share line share line


ความเป็นมาของมัสยิด มู่ฏีอะตุ้ลอิสลามิยะห์ และการก่อตั้งโรงเรียนอิบานะตุอุลูมิดดีนิยะห์

        แต่เดิมมัสยิด มู่ฏีอะตุ้ลอิสลามิยะห์ เป็นเพียงอาคารไม้ชั้นเดียว โดยมีฮัจยีกอแดย์ ลารีย์หรือรู้จักกันในนาม ครูเดย์ ซึ่งท่านถือว่าเป็นผู้มีความรู้มากคนหนึ่งมากในขณะนั้น ตามด้วยฮัจยีเต็บ นาคสุก ฮัจยีอิบรอฮีม โครงเซ็น กำนันโฟร มานะนัส นายคิด เขียวกะแล กีกุ๊ เขียวกะแล กีมาน เขียวกะแล ได้รวมกลุ่มกันเพื่อก่อสร้างมัสยิดหลังนี้ขึ้นมา เพื่อใช้ในการประกอบศาสนกิจทางด้านศาสนา

       โดยเริ่มก่อสร้างในปี 2459 โดยเริ่มจากเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวโดยฮัจยีมน ได้ทำการวาก๊าฟที่ดิน 1 ไร่เศษเพื่อการก่อสร้างมัสยิด หลังจากนั้นฮัจยีมาน ได้ซื้อที่วาก๊าฟเพิ่มเติมและมีการก่อสร้างบาแลขึ้น เพื่อใช้ในการอบรมให้ความรู้ เป็นแหล่งอารยธรรมอิสลาม โดยมีท่านอาจารย์อิบรอฮีม โครงเซ็น หรือครูฮีม ซึ่งเป็นบิดาของท่านอาจารย์ไฟซ็อล โครงเซ็นดำเนินการสอนแต่เพียงผู้เดียว ท่านได้ทำการสอนทั้งทางด้านการอ่านกุรอาน

        ในภาคฟัรดูอีน และฟัรดูกิฟายะห์ อย่างพร้อมสรรพ โดยในยุคนั้นมีนักศึกษาจากหลายท้องที่เข้ามาศึกษาเป็นจำนวนมาก จึงมีการสอนทางด้านระบบปอเนาะ ทางด้านกีตาบ-มลายูและอาหรับ ระบบปอเนาะจึงเกิดขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และในวันอังคารที่ 5 พฤษภาคม 2513 ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ จากอาคารมัสยิดที่เป็นไม้ได้มีการก่อสร้างมัสยิดคอนกรีตขึ้นแทนที่ โดยที่ชาวบ้านต่างร่วมแรงร่วมใจสละทั้งกำลังกายกำลังทรัพย์รวมทั้งผู้มีศรัทธาต่อสถาบันแห่งนี้ ต่างหลั่งไหลเข้ามาอย่างมากมาย จึงทำให้มัสยิดหลังใหม่ได้เสร็จในเวลาอันสั้น ภาพแห่งความประทับใจยังตราตรึงอยู่ในความรู้สึกของผู้อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นตลอดมา บ้างก็โกยหิน บ้างก็แบกปูน บ้างก็โกยทราย หยาดเหงื่อแห่งความสำเร็จ หยาดเหงื่อแห่งความภาคภูมิใจ ซึ่งผุดขึ้นมาบนใบหน้าพร้อมกับรอยยิ้มแห่งความรัก สามัคคี ที่มีต่อกัน มัสยิดแห่งนี้จึงเกิดขึ้นด้วยแรงศรัทธาอย่างแท้จริง

        ท่านอาจารย์อิบรอฮีม ได้ทำการสอนแต่เพียงผู้เดียวในขณะนั้นทำให้ท่านต้องรับภาระหนัก ทั้งหน้าที่การเป็นครู ทั้งหน้าที่การเป็นอีหม่าม ซึ่งสืบต่อมาจากอีหม่ามฮัจยีเต็บ นาคสุก ท่านได้ทำการสอนนานนับสิบปี ด้วยภาระอันหนักนี้ทำให้ท่านต้องล้มป่วยลงเป็นเวลานาน ทำให้ลูกศิษย์ของท่านต้องแยกย้ายกลับมาตุภูมิแต่หลังจากท่านหายดี ท่านก็ยังทำการสอนทางด้านกุรอานให้กับเด็กๆ ในหมู่บ้าน

        จวบจนกระทั่งท่านอาจารย์ไฟซอล โครงเซ็น ซึ่งเป็นบุตรชายได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมะเซาะฮ์ตุดดีน (หลอแหล) กรุงเทพฯ ท่านได้กลับมาสานต่อหน้าที่ ทั้งหน้าที่อีหม่ามและหน้าที่ครูเพื่อให้ความรู้นักเรียนในบ้าน จากนั้นท่านได้ฟื้นฟูระบบปอเนาะขึ้นมา โดยมีนักเรียนชุดแรกมาจากอ. ประทิว จ.ชุมพร จำนวน 3 คน ต่อจากนั้นก็มีนักเรียนในจังหวัดกันเข้ามาเป็นจำนวนมาก

