share line share line

วัดเทวราชกุญชร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิด วรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๙๐ ถนนศรีอยุธยา แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 
อาณาเขต ทิศเหนือติดกับถนนศรีอยุธยา ตอนโค้งลงแม่น้ำเจ้าพระยาและเขตท่าวาสุกรี ทิศใต้ติดกับปากคลองผดุงกรุงเกษม และตลาดเทวราชของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทิศตะวันออกติดกับถนนศรีอยุธยา และตลาดเทวราชของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทิศตะวันตกติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาและเขตอภัยทานท่าน้ำวัดเทวราชกุญชร 
ที่ดินที่ตั้งวัดมีจำนวน ๒๐ ไร่ และยังมีที่ธรณีสงฆ์แปลงที่แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ ๑ ไร่ ๑ งาน ๙๔ ตารางวา มีหนังสือกรรมสิทธิ์ คือโฉนดที่ดินเลขที่ ๘๙๐๒ 
นามวัดเทวราชกุญชร
วัดเทวราชกุญชร นามเดิมว่า "วัดสมอแครง" เป็นวัดเก่าแก่โบราณ มีมาก่อนสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ปฐมกษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ได้ทรงสถาปนาใหม่ ต่อมาเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (ต้นสกุลมนตรีกุล) พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ จากนั้นกรมพระพิทักษ์เทเวศร (ต้นสกุลกุญชร ณ อยุธยา) พระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้ากุญชร" พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงบูรณ์ปฏิสังขรณ์ 
วัดเทวราชกุญชร ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๑๘๕๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ เดิมเป็นวัดราษฎร์สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เหตุที่เรียกกันว่าวัดสมอแครง เล่ากันว่าเพราะมีต้นสมอร่องแร่งมาก แต่บางท่านสันนิษฐานว่า คำว่าสมอ เพี้ยนมาจาก คำว่า ถมอ (ถะมอ) เป็นภาษาเขมรแปลว่า หิน วัดนี้คงเรียกกันครั้งแรกว่า ถมอแครง แปลว่า หินแกร่งหรือหินแข็ง 
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงรับเป็นพระอารามหลวงและพระราชทานนามว่า "วัดเทวราชกุญชร วรวิหาร" พระองค์ทรงนำคำว่า เทวราช มานำหน้าพระนามของพระองค์เจ้ากุญชร ซึ่งเป็นพระนามเดิมของกรมพระพิทักษ์เทเวศรผู้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ 

พระอุโบสถ
พระอุโบสถ มีขนาดใหญ่และสูง กว้าง ๑๗ เมตร ยาว ๓๖ เมตร กรมพระพิทักษ์เทเวศร ทรงสร้าง มีเขตพัทธสีมา กว้าง ๒๖ เมตร ยาว ๔๓.๕๐ เมตร มีกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ ที่มุมกำแพงแก้วมีเจดีย์อยู่ทั้ง ๔ มุม ภายในกำแพงแก้วด้านทิศเหนือมีวิหารก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นศาลารายก่ออิฐถือปูนหลังคามุงกระเบื้องดินเผา 
จิตรกรรมภาพวาดเจือจางหาย คงไว้แต่ศรัทธาของพระสงฆ์และสามเณร ตลอดจนประชาชนที่แวะเวียนเข้ามาประกอบพิธีกรรม เกรงจะเป็นภัยด้วยหมดสภาพขาดการบูรณะ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีเครื่องมือที่ทันสมัย แต่ก็ขาดผู้จัดการ จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๔ ท่านเจ้าคุณพระศรีวชิรโมลี เปรียญธรรม ๙ ประโยค อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดหัวลำโพง (ปัจจุบันมีราชทินนามว่า พระราชสุธี) รับพระบัญชามาเป็นเจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร แล้วความนี้ก็ทราบถึง ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ และท่านผู้หญิงมณฑินี มงคลนาวิน ซึ่งเป็นผู้นำคณะศรัทธา รับเป็นประธานอำนวยการบูรณะพระอุโบสถ โดยมอบหมายให้ นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น อธิบดีกรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการเปิดซองและคัดเลือกผู้ก่อสร้าง ได้แก่ บริษัท ดำรงค์ก่อสร้างวิศว จำกัด ด้วยมูลค่าการบูรณะปฏิสังขรณ์จำนวน ๑๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท (สิบสองล้านห้าแสนบาทถ้วน) เริ่มบูรณะเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๕ โดยศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ประกอบพิธีบูชาสักการะประธาน และบวงสรวงเทพยดา สกัดปูนและรื้อกระเบื้องหลังคาพระอุโบสถเป็นปฐมฤกษ์ การบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นไปอย่างรวดเร็วและก้าวหน้าตามสัญญาว่าจ้าง บูรณะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ 
พระประธานมีอายุกว่า ๒๐๐ ปี และขาดการบูรณปฏิสังขรณ์มีสภาพชำรุดไม่ต่างจากพระอุโบสถ เช่น ผิวองค์พระผุกร่อน ทองที่ปิดองค์พระซีดจางเลือนราง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ พระราชสุธี เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร จึงได้ปรึกษากรมศิลปากร และได้ดำเนินการบูรณะองค์พระประธานทั้งหมดจนแล้วเสร็จ ส่วนฐานชุกชีพระประธานในพระอุโบสถได้ทำการบูรณะพร้อมกับพระประธาน โดยปั้นเสริมลายที่ชำรุด ฉีดกาวอัดชั้นปูนที่เป็นโพรง ทำพื้นลงรักปิดทอง และประดับกระจกสี จนแล้วเสร็จในปีเดียวกันนั้น 
จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ ด้านข้างทั้ง ๒ ด้าน เหนือช่องหน้าต่างเขียนภาพเหตุการณ์เหล่าเทพยดามาชุมนุมกัน ขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้านล่างระหว่างช่องหน้าต่างเป็นภาพภิกษุกำลังปลงอสุภกรรมฐาน ส่วนจิตรกรรมที่ผนังตอนล่างระหว่างช่องประตูหน้าเป็นภาพทศชาติ เรื่อง สุวรรณสาม และด้านหลังเป็นภาพวัดเทวราชกุญชรเดิมก่อนที่จะมีการสร้างพระอุโบสถหลังนี้ 

