มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำ ชาติประเภทสัตว์ในตำนาน โดยเรื่องราวเกี่ยวกับนาคมีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิต สะท้อนถึงตำนานและความเชื่อมาแต่อดีตสื่อออกมาผ่านทางขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม พิธีกรรมต่าง ๆ การขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ด้วยการนำ Soft Power ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมมาใช้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ กลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรม นำรายได้เข้าประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน จึงขอนำเสนอเรื่อง “นาค : ตำนานและความเชื่อที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา” ดังนี้
จากข้อมูลกระทรวงวัฒนธรรม พบว่า ปัจจุบันประเทศที่มีสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน เทพนิยายและความเชื่อ มีจำนวน 157 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 229 รายการ มีบางประเทศที่มีสัตว์ประจำชาติมากกว่า 1 รายการ ซึ่งสัตว์ประจำชาติของประเทศต่าง ๆ มีสัตว์ที่ปรากฏอยู่จริง เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สี่เท้า สัตว์ปีก และเป็นสัตว์ในตำนานเทพนิยายและความเชื่อ แม้ว่าจะไม่มีผู้พบเห็นหรืออาจจะไม่ปรากฏว่ามีแหล่งอาศัยอยู่ในประเทศ แต่คนในชาตินั้น ๆ มีความเชื่อและศรัทธาจนมีการสร้างสรรค์เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ สัตว์ในตำนานประจำชาติจะมีการประกาศในประเทศที่มีประวัติศาสตร์ชาติที่ยาวนาน มีอารยธรรม เช่น ประเทศจีน หมีแพนด้าเป็นสัตว์ประจำชาติ และมังกรเป็นสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน ประเทศอินโดนีเซีย มังกรโคโมโดเป็นสัตว์ประจำชาติ และครุฑเป็นสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน และประเทศกรีซ ปลาโลมาเป็นสัตว์ประจำชาติ และนกฟินิกซ์เป็นสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน ทั้งนี้ สัตว์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน เทพนิยายและความเชื่อนั้น พบว่า     มีลักษณะ (1) เป็นสัตว์ในตำนาน จินตนาการ อุดมการณ์ และความเชื่อของผู้คนในสังคมนั้นๆ (2) มีประวัติความเป็นมาของสัตว์ประเภทตำนาน / เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติ (3) เกี่ยวข้องและส่งเสริมภาพลักษณ์ของสังคม สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ (4) เป็นตราแผ่นดิน รูปปรากฏบนธง ตราอาร์ม งานวรรณกรรม ศิลปะ สถาปัตยกรรม (5) มีความสืบเนื่องถึงปัจจุบันและสามารถนำมาต่อยอดเป็น Soft Power ได้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และมีสัตว์ในจินตนาการ ตำนาน และความเชื่อมากมาย ได้แก่ นาค ครุฑ หงส์ คชสีห์ ราชสีห์ ช้างเอราวัณ และกินรี ปรากฏอยู่ในสิ่งต่าง ๆ และจะพบว่าเรื่องราวเกี่ยวกับนาคมีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิต สะท้อนถึงตำนานและความเชื่อมาแต่อดีต สื่อออกมาผ่านทางขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม พิธีกรรมต่าง ๆ เช่น เป็นผู้พิทักษ์ศาสนา เป็นบันไดเชื่อมระหว่างโลกและสวรรค์ นาคจึงเป็นหนึ่งในคติความเชื่อที่ปรากฏในสังคมไทยมาอย่างยาวนานหลายศตวรรษ ปัจจุบันคติความเชื่อเรื่องนาคยังคงปรากฏในรูปของขนบธรรมเนียมประเพณีพิธีกรรม ทั้งที่เป็นวิถีปฏิบัติสืบทอดมาแต่โบราณ รวมทั้งมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย ขนบธรรมเนียม ประเพณี พิธีกรรมที่ปรากฏอย่างหลากหลายในสังคมไทย 











