share line share line

พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร
พระปฐมเจดีย์ เป็นเจดีย์องค์ใหญ่ ตั้งอยู่ในตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ห่างจากกรุงเทพประมาณ 60 กิโลเมตร นับว่าเป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในไทย สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงส่งสมณทูตมาเผยแผ่พระศาสนา นักปราชญ์ทางโบราณคดีเห็นพ้องกันว่า พระโสณเถระและพระอุตตรเถระ เป็นสมณทูตและมาตั้งหลักฐานประกาศหลักธรรมคำสอนที่นครปฐมป็นครั้งแรก ในพุทธศตวรรษที่ ๓ และได้สร้างพระเจดีย์ทรงบาตรคว่ำ แบบเจดีย์สาญจิในประเทศอินเดียไว้ 
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ขณะผนวช ได้เสด็จธุดงค์มานมัสการ ทรงเห็นเป็นเจดีย์ยอดปรางค์ สูง ๔๒ วา เมื่อทรงลาผนวช ได้เสวยราชสมบัติแล้ว ในราว พ.ศ. ๒๓๙๖ ได้โปรดให้ก่อพระเจดีย์ใหม่ห่อหุ้มองค์เดิมไว้ สูง ๑๒๐ เมตร กับ ๔๕ เซนติเมตร พร้อมสร้างวิหารคตและระเบียงโดยรอบ งานไม่ทันแล้วเสร็จก็สวรรคต 
ต่อมารัชกาลที่ ๕ โปรดให้ปฏิสังขรณ์จัดสร้างหอระฆัง และประดับกระเบื้องจนสำเร็จ เมื่อถึงรัชกาลที่ ๖ ปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง เขียนภาพพระเจดีย์องค์เดิมและภาพต่าง ๆ ไว้ที่ ผนัง รื้อมุขวิหารด้านทิศเหนือสร้างใหม่ เพื่อประดิษฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชบูชนียบพิตร และรัชกาลที่ ๗ โปรดให้สร้างพระอุโบสถใหม่ 
นับแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ต่อเติมในครั้งนั้นแล้ว จนบัดนี้เป็นเวลาร้อยปีเศษ มิได้มีการบูรณะครั้งใหญ่เลย นอกจากซ่อมแซมเล็กน้อย ที่ชำรุดเป็นบางส่วนเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ทางวัดพบว่าตัวองค์พระปฐมเจดีย์มีรอยร้าวแตกร้าวหลายแห่ง กระเบื้องที่ประดับหลุดร่วงลงมา จึงได้แจ้งเรื่องไปยังรัฐบาลสมัยนั้น ทางรัฐบาลเองก็ได้ส่งเรื่องต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย ให้เป็นผู้พิจารณาดำเนินการและมอบให้กรมโยธาธิการส่งช่างผู้เชี่ยวชาญไปทำ 
การสำรวจตรวจสอบซึ่งใช้เวลาอยู่ประมาณ ๙ ปี และในที่สุดลงความเห็นว่าองค์พระปฐมเจดีย์ มีความชำรุดมาก ควรดำเนินการบูรณะเป็นการด่วน เมื่อรัฐบาลได้ทราบข้อเท็จจริงและ พิจารณาเห็นว่าพระมหาเจดีย์แห่งนี้เป็นเจดีย์สำคัญ เป็นสมบัติที่มีค่ายิ่ง สมควรที่จะต้องรักษาให้ยืนยงคงอยู่ตลอดไป จึงได้อนุมัติงบประมาณ ให้กรมโยธาธิการกระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าของโครงการระยะที่ ๑-๒ และกรมศิลปากร กระทรวง ศึกษาธิการ เป็นเจ้าของโครง การระยะที่ ๓ ได้ลงมือทำการ ซ่อมแซมบูรณะมาตั้งแต่วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๑๘ สิ้นสุดลง เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๒๔ สิ้นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเป็น จำนวนเงิน ๒๔,๖๒๕,๓๗๕ บาท 
องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า เป็นที่เคารพ สักการบูชาของ บรรดา พุทธศาสนิกชนทั่วโลก ทางวัดกำหนดให้มีงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ในวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึง วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ รวม ๙ วัน ๙ คืน เป็น ประจำทุกปี 
องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ใหญ่ รูประฆังคว่ำ ปากผายมหึมา โครงสร้างเป็นไม้ซุง รัดด้วยโซ่เส้นมหึมาก่ออิฐ ถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ ประกอบด้วยวิหาร ๔ ทิศ กำแพงแก้ว ๒ ชั้น