พระพุทธเทวราชปฏิมากร
พระประธานในพระอุโบสถ วัดเทวราชกุญชร วรวิหาร 
พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปโลหะหล่อลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ฝีมือช่างสมัยทวารวดี ประดิษฐานบนฐานชุกชี หน้าตักกว้าง ๔.๓๕ เมตร สูงตั้งแต่พระเพลาถึงยอดเปลวรัศมี ๕.๖๕ เมตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ พระราชทานนามพระประธานประจำพระอุโบสถ นามว่า "พระพุทธเทวราชปฏิมากร" เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖ 
ประวัติของพระพุทธรูปองค์นี้ คุณหลวงวรศักดิ์ภูบาล เล่าว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๓ ทรงทราบมาว่า กรุงศรีอยุธยาพบพระทององค์ใหญ่โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นพระพิทักษ์เทเวศรไปอันเชิญลงมายังพระนคร ในกรมได้ทรงต่อแพอันเชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่ล่องลงมา ครั้นถึงปากคลองเทเวศร์ แพเกิดดื้อฉุดเท่าไรก็ไม่มายังตำหนักแพ จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นพระพิทักษ์เทเวศร อันเชิญพระพุทธรูปนี้ขึ้นที่วัดสมอแครง ถนนศรีอยุธยา ตัดจากสวนจิตรลดา พุ่งลงแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งใจจะผ่าวัดเทวราชกุญชรออกเป็นสองซีก โดยจะรื้อพระอุโบสถเพราะคิดว่าพระประธานเป็นพระก่อด้วยอิฐแต่ปรากฏว่าพระประธานเป็นพระทอง ทางการเลยตัดถนนเลี้ยวขวาไปลงแม่น้ำเจ้าพระยา (นิทานชาวไร่) ส่วนสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยที่มาของพระพุทธรูปนี้ไว้ว่า 
...ต่อมา เมื่อถึงสมัยเมื่อสร้างวัดเบญจมบพิตร หม่อมฉันไปทอดกฐินวัดเทวราชกุญชร สังเกตเห็นพระพักตร์พระพุทธรูปหล่อที่เป็นพระประธานในโบสถ์ เป็นลักษณะแบบพระสมัยทวารวดี แต่องค์พระเป็นพระแบบกรุงรัตนโกสินทร์ สืบตามได้ความว่า พระประธานองค์นั้นกรมพระพิทักษ์เทเวศร์อันเชิญลงมาจากเมืองลพบุรี ก็เข้าใจว่า คงได้แต่เศียรมาหล่อองค์ที่ในกรุงเทพ ฯ หม่อมฉันจำขนาด ไปตรวจดูที่เมืองลพบุรี เมื่อภายหลังก็พบกับแหล่งเดิม ว่าเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ วัดอื่นหามีที่ตั้งพระพุทธรูปขนาดใหญ่เท่านั้นไม่... (ที่มาสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ,สาส์นสมเด็จ)