นาคเป็นสัตว์ในจินตนาการที่ปรากฏในคติความเชื่อทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู รวมทั้งความเชื่อท้องถิ่นเกี่ยวกับการบูชางูโดยเฉพาะในอินเดียภาคใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานนับพันปี        แต่จากการผสมผสานและเลือกรับปรับใช้ทางวัฒนธรรมทําให้คติความเชื่อเกี่ยวกับนาค สะท้อนอยู่ในวัฒนธรรมประเพณีไทยด้านต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยคติความเชื่อเกี่ยวกับนาคในเอกสารทางศาสนา ทั้งพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ส่งผลให้สถาบันศาสนานำคติความเชื่อเกี่ยวกับนาคมาใช้ประกอบสร้างศิลปวัฒนธรรมเป็นจำนวนมาก เช่น ประเพณีการบวชนาค การใช้นาคหรือรูปทรงของนาคมาสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์ไทยนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังเช่น พระพุทธรูปปางนาคปรกอันเกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติตอนเสวยวิมุติสุข หรือ ความเชื่อเรื่องนาค ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกและสวรรค์นั้น ทำให้รูปลักษณ์ของนาคถูกใช้ประดับในองค์ประกอบทาง สถาปัตยกรรมจำนวนหนึ่ง เช่น การสร้างบันไดนาค หรือ นาคสะดุ้ง ที่ทอดลำตัวยาวตามบันไดอุโบสถ หรือนาคลำยอง ที่ทำเป็นส่วนของป้านลมหลังคาอุโบสถ นอกจากนี้ ยังมีนาคจำลอง นาคทันต์ คันทวยรูปนาค ฯลฯ 
ความสำคัญของนาคในวัฒนธรรมไทย คติความเชื่อเรื่องนาคแพร่หลายในสังคมไทยตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะสมัยประวัติศาสตร์หรือสมัยทวารวดีเป็นต้นมา โดยนับถือปะปนกันทั้งคติฝ่ายพุทธศาสนา พราหมณ์-ฮินดู       และความเชื่อพื้นถิ่นในบางภูมิภาคของไทยแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือริมแนวฝั่งแม่น้ำโขง ปรากฏความเชื่อปรัมปราเรื่องนาคที่มีบทบาทในการสร้างบ้านแปงเมือง เป็นผู้ปกป้องรักษาเมือง นอกจากนี้ ยังมีวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับนาค เช่น วันออกพรรษา ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์    นาคที่อาศัยอยู่ ตามแม่น้ำโขงต่างยินดีปรีดา พากันจุดบั้งไฟถวายการเสด็จลงกลับสู่โลกมนุษย์ของพระองค์เป็นพุทธบูชาซึ่งเป็นตำนานเรื่อง “บั้งไฟพญานาค” อีกทั้งในประเพณีไหลเรือไฟ เรือที่ตกแต่งขึ้นแทนพญานาคเพื่อลอยไปบูชารอยพระพุทธบาท นาคศรัทธาในพระพุทธศาสนาหรือเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา สะท้อนให้เห็นจากวรรณกรรม งานศิลปะและความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม วรรณกรรม เช่น เรื่องภูริทัตชาดก จัมเปย ชาดก ปุณณาคชาดก สังขปาลชาดก       งานศิลปะปรากฏทั้งงานประติมากรรม และจิตรกรรมจำนวนมาก โดยมีที่มาจากเรื่องราวในพุทธประวัติ  ตอนที่เกี่ยวข้องกับนาค เช่น พระพุทธรูปนาคปรก พุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้า เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และจิตรกรรมเล่าเรื่องตอนนาคแปลงกายเป็นมนุษย์เข้ามาขอบวชใน พระพุทธศาสนา เป็นต้น ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม รวมถึง ความเชื่อเกี่ยวกับนาคที่เป็นผู้เฝ้ารักษาสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา นาคที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ และประเพณีการบวชในพระพุทธศาสนา
 
การนำเรื่องนาคไปสร้างสรรค์เป็น Soft Power ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมมาใช้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ กลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรม นำรายได้เข้าประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน บทความฉบับนี้    ขอยกตัวอย่าง “ตามรอยพญานาค” เพื่อเปิดตำนานพญานาค  เช่น คำชะโนด อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี วัดภูตะเภาทอง จังหวัดอุดรธานี วัดถ้ำศรีมงคล หรือถ้ำดินเพียง ตำบลผาตั้ง จังหวัดหนองคาย ถ้ำพญานาค หรือ ถ้ำเมืองบาดาลจำลอง วัดไทย อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย พญาศรีสัตตนาคราช จังหวัดนครพนม ถ้ำนาคา จังหวัดบึงกาฬ วัดถ้ำผาแด่น จังหวัดสกลนคร และแก่งอาฮง เป็นจุดที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขง ประมาณ 200 เมตร        ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดบึงกาฬ เรียกว่า สะดือแม่น้ำโขง ๕ วัดดัง ไหว้พญาครุฑ ได้แก่ วัดประยงค์กิตติวนาราม วัดโพธิ์ทอง วัดบัวขวัญ วัดครุฑธาราม วัดศรีมหาโพธิ์ การนำนาคไปต่อยอดสร้างสรรค์เป็นภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ประติมากรรมกวนเกษียรสมุทรในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่สะดุดตาแก่ผู้เห็นมากที่สุด เพราะความประณีต สีสันและการตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง เป็นประติมากรรมโลหะปิดทองประดับกระจก ประกอบด้วย เทวดา 9 องค์ฉุดหางพญานาค ฝ่ายอสูร 9 ตนฉุดหัวพญานาค ตรงกลางของประติมากรรม มีพระนารายณ์ทรงประทับตระหง่านบนเขามันทระ มือถือเทพศาสตราวุธ สังข์ จักร ตรี คทา อลังการงดงาม จิตรกรรมฝาผนัง เรือพระราชพิธี เรือนาค เรืออนันตนาคราช

ลัทธิความเชื่อความศรัทธาของมนุษย์ที่มีต่อศาสนา โดยการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในด้านความเชื่อและความศรัทธาเรื่อง “พญานาค” เกี่ยวเนื่องกับศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ โบราณสถาน และประเพณี สามารถสร้างให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ และเป็น Soft Power ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยนำทุนทางวัฒนธรรมมาใช้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ กลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรม นำรายได้เข้าประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
  • กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์.มโนทัศน์เรื่องนาคของชนชาติไท. Veridian E-Journal, Silpakorn University ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม – เมษายน 2559.
  • พงศ์สวัสดิ์ ราชจันทร์. ประวัติศาสตร์คัดสรร : ความเชื่อและศรัทธาที่มีต่อพญานาคราช ในบริบทท้องถิ่นอีสาน. Journal of Roi Kaensarn Academi ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม 2565
  • มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เรื่อง การเสนอให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทสัตว์ในตำนาน
  • วีระ โรจน์พจนรัตน์.  เอกสารประกอบการบรรยาย “นาค : ตำนานและความเชื่อที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา” วันที่ 16 ธันวาคม 2565 กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.
  • เอกสารประกอบการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “นาค” ในวัฒนธรรมไทย  ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันที่ 16 พฤษภาคม 2565 สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.