รายละเอียดเกี่ยวกับพระปฐมเจดีย์
สูงจากพื้นดินถึงยอดมงกุฏ ๑๒๐.๔๕ เมตร 
ฐานโดยรอบวัด ๒๓๕.๕๐ เมตร 
เส้นผ่าศูนย์กลางวัดโดยรอบ ๕๖.๖๔ เมตร 
จากปากระฆังถึงสี่เหลี่ยมสูง ๑๘.๓๐ เมตร 
สี่เหลี่ยมด้านละ ๒๘.๑๐ เมตร 
ปล้องไฉนทั้งหมดมี ๒๗ ปล้อง 
เสาหารมี ๑๖ ต้น 
คตพระระเบียงโดยรอบ ๕๖๒ เมตร 
กำแพงแก้วชั้นในโดยรอบ ๙๑๒ เมตร 
ซุ้มระฆังบนลานองค์พระปฐมเจดีย์ ๒๔ ซุ้ม 

ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระยุพราช ได้เสด็จ ตรวจค้นโบราณสถานในมณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ พบพระพุทธรูปชำรุดองค์หนึ่งจมในพื้นวิหาร วัดโบราณในเมืองศรีสัชนาลัย โปรดให้ขุดขึ้น พบพระเศียร พระหัตถ์ และพระบาทที่ยังดีไม่ชำรุดมีลักษณะ งดงามต้องตามพระราชหฤทัย จึงโปรดให้เชิญลงมากรุงเทพมหานคร 
ครั้งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงโปรดให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทำรูปหุ่นขี้ผึ้ง ปฏิสังขรณ์ปั้นให้เสร็จบริบูรณ์เต็มองค์ ตั้งการพระราชพิธี เททองที่วัดพระเชตุพนฯ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖ เป็นพระยืนปางห้ามญาติ หล่อด้วยโลหะ 
ครั้นแล้วเสร็จอัญเชิญประดิษฐานไว้ที่ซุ้มวิหารทิศ ตรงบันไดใหญ่ เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ ทรงถวายพระนามว่า "พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร" สูงจากพระเกศาถึงพระบาท ๑๒ ศอก ๔ นิ้ว และทรง พระกรุณาโปรดเกล้าในพระราชพินัยกรรม ให้บรรจุพระอังคารของพระองค์ท่านไว้ในใต้ฐานพระนี้ด้วย

กิจกรรมของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์

     1. เปิดสอน “ธรรมศึกษา” ชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก มีครูผู้สอนทั้งพระภิกษุ และฆราวาสที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรธรรมศึกษาของแม่กองธรรมสนามหลวง ซึ่งมี 3 ภาค ได้แก่ (1) ภาควิชาบังคับทางพระพุทธศาสนา (2) ภาควิชาเลือก มีการสอนเสริมวิชาสามัญ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ เป็นต้น และวิชาเลือกพิเศษตามความสนใจ เช่น ดนตรีไทย รำไทย ทำดอกไม้ประดิษฐ์ ศิลปะ ฯลฯ และ (3) ภาคกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่น กิจกรรมทาง พระพุทธศาสนา กิจกรรมทางสถาบันพระมหากษัตริย์ กิจกรรมเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา ฯลฯ ตลอดจนเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

     2. จัดกิจกรรมทางสถาบันพระมหากษัตริย์เสริมสร้างความจงรักภักดี จัดกิจกรรมจิตอาสาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในชุมชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในด้านศาสนา ด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและด้านการรักษา สืบสานวัฒนธรรมไทย เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชนและประชาชนในทุกช่วงวัย ให้เป็นคนดีมีคุณธรรม มีปัญญาและมีความสุข และมีความสมานฉันท์สามัคคีภายในชุมชน