พระวิหาร
ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ มีสภาพชำรุดทรุดโทรมเช่นเดียวกับพระอุโบสถ เมื่อปี ๒๕๔๗ ได้ทำการบูรณะใหม่ทั้งหลัง แล้วเสร็จในปี ๒๕๔๘ 

ปัจจุบัน เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปต่างสมัย ขนาดหน้าตัก ๑๙ นิ้ว สูง ๔๓ นิ้ว เทด้วยทองเหลือง ลงลักปิดทอง จำนวน ๙ องค์ ดังนี้ 
๑. ปางสมาธิ ศิลปสมัยทวารวดี
๒. ปางสมาธิ ศิลปสมัยลพบุรี
๓. ปางมารวิชัย ศิลปสมัยเชียงแสน
๔. ปางมารวิชัย ศิลปสมัยอู่ทอง
๕. ปางมารวิชัย ศิลปสมัยสุโขทัย
๖. ปางลีลา ศิลปสมัยสุโขทัย
๗. ปางสมาธิ ศิลปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
๘. ปางสมาธิ ศิลปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง
๙. พระคันธารราษฎร์ 

ศาลาราย
ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของพระอุโบสถ เดิมมีสภาพชำรุดทรุดโทรมใช้เป็นที่เก็บของ เมื่อปี ๒๕๔๗ ได้ทำการบูรณะใหม่ทั้ง ๒ หลัง แล้วเสร็จในปี ๒๕๔๘ เป็นศาลารายที่มีความสวยงาม ภายในมีจิตรกรรมที่เพดาน และฝาผนัง บานหน้าต่างด้านนอกเป็นลายรดน้ำ ด้านในเป็นรูปเทวดา ติดเครื่องปรับอากาศ 
ปัจจุบัน เป็นศาลารับรอง เป็นสถานที่สวดมนต์ และอบรมวิปัสสนากรรมฐาน แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและพุทธศาสนิกชนทั่วไป
ศาลารายทิศตะวันออก มีพระพุทธไสยาสน์ ประดิษฐานอยู่ ขนาด กว้าง ๒.๓๓ เมตร
ศาลารายทิศตะวันตก มีพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้าง ๑.๒๘ เมตร สูงตั้งแต่พระเพลาถึงเปลวรัศมี ๑.๗๗ เมตร 

มณฑปจตุรมุข
เดิมเป็นสถานที่ตั้งของพระอุโบสถหลังเก่า หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "โบสถ์น้อย" หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังคามุงกระเบื้องดินเผา สูงประมาณ ๑๐ เมตร เมื่อพระอริยมุนี (ศรี ฐิตพโล) อดีตเจ้าอาวาสรื้อถอนแล้ว ยังเหลือพระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น หน้าตักประมาณ ๒ ศอกเศษ ตั้งบนฐานชุกชี อดีตเจ้าอาวาสได้สร้างหลังคาครอบไว้ และฐานพื้นอุโบสถถมดินขึ้นสูงประมาณ ๔๐–๕๐ เซนติเมตร ปูกระเบื้องซีเมนต์ให้เป็นลานอยู่อย่างเก่า เนื่องด้วยพระประธานเป็นพระเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนชาววัดเทวราชกุญชรและชาวตลาดเทวราช ให้ความเคารพบูชาตลอดมา อดีตเจ้าอาวาสพร้อมกับคณะกรรมการวัด จึงได้มีมติก่อสร้างมณฑปทรงจตุรมุขคอนกรีตทั้งหลังเพื่อใช้ประดิษฐานพระประธานเก่าแก่ โดยได้เริ่มทำการก่อสร้างเมื่อ วันที่ ๔ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๓๖ ขนาดของมณฑปจตุรมุขเท่ากันทั้ง ๔ ด้าน คือประมาณ ๑๒.๔๐ เมตร ยกพื้นสูงประมาณ ๑.๔๐ เมตร พื้นและผนังด้านในมณฑปปูด้วยหินอ่อน ต่อมา พระศรีวชิรโมลี (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙ ปัจจุบันมีราชทินนามว่า พระราชสุธี ) ได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๔ จึงได้ดำเนินการติดไฟระย้าภายในมณฑป ไฟกินนรี และไฟระเบียงรอบนอกมณฑป ปรับปรุงสวนหย่อมรอบ ๆ มณฑป แล้วเสร็จ เมื่อ วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ 
ปัจจุบัน มณฑปจตุรมุข นอกจากเป็นที่ประดิษฐานพระประธานแล้ว ยังเป็นสถานที่สวดมนต์ ปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชน และเป็นที่ทำบุญถวายสังฆทานในโอกาสต่าง ๆ 