        ทั้งนี้จากแรงศรัทธาจากผู้ปกครอง ซึ่งมีอยู่กับท่าน อ.อิบรอฮีม เป็นทุนเดิม ประกอบกับความรู้ของท่านอาจารย์ไฟซอล จึงทำให้เด็กนักเรียนจากทุกสาระทิศต่างทยอยกันมาอย่างล้นหลาม จึงทำให้ทั้งสถานที่เรียนและปอเนาะไม่เพียงพอต่อความต้องการคณะกรรมการมัสยิดจึงได้มีการออกหาทุนทรัพย์เพื่อมาก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่พร้อมที่พักขึ้นให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยต่างแยกกันไปในแต่ละที่เพื่อขอเรี่ยรายระดมทุนในการก่อสร้าง จากราชบุรี ไปกาญจนบุรี ไปมหาชัย เข้ากรุงเทพฯ จนถึงสระบุรี โดยมีอาจารย์ไฟซ็อลเป็นแกนนำ ต่างฝ่ายต่างทุ่มเทอย่างไม่ย่อท้อ จนสามารถก่อสร้างทั้งทางหอพักและอาคารเรียนหลังใหม่ขึ้นมาได้อย่างไม่ยากเย็น จึงก่อเกิดเป็น “โรงเรียนอิบานะฮ์อุลูมิดดีนิยะฮ์” ตังแต่นั้นเป็นต้นมา

        ท่านอาจารย์ไฟซอลได้ทำการบริหารงานทั้งทางตำแหน่งอีหม่ามทั้งทางระบบฟัรดูอีนและระบบปอเนาะ อย่างครบครัน โดยมีท่านอะรอมดอน ภักดีเตลิม อ.ยามิ้ล โครงเซ็น มาช่วยทำการสอน เพื่อแบ่งเบาภาระของท่านให้น้อยลงจวบจนปัจจุบันมีนักเรียนจากหลายจังหวัดเข้ามาทำการศึกษาในสถาบันแห่งนี้
ประมาณ 80 คน โดยมีลูกศิษย์ลูกหาที่จบไป ที่ไปศึกษาต่อได้กลับมาช่วยในการสอนจึงทำให้สถาบันได้ขับเคลื่อนระบบการสอน ได้อย่างสะดวกสบาย เป็นการผ่อนภาระของท่านอาจารย์ไฟซอล ซึ่งในปัจจุบันนี้ท่านได้ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการจังหวัดเพชรบุรี เพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งตำแหน่ง ซึ่งเป็นหน้าที่หนักหน่วงจากการรับผิดชอบเพียงแค่คนกัมปงเดียว กลับกลายมาเป็นความรับผิดชอบต่อมุสลิมทั้งจังหวัด แต่ท่านก็สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยว จึงทำให้ทั้งสังคมมุสลิมทั้งจังหวัดได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างทันตา กับสถาบันที่ยืนหยัดอยู่อย่างมั่นคง มีการพัฒนาหลากหลายรูปแบบ จึงทำให้โรงเรียนอิบานะฮ์ในวันนี้มีความเข้มแข็ง และพร้อมที่จะรับบุตรหลานของท่าน เพื่อประสิทธิภาพประสาทความรู้ และความเข้าใจในเรื่องของศาสนา และสังคมการอยู่ร่วม เป็นดุนยาเพื่ออาคิเราะฮ์โดยแท้

        ปัจจุบันมีคณะครูที่ทำการสอนทั้งภาคฟัรดูอีนและระบบปอเนาะรวม 10 คน มีนักเรียนรวมจาก 2 ระบบ 185 คน มีการสอนทั้งทางด้านภาษาอาหรับ มลายูจากคณะครูผู้ชำนาญทางด้านภาษาโดยเฉพาะเปิดรับสมัครตั้งแต่ 1 เมษายนเป็นต้นไป (ของทุกปี) โดยมีระบบการศึกษานอกโรงเรียน หรือ กศน.ควบคู่ร่วมในสถาบันด้วย เป็นการรองรับนักเรียนที่ด้อยโอกาสการศึกษาทางภาคสามัญจากทางบ้านได้มีโอกาสสานต่อการศึกษาภาคสามัญควบคู่กันไป โดยในปัจจุบันได้มีนักศึกษาซึ่งศึกษาในระบบ กศน.นี้ได้เข้าไปศึกษาทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จำนวนหลายคน และก็มีผู้ที่ได้สำเร็จจากสถาบันราชภัฏมาแล้วเช่นกัน ในการศึกษาช่วงเสาร์-อาทิตย์ โดยทางโรงเรียนอิบานะฮ์ของเรา ได้เปิดโอกาสทางการศึกษาตรงนี้ซึ่งวันจันทร์-ศุกร์ ก็ศึกษาในภาคศาสนาและในวันเสาร์-อาทิตย์ก็ศึกษาทางด้านสามัญ เพื่อนักเรียนจะได้รับความสุขทั้งดุนยาและอาคิเราะฮ์โดยแท้ ด้วยสลามและดุอาฮฺ