share line share line

ประวัติความเป็นมา

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นวัดที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่กรมท่า และสมุหพระกลาโหม ได้อุทิศสวนกาแฟสร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2371 ซึ่งมีอาณาเขตติดกับบ้านสมเด็จเจ้าพระยาฯ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2375 ได้ถวายเป็น พระอารามหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า "วัดประยุรวงศาวาส" ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "วัดรั้วเหล็ก" เพราะมีรั้วเหล็กเป็นกำแพงวัดอยู่เป็นบางตอน รั้วเหล็กนี้สูงประมาณ 3 ศอกเศษ ทำเป็นรูปอาวุธคือ หอก ดาบ และขวาน (ขวานสามหมื่น ปืนสามกระบอก หอกสามแสน) มีลักษณะเป็นกำแพงและซุ้มประตูเล็กๆ เป็นตอนๆ วัดจากมุมวิหารคตข้างพระอุโบสถไปจรดกำแพงประตูวัดด้านตะวันออกยาว 148 เมตร ล้อมบริเวณอุทยานเขามอ (เขาเต่า) อีก 2 ด้านด้านตะวันตกยาว 48 เมตร ด้านใต้ยาว 43 เมตรล้อมเป็นกำแพงหน้าวัด ตอนขวามือเข้ามายาว 40 เมตร ตอนซ้ายมือเข้ามายาว 20 เมตร

มีเรื่องเล่าว่า รั้วเหล็กนี้เดิมสมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์สั่งเข้ามาจากประเทศอังกฤษเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้ล้อมเป็นกำแพงในพระราชวัง แต่พระเจ้าอยู่หัวไม่โปรด สมเด็จเจ้าพระยาจึงขอรับพระราชทานมาใช้ล้อมเป็นกำแพงในวัด โดยใช้น้ำตาลทรายแลกเอา หนักต่อหนัก คือเหล็กหนักเท่าใด น้ำตาลทรายก็หนักเท่านั้น ในคราวเดียวกันนั้นยังทูลเกล้าฯ ถวายพรมผืนใหญ่ 1 ผืน กับโคมกิ่งแก้ว 3 โคม ซึ่งไม่โปรด จึงได้ทูลขอ พระราชทานโคมไปประดับในพระอุโบสถวัดนี้

เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เดินทางไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในฐานะเป็น อัครราชทูตพิเศษเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาใน พ.ศ. 2423 เมื่อกลับถึงเมืองไทยในปีเดียวกันได้เล่าว่า ตนพบรั้วเหล็กล้อมเป็นกำแพงเมืองหลายแห่งในกรุงลอนดอนรั้วเหล็กเหล่านั้นมีรูปลักษณะเช่นเดียวกับรั้วเหล็กที่วัดประยุรวงศาวาส

หน้าบัน ลายดอกบุนนาค พระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมไทย|สถาปัตยกรรมทรงไทย หน้าบันเป็นลายดอกบุนนาค ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ ส่วนพระวิหารเป็นสถาปัตยกรรมทรงไทยเช่นกัน ในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธนาค (หลวงพ่อนาค) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย อายุกว่า 700 ปี

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ยังได้สร้างพระบรมธาตุมหาเจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่ ถือว่าเป็นเจดีย์แบบลังกาองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2398 ต่อมา พ.ศ. 2425 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ได้ให้ซ่อม พระวิหาร เปลี่ยนช่อฟ้าใบระกา ปิดทองประดับกระจกใหม่ ซ่อมศาลาและพระอุโบสถใหม่ ซึ่งในปีถัดมาพระองคฺได้เสด็จมาพระราชทานผ้าพระกฐิน ณ พระอุโบสถวัดประยุรวงศานี้

การสร้างวัดได้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2371 สร้างอยู่ 8 ปี จึงสำเร็จในปี พ.ศ. 2379 ได้มีการฉลองวัดในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2379 ตรงกับวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 7 ค่ำ ดังหลักฐานที่ปรากฏในพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ว่า

"ครั้นลุถึงศักราช 1198 ปีวอก อัฐศก เป็นปีที่ 13 ครั้นมาถึงวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 7 ค่ำ เจ้าพระยาพระคลังมีการฉลองวัดประยุรวงศาวาส พระสงฆ์ในวัดได้ปืนเปรียมกระสุน 5 นิ้วชำรุดหูพะเนียงทิ้งอยู่ในวัดบอก1 เอาทำไฟพะเนียงจุด...."

ที่มา wikipedia

กิจกรรมของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์

     1. เปิดสอน “ธรรมศึกษา” ชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก มีครูผู้สอนทั้งพระภิกษุ และฆราวาสที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรธรรมศึกษาของแม่กองธรรมสนามหลวง ซึ่งมี 3 ภาค ได้แก่ (1) ภาควิชาบังคับทางพระพุทธศาสนา (2) ภาควิชาเลือก มีการสอนเสริมวิชาสามัญ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ เป็นต้น และวิชาเลือกพิเศษตามความสนใจ เช่น ดนตรีไทย รำไทย ทำดอกไม้ประดิษฐ์ ศิลปะ ฯลฯ และ (3) ภาคกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่น กิจกรรมทาง พระพุทธศาสนา กิจกรรมทางสถาบันพระมหากษัตริย์ กิจกรรมเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา ฯลฯ ตลอดจนเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

     2. จัดกิจกรรมทางสถาบันพระมหากษัตริย์เสริมสร้างความจงรักภักดี จัดกิจกรรมจิตอาสาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในชุมชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในด้านศาสนา ด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและด้านการรักษา สืบสานวัฒนธรรมไทย เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชนและประชาชนในทุกช่วงวัย ให้เป็นคนดีมีคุณธรรม มีปัญญาและมีความสุข และมีความสมานฉันท์สามัคคีภายในชุมชน