เทวราชธรรมศาลา (ศาลาการเปรียญ)
เป็นอาคาร ๒ ชั้น คอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ ศาลาหลังนี้มีอายุกว่า ๒๐ ปี ไม่ได้รับการบูรณะมีสภาพทรุดโทรม ประตู หน้าต่าง ผุพัง กระเบื้องมุงหลังคาแตกหักล่วงหล่น ฝนตกน้ำรั่วซึมแทบใช้การไม่ได้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้ทำการบูรณะใหม่ทั้งหลัง มีการปรับเพดานบุด้วยไม้สัก ติดไฟระย้า พื้นหินขัด เสาชั้น ๒ กรุด้วยไม้สัก ประดับตกแต่งภายในอย่างสวยงาม และได้ทำพิธียกช่อฟ้า ปัจจุบัน ได้ตั้งชื่อศาลาหลังนี้ว่า "เทวราชธรรมศาลา" ชั้น ๑ เป็นสถานที่ทำบุญเลี้ยงพระ ประกอบกิจเนื่องในเทศกาลต่าง ๆ เช่น เทศกาลเข้าพรรษา เทศกาลสงกรานต์ เป็นต้น ส่วน ชั้น ๒ เป็นสถานที่ใช้ประกอบพิธีบำเพ็ญบุญในงานมงคลต่าง ๆ เช่น ทำบุญวันคล้ายวันเกิด ทอดผ้าป่า เป็นต้น 
เทวราชบรรณศาลา (โรงเรียนพระปริยัติธรรม)
เป็นอาคารชั้นเดียวทรงปั้นหยาก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ โดย นายอึ้ง ยุกหลง นางทองอยู่ ล่ำซำ มีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้ทำการบูรณะใหม่ทั้งหลัง ปรับระแนง เปลี่ยนหลังคาเป็นกระเบื้องว่าว กะเทาะฉาบปูน ประดับไฟ ตกแต่งภายใน เป็นอาคารที่มีความสวยงาม สะดุดตาแก่ผู้พบเห็น ปัจจุบันเป็นอาคารอนุรักษ์ ได้ตั้งชื่อใหม่ว่า "เทวราชบรรณศาลา" 
เทวราชกุญชร (กุฏิทรงปั้นหยา)
กุฏิ ๒ ชั้น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นกุฏิพำนักของเจ้าอาวาส ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เจ้าอาวาสรูปใหม่ในครั้งนั้นไม่ได้พำนัก และขาดการดูแลจึงมีสภาพทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จนกระทั่งวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ท่านเจ้าคุณพระราชสุธี ได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เล็งเห็นความสำคัญของกุฏิหลังนี้ ที่มีรูปทรงและโครงสร้างที่งดงามและหาได้ยาก ดังนั้นจึงได้มีดำริที่จะทำการบูรณะได้ประชุมกรรมการ และเริ่มบูรณะในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๔ เนื่องจากบริเวณที่ตั้งกุฏิเป็นพื้นที่ต่ำพอถึงหน้าฝนน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาหนุนขึ้น ก็จะเกิดน้ำท่วมขังจึงให้ช่างดีด (ภาษาช่าง) กุฏิขึ้นอีกประมาณ ๑ เมตร ปรับระแนง เปลี่ยนหลังคาเป็นกระเบื้องว่าว ก่ออิฐมวลเบา ปรับฝ้าเพดาน บูรณะแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖ กุฏิหลังนี้มีความโดดเด่นและงดงามทางด้านสถาปัตยกรรม ปัจจุบันกุฏิหลังนี้มีชื่อว่า "เทวราชกุญชร" เป็นกุฏิพำนักของเจ้าอาวาส 
เทวราชธรรมสภา (กุฏิทรงตรีมุข)
กุฏิ ๒ ชั้น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ปีเดียวกับกุฏิทรงปั้นหยา เป็นกุฏิสงฆ์ที่มีความงดงามเช่นเดียวกันต่างกันเพียงรูปทรงเท่านั้น ตามประวัติมีการบูรณะในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ แต่เป็นเพียงการบูรณะให้คงสภาพพอใช้การเท่านั้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้ทำการบูรณะอีกครั้ง โดยทำการดีดขึ้นอีก ๑ เมตร เพราะประสบปัญหาน้ำท่วมเช่นเดียวกันกับกุฏิทรงปั้นหยา ปรับระแนง เปลี่ยนหลังคามุงกระเบื้องทั้งหลัง ก่อด้วยอิฐมวลเบา แล้วเสร็จเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ใช้เวลาบูรณะเพียง ๙ เดือน ชั้นบนเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ ชั้นล่างปรับเป็นสำนักงานวัด มีห้องประชุม ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องเซ็นงานของเจ้าอาวาส และห้องทำงานเลขานุการ กุฏิหลังนี้มีความโดดเด่นงดงามคู่กับกุฏิทรงปั้นหยา ปัจจุบันมีชื่อว่า "เทวราชธรรมสภา" 
เทวราชธรรมาภิรมย์ (กุฏิทรงตรีมุข)
ลักษณะทรงตรีมุข ๒ ชั้น จำนวน ๑๐ ห้อง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหลัง พื้นปูด้วยกระเบื้องยาง ผนังก่อด้วยอิฐมวลเบา หลังคาโครงเหล็กมุงด้วยกระเบื้องพรีม่า กุฏิหลังนี้สร้างขึ้นทดแทนกุฏิหลังเดิมที่ได้รื้อแล้ว เนื่องจากทรุดโทรมจนใช้การไม่ได้ 

