'วัดกรอกยายชา'ต้นแบบวัดสีเขียว
          เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2562
          วัดไม่ใช่เป็นเพียงศาสนสถานสำหรับประกอบพิธีกรรมในวันสำคัญ หรือเป็นเพียงสถานที่จำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น
          แต่วัดยังมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นศูนย์รวมของคนในสังคม เป็นสถานที่ให้ความรู้ วัดบางแห่งยังเป็นสถานที่พัฒนาอาชีพ รวมถึงคุณภาพชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบอีกด้วย เช่นเดียวกับ "วัดกรอกยายชา" ศาสนสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของอำเภอเมือง เมืองระยอง ที่มีความเก่าแก่กว่าร้อยปี ที่นี่ไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาของชุมชนตำบลเนินพระ แต่ยังเป็น ต้นแบบวัดเชิงนิเวศ (Eco Temple) ประจำจังหวัดระยองอีกด้วย
          วัดกรอกยายชา มีผู้คนในพื้นที่เข้ามา กราบไหว้และร่วมพิธีทางศาสนามากมายในแต่ละวัน ทั้งยังมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมจำนวนไม่น้อย ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความสะอาดตามมา ทั้งปัญหาสารอินทรีย์ระเหยอันเนื่องมาจากการจุดธูปบูชา  ปัญหาเรื่องสัตว์เลี้ยง ทั้งสุนัขและแมวที่คนชอบนำมาปล่อย รวมถึงข้าวของภายในวัดที่ถูกเก็บรวบรวมไว้โดยไม่ได้รับการจัดการอย่างเป็นระเบียบ สมาคมเพื่อนชุมชน เล็งเห็นถึงศักยภาพของวัดกรอกยายชาในการพัฒนาเป็นต้นแบบวัดเชิงนิเวศ จึงได้เข้ามาเผยแพร่ความรู้ในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา รวมทั้งทำหน้าที่เป็นสื่อกลางประสานงานระหว่าง วัด ชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม และองค์กรภาครัฐ ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมโดยรวม
          นายวริทธ์ นามวงษ์ อุปนายกสมาคมเพื่อนชุมชน กล่าวว่า เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดวัดเชิงนิเวศ จึงให้ความสำคัญในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมภายในศาสนสถาน โดยมีเป้าหมายหลักคือเพิ่มพื้นที่สีเขียวและปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีแก่ชุมชนที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกณฑ์การดำเนินงานจะประกอบไปด้วย 5 ส่วน คือ ความสะอาดและความเป็นระเบียบ พื้นที่สีเขียว การจัดการสิ่งแวดล้อม กิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้ และการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน
          คุณลุงสมเดช พรโสภณ ประธานชุมชนกรอกยายชา เผยว่า สิ่งแรกที่มีการเปลี่ยนแปลง คือ ยกเลิกการจุดธูปเทียน แล้วเปลี่ยนเป็นการใช้ธูปเทียนไฟฟ้าแทน ซึ่งช่วยลดปัญหาสารอินทรีย์ระเหย และยังช่วยลดมลพิษอากาศภายในวัดด้วย ส่วนพวกสัตว์เลี้ยง ทางสมาคมฯ ได้ให้ความรู้ทางกฎหมาย ห้ามไม่ให้ชาวบ้านนำสุนัขหรือแมวมาปล่อย เพราะมีความผิด ปัจจุบันบรรยากาศในบริเวณวัดจึงดูสะอาดตา สวยงามขึ้น
          "ด้านในอาคารมีของใช้จำนวนมาก ก็ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งชาวบ้าน นักเรียน พนักงานจากโรงงาน และคนจากเทศบาล เข้ามาช่วยทำความสะอาดและจัดระเบียบสิ่งของต่าง ๆ ตามหลัก 5ส (สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ สร้างนิสัย) ทางโรงงานอุตสาหกรรมเองก็ยังช่วยนำอุปกรณ์ทำความสะอาด และเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ มาให้ด้วย ถือเป็นการร่วมแรงร่วมใจ สร้างความสามัคคีของทุกคนในชุมชน" คุณลุงสมเดช กล่าว
          คุณลุงบี๋ แก่นสาน กรรมการวัดกรอกยายชา กล่าวเสริมว่า นอกจากการดูแลรักษาความสะอาด และการจัดการสิ่งแวดล้อม รอบ ๆ วัดแล้ว ยังได้สนับสนุนให้เพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในวัดด้วย ซึ่งเจ้าอาวาสวัดกรอกยายชาท่านมีความรู้เกี่ยวกับพืชและยาสมุนไพร จึงมีการปลูกไม้ยืนต้น พืชผัก และพวกสมุนไพร ท่านก็ยินดีให้ความรู้เรื่องสมุนไพรไทยแก่ผู้ที่สนใจ  บางครั้งท่านก็ทำน้ำสมุนไพรแจกจ่ายให้ชาวบ้านโดยไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย และตรงนี้ยังต่อยอดส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้เพิ่ม เพราะพอชาวบ้านสามารถนำพืชผักกลับไปปลูกกินที่บ้าน ถ้าเหลือก็นำไปขายได้ หรือนำไปผลิตเป็นปุ๋ยหมักขายได้อีกด้วย
          เมื่อมีวัดเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศ คนในชุมชนจึงได้รับความรู้กลับไปดูแลรักษาสภาพแวดล้อมภายในบ้านของตนเอง สร้างชุมชนที่สะอาด มีระเบียบ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี การพัฒนาวัดเชิงนิเวศไม่ใช่เพียงการยกระดับความสวยงามของศาสนสถานเท่านั้น แต่ยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้แก่ชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้สังคมส่วนรวมด้วย.