน ในงานพระบาทสมเด็จ-พระเจ้าอยู่หัวได้บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างครั้งนี้จำนวน 20,000 บาท ในปี 2535 คณะกรรมการมัสยิด สัปบุรุษและชาวบ้านได้ร่วมกันจัดงานหารรายได้เพื่อสร้างโรงเรียนสอนศาสนาของมัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะซาน โดยมีหม่อมเจ้าจักรพันธ์ เพ็ญศิริจักรพันเป็นประธานในพิธีและฮัจยะห์ อุษา แสงสุวรรณเป็นประธานจัดงาน ในงานนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างครั้งนี้อีกจำนวน 20,000 บาท ได้ก่อสร้างจนแล้วเสร็จและจัดงานพิธีเปิดป้ายในปี
2536 โดยมีนายจุลภพ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา องคมนตรีเป็นประธานในงานพิธีเปิดป้ายโรงเรียนสอนศาสนาของมัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะซาน ตัวอาคารสร้างเป็นตึกครึ่งไม้กว้าง 8 เมตร ยาว 17 เมตร พร้อมด้วยห้องน้ำงบประมาณในการสร้างทั้งหมด 290,000บาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ร่วมบริจาคทรัพย์ส่วน
พระองค์ในการสร้างทั้งหมดจำนวน 40,000 บาท ปัจจุบันโรงเรียนสอนศาสนาของมัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะซานมีนักเรียน ประมาณ 50 คน เนื่องจากมุสลิมในหมู่บ้านห้วยทรายเพิ่มมากขึ้นทำให้เวลาประกอบศาสนกิจร่วมกันในมัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะซาน
จะแออัดและคับแคบมากและอาคารบางส่วนที่เป็นไม้ชำรุด ดังนั้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเยี่ยมราษฎรในหมู่บ้านชาว
ไทยมุสลิมและหมู่บ้านใกล้เคียง ฮัจยีซบ นาคอนุเคราะห์และกรรมการมัสยิดจึงได้กราบทูลให้ทราบถึงปัญหาของมัสยิดและขอ พระบรมราชานุญาตสร้างมัสยิดหลังใหม่ทดแทนมัสยิดหลังเก่า โดยรื้อหลังเดิมออกแล้วสร้างใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอนุญาต และยังทรงพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์จำนวน 100,000อบาทอเป็นประถมฤกษ์ มัสยิดหลังใหม่นี้ได้เริ่มวางศิลารากฐานก่อสร้างเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2540 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราช
สุดาฯเสด็จมาเป็นประธานในพิธีวางศิลารากฐาน หลังจากนั้นเงินบริจาคก็หลั่งไหลเข้ามาเรื่อยๆ ใช้เวลาก่อสร้างอยู่ประมาณ 3 ปีมัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะซานก็แล้วเสร็จ เป็นมัสยิดหลังที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้โดยในหลวงได้ทรงมอบทรัพย์สินส่วนพระองค์สมทบทุนสร้างมัสยิดแห่งนี้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 500,000 บาท
และได้ทำพิธีเปิดป้ายเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2543 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯเสด็จมาเป็นประธานในพิธีเปิดป้ายด้วยหลังจากสร้างมัสยิดแล้วเสร็จในหลวงได้เสด็จเข้าประทับในมัสยิดแห่งนี้อีกหนึ่งครั้ง

มัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะซานออกแบบตามสถาปัตยกรรมอาหรับ มีโดมทองใหญ่อยู่ด้านหน้า ด้านข้างโดมทองมีหออะซานทั้งซ้ายและขวา ตัวหออะซานนั้นมีลวดลายซิกแซ๊กสลับกันระหว่างสีขาวกับสีน้ำเงินตามแบบมัสยิดที่มะดีนะห์
ขอบของประตูหน้าต่างและช่องลมรอบมัสยิดจะเป็นรูปโค้งสามหยักคล้ายกลีบดอกไม้ โดยคุณอุษา แสงสุวรรณและคุณมนตรี หนูมา เป็นผู้ออกแบบ ตัวมัสยิด ซึ่งปัจจุบันฮัจยียะฟัร จันทร์อ้น เป็นอิหม่ามคนปัจจุบันของมัสยิดแห่งนี้

ลุงซบ (ฮัจยียูซูบ นาคอนุเคราะห์) อิหม่ามคนแรกของมัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะห์ซาน

ลุงซบรักและเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาก หัวใจศิลปินของลุงซบได้เขียนคำถวายพระพรทูลเกล้าฯ ถวายตั้งชื่อว่า ลุงซบคร่ำครวญ


โอ้มุสลิมห้วยทรายใต้ จงจำไว้ทุกทุกคน

ถึงแม้พวกเราจะยากจน ทุกทุกคนก็ขยันทำงาน

พระเจ้าอยู่หัวของเรา ล้นเกล้าทรงพระราชทาน

ให้ที่ดินและที่บ้าน เหมือนสวรรค์มาโปรดเมตตา

ถึงตายแล้วเกิดใหม่ ก็หาไม่ได้หรอกหนา

โอพี่น้องของข้า ทั่วหน้าจงจำใส่ใจ

เพื่อความอยู่รอดของพวกเรา ใครจะเฝ้าประคับประคอง

จงทำที่ดินให้เป็นเงินเป็นทอง มาเถิดพี่น้องมาช่วยกันพัฒนา

พระเจ้าอยู่หัวของเรา ล้นเกล้าทรงพระราชทาน

ให้ที่ดินและที่บ้าน เหมือนสวรรค์มาโปรดเมตตา

ถึงตายแล้วเกิดใหม่ ก็หาไม่ได้หรอกหนา

โอ้พี่น้องของข้า ทั่วหน้าจงจำใส่ใจ