อาคารสงฆ์พระมงคลนาวาวุธ
พระมงคลนาวาวุธ เป็นนามพระราชทานของบิดา ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ลักษณะทรงปั้นหยาประยุกต์ ๔ ชั้น จำนวน ๔๙ ห้อง เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหลัง พื้นปูด้วยกระเบื้องผนังก่อด้วยอิฐ บ.ป.ก. หลังคาโครงเหล็กมุงด้วยกระเบื้องพรีม่า ขนาดกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๔๒ เมตร อาคารที่พักสงฆ์ เพื่อรองรับพระภิกษุสามเณรต่างจังหวัดที่ต้องการเข้ามาศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในกรุงเทพฯ แต่ไม่มีที่พัก สามารถเข้ามาพักอยู่ที่อาคารสงฆ์หลังนี้ได้และเป็นการสืบศาสนาธรรมทายาท ซึ่งอาคารดังกล่าวได้รับความร่วมมือจาก ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน และท่านผู้หญิงมณฑินี มงคลนาวิน ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนเป็นประธานในการก่อสร้าง และพระราชสุธี เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร เป็นประธานดำเนินการก่อสร้าง โดยเริ่มพิธีตอกเสาเข็มเป็นปฐมฤกษ์ต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๓๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗ 
อาคารสงฆ์หลังนี้กล่าวได้ว่าเป็นอาคารสงฆ์ที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย เพราะระบบเข้าออกเป็นระบบไฟฟ้า ต้องใช้คีย์การ์ดเท่านั้นจึงจะเข้าออกได้ ส่วนอื่น ๆ ภายในอาคารประกอบด้วย ห้องพักพระภิกษุสามเณร ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องควบคุมระบบไฟฟ้า และระบบโทรศัพท์ตู้สาขา ญาติโยมที่มาติดต่อกับพระภิกษุสามเณร จะมีห้องรับรองอยู่ชั้นล่างของอาคารฯ เป็นห้องที่จัดไว้อย่างสวยงามสะดวกสบาย พร้อมติดเครื่องปรับอากาศ ภายในห้องมีประวัติพระมงคลนาวาวุธ บิดา ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน และรายชื่อผู้ร่วมบริจาคในการก่อสร้าง 
ศาลาท่าน้ำวัดเทวราชกุญชร
วัดเทวราชกุญชรตั้งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีศาลาท่าน้ำและโป๊ะเทียบเรือ แต่ไม่ได้เป็นท่าสาธารณะ ดังนั้นสถานที่แห่งนี้จึงมีคนนิยมปล่อยปลา และเป็นจุดชมทัศนียภาพแม่น้ำเจ้าพระยา และชมสะพานพระราม ๘ ที่ท่าน้ำมีปลามากมายหลายชนิดอาศัยอยู่ ปัจจุบันได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะ เสาร์ - อาทิตย์ มีผู้นำปลามาปล่อยและให้อาหารปลาเป็นจำนวนมาก 

ที่ตั้ง
เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 

การเดินทาง
รถประจำทาง สาย 3, 9, 16, 30, 32, 33, 49, 64, 65 
รถประจำทางปรับอากาศ สาย ปอ.5, ปอ.6 ปอ.16, ปอ.49 

เวลาทำการ
เปิดทุกวัน เวลา 07.00 - 18.00 น.